หลอดเลือดหัวใจ (coronary artery) เป็นหลอดเลือดแดง นำเลือดไปเลี้ยงหัวใจ ซึ่งประกอบด้วย กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อต่างๆ เพื่อให้หัวใจสามารถทำหน้าที่ได้เป็นปกติ
ถ้าหลอดเลือดหัวใจเกิดการตีบตันจะทำให้หัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง หากเกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวจะมีอาการเจ็บหน้าอกเพียงชั่วขณะ ซึ่งจะเป็นๆ หายๆ เวลามีสาเหตุกระตุ้นให้กำเริบ แต่ถ้าเกิดมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ ซึ่งเป็นภาวะที่อาจมีอันตรายร้ายแรง
โรคนี้ป้องกันได้ด้วยการดูแลปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันเรื่องอาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ และหลีกเลี่ยงอบายมุขหรือการเสพสิ่งที่เป็นอันตราย
► ชื่อภาษาไทย
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดโคโรนารี
► ชื่อภาษาอังกฤษ
Ischemic heart disease (IHD), Coronary heart disease (CHD)
► สาเหตุ
เกิดจากผนังหลอดเลือดแดงแข็งและหนาตัว (atherosclerosis)* เนื่องจากมีไขมันเกาะอยู่ภายในผนังหลอดเลือด เรียกว่า "ตะกรันท่อหลอดเลือด (artherosclerotic plaque)" ซึ่งค่อยๆ พอกหนาตัวขึ้นทีละน้อย ทำให้ช่องทางเดินของเลือดตีบแคบลง เลือดไปเลี้ยงหัวใจ (อันประกอบด้วยกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออื่นๆ) ได้น้อยลง
ในขณะที่กล้ามเนื้อหัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้นในการเผาผลาญให้เกิดพลังงานเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ (เช่น การออกแรงมากๆ ในการทำงานหรือเคลื่อนไหวร่างกาย การมีอารมณ์รุนแรง ความเครียด) หรือในขณะที่มีออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจน้อยลง (เช่น หลอดเลือดหดตัวขณะสูบบุหรี่ หรือมีความเครียด หลังกินข้าวอิ่มจัด ซึ่งเลือดไปเลี้ยงกระเพาะอาหารจำนวนมาก เสียเลือดหรือโลหิตจาง) ก็จะเกิดอาการเจ็บหน้าอกเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงชั่วขณะ เมื่อขจัดเหตุปัจจัยดังกล่าวออกไป (เช่น หยุดการใช้แรง หยุดสูบบุหรี่) อาการเจ็บหน้าอกจะทุเลาไปได้เอง เรียกภาวะดังกล่าวนี้ว่า "โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ (angina pectoris)"
* ภาวะผนังหลอดเลือดแดงแข็งและหนาตัว (atherosclerosis) เกิดจากผนังหลอดเลือดเสื่อมตามอายุขัย (พบในผู้ชายอายุมากกว่า ๕๕ ปี หรือผู้หญิงอายุมากกว่า ๖๕ ปี) หรือเกิดจากโรคประจำตัวที่เป็นมานาน (เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อ้วน) หรือพฤติกรรม (สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย)
ภาวะนี้เกิดกับหลอดเลือดแดงทั่วทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งจะค่อยๆ เป็นมากขึ้นทีละน้อยจนกระทั่งขาดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญๆ ได้แก่ หัวใจ (กลายเป็นโรคหัวใจขาดเลือด) สมอง (อัมพาต อัมพฤกษ์ สมองเสื่อม) ไต (ไตวาย) ตา (ประสาทตาเสื่อม ทำให้ตามัว ตาบอด) ขา (ชา เป็นตะคริว ปวดน่องเวลาเดินมากๆ) องคชาต (องคชาตไม่แข็งตัว หรือ "นกเขาไม่ขัน")
|
ถ้าปล่อยไว้นานๆ ตะกรันท่อหลอดเลือดที่เกาะอยู่ภายในผนังหลอดเลือดหัวใจเกิดการฉีกขาดหรือแตก เกล็ดเลือดก็จะจับตัวเป็นลิ่มเลือด อุดกั้นช่องทางเดินเลือด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอยู่เป็นเวลานาน จนเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจตาย เกิดอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉิน เป็นอันตรายถึงชีวิตอย่างเฉียบพลันได้ เรียกว่า "โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute myocardial information)"
ปัจจุบันพบว่าปัจจัยที่ทำให้คนเราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่สำคัญ ได้แก่
⇒อายุ มากกว่าหรือเท่ากับ ๕๕ ปีในผู้ชาย หรือมากกว่าหรือเท่ากับ ๖๕ ปีในผู้หญิง
⇒ การมีประวัติโรคหัวใจและหลอดเลือดในครอบครัวที่เกิดขึ้นก่อนวัยอันควร (< ๕๕ ปีในผู้ชาย หรือ < ๖๕ ปีในผู้หญิง)
⇒ ความดันเลือดสูง
⇒ เบาหวาน
⇒ ไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ
⇒ อ้วน (ดัชนีมวลกาย มากกว่าหรือเท่ากับ ๓๐ กิโลกรัมต่อเมตร๒)
⇒ภาวะมีสารไข่ขาวในปัสสาวะ (มากกว่าหรือเท่ากับ ๓๐ มิลลิกรัมต่อวัน)
⇒ การสูบบุหรี่
⇒ การขาดการออกกำลังกาย
⇒ความเครียด
นอกจากนี้ โรคหัวใจขาดเลือดยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่พบไม่บ่อย เช่น ภาวะโฮโมซิสตีนในเลือดสูง การติดเชื้อหรือการอักเสบของหลอดเลือดหัวใจ การหดเกร็งของหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด การบาดเจ็บ ยาเสพติด (โคเคน ยาบ้าหรือแอมเฟตามีน ซึ่งทำให้หลอดเลือดหัวใจหดเกร็งรุนแรง) เป็นต้น
► อาการ
♦ ในรายที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ จะมีอาการปวดเค้นคล้ายมีอะไรกดทับหรือจุกแน่นบริเวณกลางหน้าอกหรือยอดอก ซึ่งมักจะเจ็บร้าวมาที่ไหล่ซ้ายด้านในของแขนซ้าย บางรายอาจร้าวมาที่คอ ขากรรไกรหลัง หรือแขนขวา
บางรายอาจรู้สึกจุกแน่นที่ใต้ลิ้นปี่ คล้ายอาการอาหารไม่ย่อยหรือท้องอืดเฟ้อ
ผู้ป่วยมักมีอาการกำเริบเป็นบางครั้งบางคราวเวลาออกแรงมากๆ (เช่น ยกของหนัก เดินขึ้นที่สูง ออกกำลังแรงๆ ทำงานหนักๆ แบบที่ไม่เคยทำมาก่อน) มีอารมณ์โกรธ ตื่นเต้น ตกใจ เสียใจ หรือจิตใจเคร่งเครียด ขณะร่วมเพศ หลังกินข้าวอิ่มจัด ขณะสูบบุหรี่ หรือเวลาถูกอากาศเย็นๆ
ผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง เป็นไข้ หรือหัวใจเต้นเร็ว (เช่น หลังดื่มกาแฟ หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคคอพอกเป็นพิษ) ก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคนี้ได้
อาการเจ็บหน้าอกมักจะเป็นอยู่นาน ๒-๓ นาที (มักไม่เกิน ๑๐-๑๕ นาที) แล้วหายไปเมื่อได้พักหรือหยุดกระทำสิ่งที่เป็นสาเหตุชักนำ หรือหลังจากได้อมยาขยายหลอดเลือด (เช่น ไนโตรกลีเซอรีน)
นอกจากนี้ ขณะมีอาการเจ็บหน้าอก ผู้ป่วยอาจมีอาการใจสั่น เหนื่อยหอบ เหงื่อออก เวียนศีรษะ คลื่นไส้ร่วมด้วย
ผู้ป่วยที่มีความรู้สึกเจ็บหน้าอกแบบแปลบๆ เวลาหายใจเข้าลึกๆ ไอ หรือจาม หรือเจ็บเวลาก้มหรือเอี้ยวตัว หรือกดถูกเจ็บ หรือรู้สึกเจ็บทั่วหน้าอกอยู่เรื่อยๆ โดยที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดีและเวลาออกกำลังกายหรือทำอะไรเพลินๆ หายเจ็บ มักไม่ใช่อาการแสดงของโรคหัวใจขาดเลือด
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เคยมีอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือดชั่วขณะเป็นครั้งคราว หากต่อมามีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงขึ้น กำเริบบ่อยขึ้น หรือมีอาการเจ็บหน้าอกแม้ขณะพักหรือออกแรงเพียงเล็กน้อย ให้สงสัยว่าตะกรันท่อเลือดแดงอาจสะสมมากขึ้นจนหลอดเลือดหัวใจเกิดการอุดตันมากขึ้น หรือตะกรันเริ่มแตกหรือมีลิ่มเลือดเกิดขึ้น อาการเช่นนี้ เรียกว่า โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะแบบไม่คงที่ (unstable angina) ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉิน เพราะอาจเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันตามมาได้
♦ ในรายที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บหน้าอกในลักษณะเดียวกับโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ แต่จะเจ็บรุนแรงและต่อเนื่องนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันๆ แม้จะได้พักก็ไม่ทุเลา บางรายอาจมีอาการปวดแน่นท้องคล้ายโรคกระเพาะหรือไม่มีอาการเจ็บหน้าอกก็ได้
ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ใจสั่น หน้ามืด เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย
ถ้าเป็นรุนแรง จะมีอาการหายใจหอบเหนื่อย เนื่องจากมีภาวะหัวใจวาย หรือเกิดภาวะช็อก (เหงื่อออก ตัวเย็น กระสับกระส่าย ใจหวิว เป็นลม) หรือชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ
ผู้ป่วยอาจเป็นลมหมดสติ หรือตายในทันทีทันใด
บางรายอาจมีประวัติว่า เคยมีอาการเจ็บหน้าอกเป็นครั้งคราวนำมาก่อน เป็นเวลาหลายสัปดาห์
บางรายอาจไม่มีอาการเจ็บหน้าอกมาก่อนเลยก็ได้
► การแยกโรค
๑. อาการเจ็บหน้าอกรุนแรง หรือเป็นต่อเนื่องนานเป็นชั่วโมงๆ ถึงเป็นวันๆ ร่วมกับอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หน้ามืด เป็นลม ที่พบในผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อาจเกิดจากสาเหตุร้ายแรงอื่นๆ เช่น
⇒ภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด (pulmonary embolism) มีอาการหายใจหอบ เจ็บหน้าอก เป็นลม หรือชัก
⇒ภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ (aortic dissection) มีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง คล้ายเนื้อถูกฉีกหรือกรีด เจ็บแผ่ไปที่ท้อง ต้นขา คอ และหลังส่วนล่าง อาจมีอาการเป็นลม หรือแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย
⇒ ภาวะมีลมในโพรงเยื่อหุ้มปอด (pneumothorax) เกิดจากถุงลมปอดแตก มีลมรั่วเข้าไปอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอด ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกแบบแปลบๆ แน่นอึดอัดในหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย
๒. อาการปวดเค้นหรือจุกแน่นตรงลิ้นปี่เป็นช่วงสั้นๆ และกำเริบเป็นครั้งคราว ที่พบในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น
⇒ โรคกระเพาะ มีอาการแสบลิ้นปี่เวลาหิวหรือก่อนมื้ออาหาร หรือจุกแน่นลิ้นปี่เวลากินอิ่มเกือบทุกมื้อ กินยาลดกรดก็ทุเลาได้
⇒ โรคกรดไหลย้อน มีอาการแสบลิ้นปี่หรือจุกแน่นลิ้นปี่ เรอเปรี้ยวขึ้นไปที่ลำคอหลังกินอิ่มๆ หรือกินอาหารมัน เผ็ดจัด ของเปรี้ยว ดื่มกาแฟ ชา ช็อกโกแลต น้ำส้มคั้น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกินอิ่มแล้วนอนราบ นั่งตัวงอ เข็มขัดคับเอว หรือเวลามีความเครียด เมื่อกินยารักษาโรคกระเพาะแล้วทุเลา
⇒ นิ่วในถุงน้ำดี มีอาการปวดบิดเกร็งเป็นพักๆ ตรงลิ้นปี่และใต้ชายโครงขวา นานครั้งละ ๓๐ นาทีถึง ๖ ชั่วโมง เป็นๆ หายๆ เป็นบางวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังกินอาหารที่มันๆ
► การวินิจฉัยโรค
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากประวัติและอาการแสดง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาการปวดเค้น หรือจุกแน่นตรงลิ้นปี่แล้วปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ไหล่ ขากรรไกร โดยมีปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย (เช่น อายุมาก สูบบุหรี่ อ้วน มีประวัติเป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง เป็นต้น)
เมื่อสงสัยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (มีอาการที่น่าสงสัย หรือถึงแม้อาการไม่ชัดเจน เช่น ไม่มีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ไหล่ ขากรรไกร ร่วมด้วย หรือไม่มีอาการแสดง แต่มีปัจจัยเสี่ยงมาก เช่น เป็นเบาหวานมาหลายปี อายุมาก และสูบบุหรี่จัด) แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด (ดูว่ามีเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือมีสารเคมีที่บ่งชี้ว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด) ตรวจคลื่นหัวใจ (ถ้าครั้งแรกบอกว่าปกติ ก็อาจต้องตรวจซ้ำอีกครั้ง) หรือตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ตรวจคลื่นหัวใจขณะออกกำลังกาย (exercise stress test) โดยการวิ่งบนสายพานหรือปั่นจักรยาน เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจ (cardiac CT scan) ถ่ายภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (echocardiography) ถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดหัวใจ (coronary angiography) เป็นต้น
► การดูแลตนเอง
๑. ถ้ามีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง หรือปวดต่อเนื่องติดต่อกันนานเป็นชั่วโมงๆ หรือเป็นวันๆ หรือมีอาการหอบเหนื่อย อ่อนเพลีย หน้ามืด หรือเป็นลม อย่างใดอย่างหนึ่งร่วมด้วย ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือสาเหตุร้ายแรงอื่นๆ ได้
๒. ถ้ามีอาการปวดเค้นหรือจุกแน่นตรงลิ้นปี่นาน ๒-๓ นาที (หรือไม่เกิน ๑๐-๑๕ นาที) ร่วมกับมีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ไหล่ ขากรรไกร และ/หรือมีปัจจัยเสี่ยง (อายุมาก อ้วน สูบบุหรี่ เป็นเบาหวาน ความดันสูง เครียด) หรือมีอาการเจ็บหน้าอกเล็กน้อย กินยา ๓-๕ วันแล้วไม่ทุเลา หรือสงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (โรคหัวใจขาดเลือด) ชั่วขณะ ก็ควรไปปรึกษาแพทย์
๓. ถ้าตรวจพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ควรรับการบำบัดรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างจริงจังและต่อเนื่อง กินยาและดูแลรักษาตามคำแนะนำ อย่าหยุดยาหรือปรับยาเอง
ถ้ามีโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง หรือไขมันในเลือดสูง ก็ควรกินยาและปรับพฤติกรรม ควบคุมโรคให้ได้ผล
นอกจากนี้ควรปฏิบัติตัว ดังนี้
๑. เลิกสูบบุหรี่เด็ดขาด
๒. ถ้าอ้วน ควรหาทางลดน้ำหนัก
๓. กินผัก ผลไม้ และธัญพืช (เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโพด ลูกเดือย ถั่วต่างๆ) ให้มากๆ กินโปรตีนจากปลา ถั่วเหลือง เต้าหู้ นมจืดและนมพร่องไขมัน ลดเนื้อแดง (เนื้อวัว เนื้อหมู) ลดน้ำตาล น้ำหวาน น้ำอัดลม และของหวาน ลดอาหารที่มีไขมัน ใช้น้ำมันถั่วเหลืองแทนน้ำมันหมู
๔. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังที่หักโหม และควรค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย ทางที่ดีควรขอคำแนะนำจากแพทย์เสียก่อนที่จะออกกำลังกายมากๆ การออกกำลังกายที่แนะนำให้ทำกัน ได้แก่ เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น
๕. หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการโรคหัวใจกำเริบ เช่น
⇒ อย่าทำงานหักโหมเกินไป
⇒ อย่ากินข้าวอิ่มเกินไป
⇒ ระวังอย่าให้ท้องผูก โดยการดื่มน้ำมากๆ กินผลไม้ให้มากๆ และควรกินยาระบายเวลาท้องผูก
⇒ ควรงดดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่ใส่กาเฟอีน
⇒ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้อารมณ์เครียด ตื่นเต้นตกใจ หรือการกระทบกระเทือนทางจิตใจ และทำจิตใจให้เบิกบานอยู่เสมอ
๖. ป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งอาจทำให้โรคหัวใจกำเริบได้ โดยปฏิบัติดังนี้
⇒ อย่าคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นไข้ไม่สบาย
⇒กินของร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ
⇒ รักษาสุขภาพฟันและช่องปาก โดยการแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน และตรวจเช็กฟันกับทันตแพทย์เป็นประจำ (การติดเชื้อในช่องปากอาจปล่อยเชื้อเข้าไปที่หัวใจ ทำให้โรคหัวใจกำเริบได้)
⇒ ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำ (ปีละครั้ง)
► การรักษา แพทย์จะแนะนำข้อปฏิบัติตัวที่เหมาะสมต่างๆ และให้การบำบัดรักษา ดังนี้
๑. ให้ยาขยายหลอดเลือดหัวใจชนิดกิน และ/หรือชนิดอมใต้ลิ้น เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการเจ็บหน้าอก ให้ยาต้านเกล็ดเลือด (เช่น แอสไพริน) ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดกั้นหลอดเลือดหัวใจ ให้ยาควบคุมโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง)
๒. ในรายที่มีอาการเจ็บหน้าอกบ่อย หรือใช้ยาไม่ได้ผล แพทย์จะทำการถ่ายภาพหลอดเลือดหัวใจ ถ้าพบว่ามีการอุดกั้นรุนแรงหรือหลายแห่ง ก็จะทำการแก้ไขโดยการขยายหลอดเลือดด้วยบัลลูน (นิยมเรียกว่า "การทำบัลลูน") และใส่หลอดลวดตาข่าย (stent) คาไว้ในหลอดเลือดบริเวณที่ตีบตัน
๓. ในรายที่เป็นรุนแรง หรือใช้ยาและทำบัลลูนไม่ได้ผล แพทย์จะทำการผ่าตัดเปิดทางระบาย (ทางเบี่ยง) ของหลอดเลือดหัวใจ (นิยมเรียกว่า "การผ่าตัดทำบายพาส") โดยการนำหลอดเลือดดำที่ส่วนอื่น (เช่น หลอดเลือดดำขา) ไปเชื่อมต่อระหว่างหลอดเลือดหัวใจ (ข้ามส่วนที่ตีบตัน) กับหลอดเลือดแดงใหญ่
๔. ในรายที่มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล (หน่วยบำบัดโรคหัวใจ หรือ cardiac care unit) พิจารณาให้ยาละลายลิ่มเลือด (thrombolytic agent) ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ (ซึ่งจะได้ผลดีเมื่อให้ภายใน ๖ ชั่วโมงหลังเกิดอาการ) หรือไม่ก็อาจทำบัลลูนหรือทำผ่าตัดบายพาสแบบฉุกเฉิน และให้การดูแลรักษาจนกว่าจะปลอดภัย อาจต้องพักอยู่ในโรงพยาบาล ๕-๗ วัน เมื่ออาการทุเลาแล้วก็จะเริ่มทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูสภาพหัวใจให้แข็งแรง ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการทำงานหนัก และงดการร่วมเพศเป็นเวลา ๔-๕ สัปดาห์ สามารถกลับไปทำงานได้หลังมีอาการ ๘-๑๒ สัปดาห์ แต่ห้ามทำงานที่ต้องใช้แรงมาก
แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาติดตามการรักษาเป็นประจำทุก ๑-๓ เดือน ตรวจเช็กร่างกายและปรับการใช้ยาให้เหมาะกับสภาพปัญหาของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
► ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เกิดภาวะช็อก (เป็นลม กระสับกระส่าย ชีพจรเต้นเร็ว ความดันเลือดต่ำ) หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจห้องล่างแตก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตอย่างกะทันหันได้
บางรายอาจมีเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบแทรกซ้อนหลังเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ๑๐ วันถึง ๒ เดือน หรือมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นแล้วหลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือดสมอง (ทำให้เป็นอัมพาตครึ่งซีก) และหลอดเลือดทั่วร่างกายได้
บางรายอาจมีภาวะซึมเศร้า หลังจากฟื้นตัวจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
► การดำเนินโรค
ถ้าไม่ได้รับการรักษา ก็มักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ส่วนในรายที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายก็อาจเสียชีวิตกะทันหันได้
ส่วนผู้ที่ได้รับการรักษา ผลการรักษาขึ้นกับความรุนแรงของโรค สภาพผู้ป่วย โรคที่พบร่วม และวิธีรักษา
ในรายที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะแบบเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง มักได้ผลการรักษาที่ดี การใช้แอสไพรินสามารถป้องกันไม่ให้กลายเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย และลดการตายลงได้ ส่วนการทำบัลลูนและการผ่าตัดบายพาสช่วยให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงอยู่รอดปลอดภัยมากขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้ผลการรักษาไม่สู้ดี ได้แก่ ผู้ป่วยอายุมาก เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ มีอาการรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อน (เช่น หัวใจวาย)
ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดแบบไม่คงที่ ถ้าเริ่มมีกล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วน หรือมีความล่าช้าในการถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดหัวใจ และการบำบัดที่เหมาะสม ผลการรักษามักจะไม่ดี
ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ถ้าเป็นรุนแรงหรือกล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายปริมาณมากก็มักจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็วหรือทันทีทันใด ในรายที่สามารถมีชีวิตรอดได้ ๒-๓ วันหลังเกิดอาการก็มักจะฟื้นตัวจนเป็นปกติได้ ซึ่งบางรายอาจกำเริบซ้ำและมักจะเสียชีวิตภายใน ๓-๔ เดือน ถึง ๑ ปีต่อมา ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการต่อเนื่อง เช่น เจ็บหน้าอกเป็นครั้งคราว หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือภาวะหัวใจวาย มักพบอัตราตายและการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน หรือมีภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัวร่วมด้วย
ส่วนในรายที่ได้รับการทำบัลลูนหรือผ่าตัดบายพาส มักจะฟื้นสภาพได้ดี และมีชีวิตได้ยืนยาวขึ้น แต่บางรายก็อาจมีหลอดเลือดหัวใจตีบตันซ้ำ ซึ่งอาจต้องทำบัลลูนหรือผ่าตัดบายพาสซ้ำ
► การป้องกัน
๑. ไม่สูบบุหรี่
๒. หมั่นออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นประจำสัปดาห์ละ ๕ วัน หรือวันเว้นวัน (ดูเพิ่มเติมในหัวข้อ "การดูแลตนเอง")
๓. กินอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพ (ดูเพิ่มเติมในหัวข้อ "การดูแลตนเอง")
๔. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ (ดัชนีมวลกาย ๑๘.๕-๒๓ กิโลกรัมต่อเมตร๒)
๕. ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่างๆ เช่น ออกกำลังกาย ฝึกโยคะ รำมวยจีน ทำสมาธิ เจริญสติ ทำงานอดิเรก ทำงานจิตอาสา
๖. ถ้าเป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง หรือไขมันในเลือดสูง ควรกินยาควบคุมและปรับพฤติกรรมให้สามารถควบคุมโรคเหล่านี้ได้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
๗. ถ้าเป็นเบาหวานหรือเคยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมาก่อน ควรกินยาต้านเกล็ดเลือด (เช่น แอสไพริน) ตามคำแนะนำของแพทย์
๘. ป้องกันการติดเชื้อและรักษาสุขภาพฟันและช่องปาก (ดูรายละเอียดในหัวข้อ "การดูแลตนเอง")
► ความชุก
ปัจจุบันพบโรคนี้ได้บ่อยขึ้นกว่าแต่ก่อน มักจะพบได้มากขึ้นตามอายุ ส่วนมากจะมีอาการกำเริบเมื่อมีอายุมากกว่า ๔๐ ปีขึ้นไป มักไม่พบในผู้ชายอายุต่ำกว่า ๓๐ ปี หรือผู้หญิงอายุต่ำกว่า ๔๐ ปี ที่ไม่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อน
โรคนี้พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง คนที่อยู่ดีกินดี คนที่มีอาชีพทำงานนั่งโต๊ะและคนในเมือง มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนยากจน คนที่มีอาชีพใช้แรงงานและชาวชนบท
โรคนี้พบได้มากในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุมาก สูบบุหรี่ อ้วน ขาดการออกกำลังกาย เป็นโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง