amazon

วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558

เด็กเล็กนอนอย่างไร...ปลอดภัย


เด็กทารกใช้เวลาส่วนใหญ่ในการนอน 
การนอนหลับให้เพียงพอเป็นสิ่งจำเป็นต่อ
การเจริญเติบโตของเด็กทารกทั้งร่างกายและสมอง

อีกครั้งหนึ่งที่เราได้อ่านข่าวการตายของเด็กทารกจากการนอน คราวนี้เป็นการตายจากการนอนคว่ำหน้า จมูกปากกดทับบนหมอนที่นอนจนหายใจไม่ออกเสียชีวิต ก่อนหน้านี้มีข่าวเด็กตกเตียงโรงพยาบาลถูกราวข้างเตียงหนีบคอและศีรษะ เห็นข่าวแม่กินยาแก้หวัดแล้วหลับสนิทนอนทับทารก และเห็นข่าวทารกนอนดิ้นเอาหัวมุดเข้าไปในเชือกรูดหมอนข้างจนพันรัดคอขาดอากาศเสียชีวิตมาแล้ว 

เด็กทารกใช้เวลาส่วนใหญ่ในการนอน การนอนหลับให้เพียงพอเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเด็กทารกทั้งร่างกายและสมอง คุณพ่อคุณแม่อาจคิดไม่ถึงเลยนะครับ ว่าการนอนก็เป็นอีกกิจวัตรหนึ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน
นอนคว่ำหรือนอนหงายดี
ท่านอนที่อันตรายมากที่สุดสำหรับเด็กทารกคือการนอนคว่ำ จากการวิจัยพบว่าการนอนคว่ำเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อโรคการตายฉับพลันของเด็กทารกโดยไม่ทราบสาเหตุหรือที่เรียกกันว่าโรค SIDS (sudden infant death syndrome) 

ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีโครงการ "ให้เด็กนอนหงาย" (back to sleep) โดยแนะนำให้จัดท่านอนเด็กเป็นท่านอนหงายเสมอตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ พบว่าการตายจากโรค SIDS ลดลงอย่างชัดเจน

จากการวิจัยหลายแหล่งพบว่าการนอนคว่ำมีความเสี่ยงต่อการกดทับจมูกปากจนขาดอากาศหายใจมากกว่า
การนอนหงาย ๒-๗ เท่าตัว ดังนั้น เด็กอายุน้อยกว่า ๖ เดือนควรจัดท่าให้นอนหงายเท่านั้น การนอนคว่ำอาจเป็นอันตรายได้ เพราะเด็กทารกแรกเกิดยังตะแคงหน้า ยกศีรษะไม่เป็น 
  
                        

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรจับเด็กนอนคว่ำบ้าง แต่ทำได้เฉพาะในเวลาเด็กตื่นและมีผู้ดูแลเด็กเฝ้าดูอยู่ใกล้ชิด เพื่อให้เด็กได้ลดโอกาสการเกิดภาวะหัวแบน และได้ออกกำลังต้นแขนและหัวไหล่ให้เกิดความแข็งแรงด้วย
เครื่องนอน หมอน มุ้ง 
เบาะ ที่นอน หมอน ฟูก ผ้าห่ม มุ้งที่อยู่บนเตียงเป็นปัจจัยร่วมที่ก่อให้เกิดการขาดอากาศหายใจได้ เบาะสำหรับเด็กต้องเป็นเบาะที่มีความแข็งกำลังดี  เบาะ ฟูก หมอน หรือผ้าห่มนุ่มๆ หนาๆขนาดใหญ่ๆ หน้าเด็กอาจจุ่มลงไปแล้วกดจมูกและปากเป็นเหตุให้ขาดอากาศหายใจ เสียชีวิตได้ 

ต้องไม่ให้เครื่องนอน ของเล่น เสื้อผ้า อุปกรณ์อื่นๆ มีลักษณะเส้นสายที่มีความยาวเกินกว่า ๑๕ เซนติเมตร เพราะอาจเป็นเหตุให้เกิดการรัดคอเด็กได้ เมื่อไม่นานมานี้ก็ยังมีอีกกรณีที่น่าเศร้าคือคุณพ่อกลับจากที่ทำงานมาดึกดื่น หลังเข้ามาในห้องนอนมืดๆ ก็พบลูกชายวัย ๗ เดือนกำลังนอนกับมารดา จึงเข้าหอมแก้มลูกด้วยความ  เอ็นดู พบว่าใบหน้าลูกเย็นเฉียบ จับดูมือเท้าก็พบว่ามือเท้าเย็นเฉียบเช่นกัน จึงเปิดไฟดูพบว่าศีรษะลูกมุดรอดสายหูรูดหมอนข้าง สายรัดคอจนหน้าซีดเขียว เสียชีวิตแล้ว

นอกจากนั้น ต้องไม่นำของเล่นชิ้นเล็กๆ หรือของเล่นประเภทอ่อนนิ่มตัวใหญ่ๆ เช่น ตุ๊กตา ที่มีขนาดใหญ่   ซึ่งอาจตกทับกดการหายใจได้ หรือเด็กใช้เป็นฐานในการปีนป่ายจนตกเตียงได้เช่นกัน
 
                               

เตียงผู้ใหญ่... เหมาะหรือไม่สำหรับเด็ก

เมื่อไม่นานมานี้เราได้เห็นข่าวสองข่าวเกี่ยวกับอันตรายจากการนอนของเด็ก ข่าวแรกเป็นข่าวคุณแม่ที่ทำงานก่อสร้าง กลับบ้านด้วยความอ่อนเพลียแล้วกินยาแก้หวัดเข้าไปอีกก่อนล้มตัวลงนอนข้างๆ ลูกน้อยวัยหนึ่งเดือนเศษ พอตื่นขึ้นมาก็พบว่าได้นอนทับลูกน้อยเอาไว้ เมื่อยกตัวขึ้นมาพบว่าลูกหน้าตาเขียวคล้ำ หยุดหายใจ แน่นิ่ง เนื้อตัวซีดเย็น เสียชีวิตไปแล้ว 

อีกรายเป็นเด็ก ๑ ขวบเศษที่ไปนอนในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง โดยนอนกับพี่เลี้ยงบนเตียงเดียวกัน ตี ๑ กว่าพยาบาลเข้าไปพบว่าเด็กตกจากเตียง แต่ศีรษะไปติดค้างที่ราวกันตกเป็นเรื่องน่าเศร้ามากหาก "ที่นอน" ได้กลายเป็น "ผลิตภัณฑ์อันตราย" สำหรับเด็กๆ 

ทั้ง ๒ ตัวอย่างนี้ แสดงให้เห็นถึงอันตรายของการ   ให้เด็กเล็กและเด็กทารกนอนเตียงที่ถูกออกแบบมาสำหรับผู้ใหญ่จริงๆ 

ดังนั้น ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า ๒ ขวบนอนบนเตียง ของผู้ใหญ่  ควรนอนเตียงเด็ก (ที่ได้มาตรฐาน) หรือนอนเบาะที่นอนเด็ก (ไม่ใช้เตียง) แยกจากเบาะที่นอนผู้ใหญ่    เด็กเล็กนอนเตียงผู้ใหญ่อาจมีอันตรายจากช่องว่างที่เกิดขึ้นจากการจัดเตียง ช่องว่างที่มีขนาดกว้างกว่า ๖ เซนติเมตรในเด็กทารก (หรือขนาด ๙ เซนติเมตร ในเด็กอายุมากกว่า  ๙ เดือนขึ้นไป) จะมีโอกาสที่ลำตัวเด็กจะตกลงไปและศีรษะติดค้างในท่าแขวนคอได้ ช่องว่างดังกล่าวที่พบบ่อย   คือ ช่องว่างระหว่างเตียงกับกำแพงซึ่งเกิดจากการจัดวางเตียงไม่ชิดกำแพงจริง ช่องว่างที่เกิดจากการจัดวางเตียงกับเฟอร์นิเจอร์อื่น

วัฒนธรรมไทย พ่อแม่มักนอนเตียงเดียวกับลูกจนโต การปฏิบัติดังกล่าวมีความเสี่ยงในการนอนทับเด็กเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กทารกอายุน้อยกว่า ๖ เดือน คนที่มีความเสี่ยงในการนอนทับเด็กทารกคือคนอ้วนมากๆ คนที่กินยานอนหลับ ยาทำให้ง่วง เช่น ยาแก้หวัด ยากล่อมประสาท คนเมาเหล้า และเด็กโต เพราะคนเหล่านี้มักหลับสนิทเกินไป นอนทับแล้วไม่ยอมรู้สึกตัว
เตียงเด็กเล็กเตียงเด็กเล็กเหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้กับเด็กอายุน้อยกว่า ๒ ขวบ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเลือกใช้เตียงที่มีมาตรฐานความปลอดภัย สำนักงานคุ้มครองความปลอดภัย ในผลิตภัณฑ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รายงานการบาดเจ็บจากการใช้เตียงเด็ก ในประเทศสหรัฐอเมริกาถึงปีละกว่า ๑๐,๒๔๐ ราย เป็นการตายประมาณปีละ ๓๕    ราย อย่างไรก็ตาม ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ซึ่งเป็นยุคที่ไม่มีการควบคุมมาตรฐานของเตียงเด็กเลยพบว่ามีการตายถึงปีละ ๑๕๐-๒๐๐ ราย 

สาเหตุที่สำคัญของการตายคือการติดค้างของศีรษะที่ลอดผ่านซี่ราว หรือลอดผ่านช่องรูบนผนังศีรษะและเท้าของเตียง การกดทับใบหน้าจมูกเมื่อหน้าคว่ำในช่องระหว่างเบาะที่นอนกับราวกันตก การแขวนคอซึ่งเกิดจากเสื้อผ้า สร้อยคอ หรือสายคล้องหัวนมดูดเล่นเกี่ยวกับส่วนยื่นของมุมเสา ๔ ด้าน ดังนั้นมาตรฐานความปลอดภัย
ของเตียงเด็กเล็ก ต้องมีคุณลักษณะดังนี้
- ราวกันตกมีซี่ราวห่างกันไม่เกิน ๖ เซนติเมตร
- ราวกันตกจะต้องมีตัวยึดที่ดี เด็กไม่สามารถเหนี่ยวรั้งให้ตกได้เอง 
- จากขอบบนของเบาะที่นอนถึงราวกันตกด้านบนต้องมีความสูงไม่ต่ำกว่า ๖๕ เซนติเมตร หรือ ๓ ใน ๔ ของความสูงเด็ก
- เบาะที่นอนต้องพอดีกับเตียง และไม่มีช่องว่างระหว่างเบาะกับราวกันตกเกินกว่าด้านละ  ๓ เซนติเมตร
- ผนังเตียงด้านศีรษะและเท้าต้องไม่มีการตัดตกแต่งให้เกิดช่องว่าง หรือหากเป็นลักษณะซี่ราวต้องมีระยะห่างไม่เกิน ๖ เซนติเมตร
- พื้นรองเบาะที่นอนต้องทึบและแข็ง
- มุมเสาทั้ง ๔ มุมต้องเรียบ มีส่วนนูนได้ไม่เกิน ๑.๕ มิลลิเมตร 

             

ประเทศไทยมีมาตรฐานเตียงเด็กเล็กแล้ว แต่ไม่เป็นมาตรฐานบังคับ ที่มีขายในห้างชื่อดังร้อยละ ๘๐ ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานต่างประเทศ เช่นยังมีซี่ราวห่างกันมากกว่า  ๖ เซนติเมตร เป็นต้น หลายยี่ห้อที่ส่งออกแล้วถูกตีกลับเพราะไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย แต่ยังวางขายเกลื่อนที่ห้างบ้านเรา
                       
                               
                             
เตียงสองชั้น
เตียงสองชั้นได้รับความนิยมในบ้านเราไม่มากนัก แต่ก็มีบริษัทเฟอร์นิเจอร์มีชื่อหลายแห่งผลิตกัน อันตรายนอกจากเด็กๆ ขึ้นไปปีนป่ายชั้นบน กระโดดโลดเต้นแล้วตกลงมากัน แล้วก็พบในเด็กเล็กที่เสียชีวิตจากการนอนแล้วตกลงมาตามช่องว่างต่างๆ ลำตัวรอดได้แต่ศีรษะติดค้างเกิดการตายในท่าคล้ายแขวนคอ คล้ายการนอนในเตียงผู้ใหญ่ขวบ

ดังนั้น คำแนะนำการใช้เตียงสองชั้นที่พ่อแม่ต้องรู้ คือ ไม่ให้เด็กอายุน้อยกว่า ๖ ขวบ นอนชั้นบน 

อย่าเลือกเตียงที่มีช่องว่างระหว่างขอบล่างของราวกัน ตกกับขอบบนของที่นอนเกินกว่า ๙ เซนติเมตร ข้อนี้สำคัญมาก ก่อนเลือกซื้อเตียงต้องตรวจสอบให้ดี เพราะกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่มีมาตรฐานตรวจสอบ หลายบริษัทที่มีชื่อเสียงก็ยังออกแบบเตียงผิดๆ มาวางขายกันทั่วไปหมด

ความปลอดภัยของเด็กยังต้องอาศัยให้พ่อแม่ศึกษาหาความรู้มากๆ สิ่งแวดล้อมและผลิตภัณฑ์รอบๆ ตัวเด็กยังอันตรายอยู่มาก 

หน่วยงานและผู้ผลิตที่เกี่ยวข้องยังให้ความสนใจในเรื่องความปลอดภัยในเด็กอยู่น้อย

ยาสำคัญกว่าที่คิด (1)




ยาสำคัญกว่าที่คิด (1)

เมื่อเจ็บป่วย ยาคือปัจจัยสำคัญที่จะใช้ต่อสู้โรคร้าย หน้าที่ของหมอคือจัดยาอย่างถูกต้องทั้งชนิดและความแรง เพื่อให้ผู้ป่วยหายเป็นปกติ

เรื่องของยามีประเด็นสำคัญที่พวกเราอาจไม่สนใจ แต่เป็นประเด็นสำคัญ ที่ทั้งผู้ให้การรักษาพยาบาลและคนไข้พึงรับรู้ เพื่อให้ได้รับยาที่ทรงอิทธิฤทธิ์พิชิตโรคร้าย โดยไม่แว้งกลับมาทำร้ายตัวคนไข้ 

ให้ยาอย่างไรจึงทำร้ายคนไข้

การให้ยาที่เกิดผลร้ายมีหลายกรณี ยกตัวอย่าง เช่น ได้รับยาผิดชนิด ผิดขนาด ผิดเวลา แพ้ยา หรือได้ยาหลายชนิด และยาแต่ละชนิดทำลายฤทธิ์ซึ่งกันและกันมาตรฐานการให้ยาผู้ป่วยในโรงพยาบาลยึดหลัก 6 R (Right person, Right drug, Right dose, Right time, Right route, Right technic ) กล่าวคือ ให้ยาถูกคน ถูกชนิดยา ถูกขนาดความแรง ถูกเวลา ถูกวิธี เช่น ยาฉีด ยากิน ยาเหน็บ ยาทา และถูกเทคนิค เช่น เคี้ยวยา ก่อนกลืน กลืนทั้งเม็ดห้ามบด ฉีดเข้าเส้นช้าๆ เป็นต้น

ระยะหลายปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลต่างๆ ได้พัฒนากระบวนการให้ยาเพื่อรักษามาตรฐาน และเพิ่มความปลอดภัยแก่คนไข้ ได้แก่
การจัดระบบให้เภสัชกรเห็นคำสั่งยาของแพทย์ โดยตรง ซึ่งเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของ ยาโดย 3 วิชาชีพ กล่าวคือ เมื่อแพทย์สั่งยา เภสัชกรอ่านลายมือแพทย์โดยตรงและจัดยามาให้ พยาบาลซึ่งอ่านชื่อยาจากลายมือแพทย์โดยตรงเช่นกัน ตรวจสอบยาที่ได้รับจากเภสัชกร ถ้าตรงกันก็เป็นดับเบิ้ลเช็ก ถ้าไม่ตรงกันก็มาดูว่าใครอ่านผิดหรือจัดยาผิด

บางโรงพยาบาลเภสัชกรจะจัดยาสำหรับให้คนไข้แต่ละครั้ง เมื่อพยาบาลได้ยาแล้ว สามารถใช้กับคนไข้ได้เลย เรียกว่า Unit dose ส่วนการจัดมาเป็นซองโดยนับเป็นจำนวนวัน พยาบาลต้องมาแบ่งให้คนไข้อีกครั้ง อาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้

บางโรงพยาบาลเมื่อได้ยาแล้ว พยาบาลจะนำไปเก็บไว้ในตู้ยาของคนไข้ในห้องคนไข้ โดยไม่ให้ปะปนกับยาของคนไข้อื่น เมื่อจะให้ยาคนไข้ ก็เข้าไปไขกุญแจเอายาต่อหน้าคนไข้และญาติ
โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง สำหรับยาที่อันตราย เช่น มอร์ฟีน จะเก็บใส่ตู้แยกเอาไว้ ซึ่งจะเปิดได้ต้องใช้กุญแจ 2 ดอกเปิดพร้อมกัน โดยแยกกุญแจคล้องคอพยาบาล 2 คน เมื่อต้องใช้ยา พยาบาล 2 คนต้องมาพร้อม กัน และช่วยกันตรวจสอบยาที่จะให้ผู้ป่วย เรียกว่ากระบวนการเพื่อความปลอดภัยกำลัง 2

การให้ยาถูกคน

โดยจัดระบบตามมาตรฐานการกระจายยา เมื่อจะให้ยาคนไข้ จะมีการสอบถามชื่อ นามสกุล และตรวจสอบป้ายข้อมือของคนไข้ทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนไข้ที่ไม่รู้สึกตัว
สำหรับโรงพยาบาลที่มีคนไข้อยู่ในห้องรวมกันหลายๆ คน ก็จะจัดกล่องเก็บยาคนไข้แยกเป็นคนๆ โดย ระบุชื่อและเตียงคนไข้ไว้ที่กล่องชัดเจน บางโรงพยาบาล จัดทำเป็นรถเข็น ซึ่งประกอบด้วย ลิ้นชักหลายๆ ลิ้นชัก แต่ละลิ้นชักจัดเก็บยาของคนไข้แต่ละคน เมื่อถึงเวลาให้ยา พยาบาลเข็นรถนี้ไปที่เตียงคนไข้

ถ้าเป็นยาฉีดก็ผสมยาและฉีดให้เสร็จเป็นคนๆ ไม่ใช้วิธีเตรียมยาล่วงหน้าใส่กระบอกฉีดยาที่เคาน์เตอร์พร้อมๆกันหลายๆคน เพราะมีโอกาสสลับยากันได้
ถ้าเป็นยากินก็หยิบยาจากลิ้นชักของคนไข้ทีละคนเช่นเดียวกัน บางโรงพยาบาลกวดขันถึงกับต้องให้คนไข้กินยาต่อหน้า เพื่อให้กินยาทุกเวลาและป้องกันการลืมกิน 

กินยาให้ถูกขนาด

การกินยาให้ถูกขนาดและถูกเวลาเป็นเรื่องที่หลายครั้งคนไข้ปฏิบัติยาก และไม่เข้าใจเหตุผล ทำให้ปฏิบัติไม่ถูกต้องการให้ยาก่อนหรือหลังอาหารสำหรับยาแต่ละตัวนั้นอาจมีเหตุผลต่างกันบางตัวถ้าให้ขณะมีกรดออกในกระเพาะฤทธิ์กรดจะทำลายฤทธิ์ยาบางตัวที่ต้องให้ก่อนอาหาร เพราะอาหารจะทำให้การดูดซึมยาได้ช้าลง หรือยาบางอย่างเมื่อปนกับอาหารจะทำให้เปอร์เซ็นต์การดูดซึมได้น้อยลง ยาบางอย่างการกินต้องทิ้งช่วงเวลาห่างเท่าๆ กัน เช่นทุก 12 ชั่วโมง เพื่อให้ระดับความเข้มข้นของยาในเลือดสูงเพียงพอที่จะควบคุมเชื้อโรคได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เพราะหากช่วงเวลาการให้ไม่เท่ากัน และระดับความเข้มข้นของยาในบางช่วงเวลาต่ำเกินไปจะทำให้เชื้อโรคนั้นดื้อยาได้

การแนะนำให้กินยาก่อนอาหาร หลังอาหาร หรือก่อนนอน โดยคนไข้ไม่เข้าใจเป้าหมายอย่างถ่องแท้ บางครั้งจึงเกิดผลเสีย เช่น คนไข้บางคนไม่กินอาหารเช้า กินเพียงวันละ 2 มื้อ ก็ได้ยาเพียง 2 ครั้ง คนไข้บางคนทำงานเป็นกะการกินการนอนแต่ละวันไม่ใช่เวลาเดียวกัน

การกินยาให้ถูกขนาดบางครั้งก็เป็นปัญหาอย่างเรื่องของคุณยายคนนี้ 
คุณยายเป็นโรคความดันเลือดสูงรักษาอยู่หลายปี หมอสังเกตว่าความดันของยายขึ้นๆ ลงๆ เอาแน่นอนไม่ได้ วันหนึ่งคุณหมอจึงสอบถามเรื่องการกินยาว่าถูกต้องครบถ้วนหรือไม่
"ยาลดความดันยายกินทุกวัน ตอนเช้าครึ่งเม็ด"คุณยายเล่า
คุณหมอเพิ่งสังเกตว่ายาในซองของโรงพยาบาล ไม่ได้ตัดแบ่งเป็นครึ่งเม็ด
"คุณยายแบ่งยาครึ่งเม็ดอย่างไร "
"ก๊ะเอา"เสียงคุณยายหนักแน่น 
คุณหมอเข้าใจว่าคุณยายใช้วิธีกะเอา " กะยังไง " คุณหมออยากรู้ 
คุณยายเลยหยิบเม็ดยาในซอง "กัด" ด้วยฟันหน้าที่มีสีดำจากหมากออกเป็นสองซีกให้คุณหมอดู
นับจากวันนั้นคุณหมอก็เปลี่ยนไป คุณหมอจัดแจงให้ตัดเม็ดยาแบ่งให้คนไข้ให้เรียบร้อยทุกราย หลายโรงพยาบาลใช้วิธีให้เครื่องตัดเม็ดยาแก่คนไข้ที่ต้องแบ่งยา เครื่องตัดเม็ดยามีลักษณะเป็นกล่องมีช่องให้วางเม็ดยาในกล่องเมื่อปิดฝากล่องใบมีดที่ฝาจะผ่าเม็ดยาเป็นสองซีกเท่าๆ กันโดยเม็ดยาไม่แตกเสียหาย เครื่องตัดเม็ดยานี้ องค์การเภสัชกรรมทำแจกโรงพยาบาล สามารถขอเพื่อนำมาแจกจ่ายให้คนไข้
 
กินยาไม่ครบ

เรื่องการกินยาไม่ครบ บางครั้งก็เป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง
อาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งเป็นผู้เยี่ยมสำรวจคุณภาพโรงพยาบาลมีความดันเลือดสูง และบางครั้งหัวใจ เต้นผิดจังหวะ ต้องกินยาหลายชนิดเป็นประจำทุกวัน เช้าวันหนึ่งท่านและคณะมาถึงโรงพยาบาลแต่เช้าเข้าประชุม เตรียมการเยี่ยมสำรวจในห้องทำงานที่โรงพยาบาลจัดให้ หลังจากดื่มเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพแล้วท่านก็หยิบยาออกจากซองยาหลายซองจำนวนหลายเม็ดใส่ฝ่ามือกรอกยาเข้าปากแล้วตามด้วยน้ำเย็นค่อนแก้วแล้วลุกออกไปเดินเยี่ยมสำรวจตามภารกิจ

ช่วงเวลาใกล้เที่ยงท่านรู้สึกใจสั่น เหมือนหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นระยะๆ หลังอาหารเที่ยงอาการเป็นมากขึ้น อายุรแพทย์โรคหัวใจตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจพบว่า หัวใจเต้นผิดจังหวะจริงๆ แต่โชคดี ไม่ถึงขั้นเป็นอันตราย ท่านยังคงทำหน้าที่ผู้เยี่ยมสำรวจต่อไป
เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในเวลาเย็น ท่านกลับเข้ามาประชุมทีมที่ห้องพักเดิม เก้าอี้ตัวเดิม ถ้วยโอวัลตินเมื่อเช้ายังไม่มีใครมาเก็บออกไป
สิ่งที่ท่านเห็นคือยาเม็ดหนึ่งอยู่ในจานรองถ้วยโอวัลตินเป็นยาที่ต้องกินเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจท่านคงทำเม็ดยาเม็ดนี้หล่นจากฝ่ามือโดยไม่ได้กินเข้าไป จึงทำให้มีอาการในวันนี้

อาจารย์ครับ สำหรับผู้อาวุโส เทคนิคการกินยาที่ถูกต้องควรหยิบยาเข้าปากทีละเม็ด เพื่อให้แน่ใจว่าได้กลืนยาจนครบทุกเม็ด

โรคปวดศีรษะจากความเครียด



โรคปวดศีรษะจากความเครียด
โรคปวดศีรษะจากความเครียด เป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุดของผู้ที่มีอาการปวดศีรษะ มักจะมีอาการปวดศีรษะต่อเนื่องนานเป็นวันๆ จนถึงเป็นสัปดาห์ หรือเป็นแรมเดือน โดยจะปวดพอรำคาญ หรือทำให้รู้สึกไม่สุขสบาย และจะปวดอย่างคงที่ ไม่แรงขึ้นกว่าวันแรกๆ ที่ปวด จัดว่าเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด แต่จะเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง
⇒ ชื่อภาษาไทย
โรคปวดศีรษะจากความเครียด โรคปวดศีรษะแบบตึงเครียด
⇒ ชื่อภาษาอังกฤษ
Tension-type headache (TTH), Tension headache, Muscle contraction headache, Psychogenic headachen
สาเหตุ
อาการปวดศีรษะของผู้ป่วยโรคนี้เป็นผลมาจากมีการเกร็งตัว ตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะและใบหน้า ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุและกลไกของการเกิดโรคอย่างแน่ชัด สันนิษฐานว่าเกิดจากมีสิ่งเร้ากระตุ้นที่กล้ามเนื้อและพังผืดบริเวณรอบกะโหลกศีรษะ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการทำงานของระบบประสาทขึ้นตรงประสาท ส่วนกลาง (อาจเป็นบางส่วนของไขสันหลัง หรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ที่เลี้ยงบริเวณศีรษะและใบหน้า) แล้วส่งผลกลับมาที่กล้ามเนื้อรอบกะโหลกศีรษะ ทำให้เกิดการเกร็งตัว ตึงตัวของกล้ามเนื้อดังกล่าว รวมทั้งอาจมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมี (เช่น เอนดอร์ฟิน ซีโรโทนิน) ในเนื้อเยื่อดังกล่าว ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ
ส่วนใหญ่มักพบว่ามีสาเหตุกระตุ้น ได้แก่ ความ เครียด หิวข้าวหรือกินข้าวผิดเวลา อดนอน ตาล้าตาเพลีย (จากใช้สายตามากเกิน)
นอกจากนี้ ยังพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีโรควิตกกังวล ซึมเศร้า ความผิดปกติทางอารมณ์ หรือการปรับตัว บางครั้งอาจพบร่วมกับโรคปวดศีรษะไมเกรน
⇒ การแยกโรค
อาการปวดศีรษะที่เป็นต่อเนื่องกันเป็นวันๆ ขึ้นไป ควรแยกออกจากสาเหตุอื่น เช่น
1. ไมเกรน
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตุบๆ ที่ขมับข้างเดียว (ส่วนน้อยเป็นพร้อมกัน 2 ข้าง) คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่า นาน 4-72 ชั่วโมง มักจะเป็นๆ หายๆ ทุกครั้งที่มีอาการกำเริบ มักจะเกิดจากสิ่งกระตุ้น เช่น แสง เสียง กลิ่น อดนอน อดข้าว อากาศร้อนหรือเย็นจัด อาหารบางชนิด เหล้า ผงชูรส โดยมากจะเริ่มเป็นตั้งแต่วัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะจากความเครียดร่วมด้วย
2. เนื้องอกสมอง
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดทั่วศีรษะ ปวดมากเวลาตื่นนอนตอนเช้า พอสายๆ ก็ทุเลาไป ไม่ปวดต่อเนื่องทั้งวัน อาการดังกล่าวจะเป็นแรงขึ้นทุกวันจนผู้ป่วยต้องสะดุ้งตื่นตอนเช้ามืดเพราะรู้สึกปวด และจะปวดนานขึ้นทุกวัน จนในที่สุดจะปวดตลอดเวลา ซึ่งกินยาแก้ปวดไม่ทุเลา ในระยะต่อมาอาจมีอาการอาเจียน เดินเซ เห็นภาพซ้อน แขนขาอ่อนแรง ชัก ความจำเสื่อม บุคลิกภาพเปลี่ยนไป จากเดิม
3. โรคทางสมองอื่นๆ
เช่น เลือดออกในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วย จะมีอาการปวดศีรษะรุนแรงและอาเจียน ตั้งแต่วันแรกๆ ที่ปวด บางคนอาจมีไข้สูง ซึม ชัก ร่วมด้วย
4. ต้อหินชนิดเฉียบพลัน
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาและศีรษะข้างเดียวอย่าง รุนแรงและฉับพลันทันที ตาพร่ามัว แสบตาข้างที่ปวด จะมีสิ่งรบกวน ตาแดงๆ ตรงบริเวณตาขาว (รอบๆ ตาดำ) อาการปวดจะเป็นต่อเนื่องเป็นวันๆ ซึ่งกินยาแก้ปวดก็ไม่ทุเลา
⇒ การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้จากลักษณะอาการ และประวัติเกี่ยวกับความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ การคร่ำเคร่งกับงาน
นอกจากมีอาการไม่ชัดเจนและสงสัยเป็นโรคเกี่ยว กับสมอง จึงจะส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพ สมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก ไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
ผู้ป่วยและญาติจึงควรบอกเล่าประวัติ และอาการ เจ็บป่วยอย่างละเอียด เช่น ปัญหาครอบครัว (สามีมีภรรยาน้อย เล่นการพนัน การทะเลาะกัน) ปัญหาการงาน เป็นต้น ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ถูกต้อง และไม่หลงไปส่งตรวจพิเศษให้สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น
⇒ การรักษา
แพทย์จะให้การรักษาโดยให้ยาบรรเทาปวดร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อหรือยากล่อมประสาท
ถ้าพบว่ามีโรควิตกกังวลหรือซึมเศร้าร่วมด้วย ก็จะให้การรักษาภาวะเหล่านี้ไปพร้อมกัน และอาจให้การ รักษาด้วยวิธีอื่นร่วมไปด้วย เช่น กายภาพบำบัด เทคนิคการผ่อนคลาย การทำจิตบำบัด การกระตุ้นประสาทด้วยไฟฟ้า การฝังเข็ม เป็นต้น
ในรายที่มีอาการกำเริบมากกว่าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และแต่ละครั้งปวดนานมากกว่า 3-4 ชั่วโมง หรือปวดรุนแรง หรือต้องใช้ยาแก้ปวดบ่อยมาก แพทย์อาจให้ ผู้ป่วยกินยาป้องกัน เช่น อะมิทริปไทลีน หรือฟลูออกซีทีน ทุกวันติดต่อกันนาน 1-3 เดือน
⇒ ภาวะแทรกซ้อน
โรคนี้ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงแต่อย่างใด นอกจากทำให้วิตกกังวล ไม่สุขสบาย และอาจสิ้นเปลืองเงินทองและเวลาในการแสวงหาบริการ ซึ่งผู้ป่วยและญาติมักคิดว่าเป็นโรคร้ายแรง จึงย้ายโรงพยาบาลที่รักษาไปเรื่อยๆ
⇒ การดำเนินโรค
อาการปวดแต่ละครั้งจะเป็นนานเป็นชั่วโมงๆ จนเป็นสัปดาห์ หรือแรมเดือน เมื่อได้รับการรักษาที่ ถูกต้องก็มักจะทุเลาไปได้ แต่เมื่อขาดการรักษา และ มีสิ่งกระตุ้นก็อาจกำเริบได้อีก จึงมักจะเป็นๆ หายๆ ได้บ่อย
⇒ ความชุก
โรคนี้พบได้บ่อย คือประมาณร้อยละ 80-90 ของผู้ที่ปวดศีรษะจะมีสาเหตุจากโรคนี้
พบได้ในคนทุกวัย เริ่มเป็นครั้งแรกตั้งแต่วัยรุ่น หรือวัยหนุ่มสาว (มีโอกาสน้อยมากที่จะมีอาการครั้งแรกหลังอายุ 50 ปีไปแล้ว) และพบมีอาการกำเริบบ่อยในช่วงอายุ 20-50 ปี พบว่าผู้หญิงเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายประมาณ 1.5-2 เท่า
⇒ อาการ
ลักษณะเฉพาะของโรคนี้คือ ผู้ป่วยจะมีอาการ ปวดตื้อๆ หนักๆ ที่ขมับ หน้าผาก กลางศีรษะ หรือท้ายทอยทั้ง 2 ข้าง หรือทั่วศีรษะ หรือปวดรอบศีรษะคล้ายเข็มขัดรัด ต่อเนื่องกันนานครั้งละ 30 นาทีถึง 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่มักจะปวดนานเกิน 24 ชั่วโมง บางคนอาจปวดนานติดต่อกันทุกวันเป็นสัปดาห์ๆ หรือเป็นแรมเดือนโดยที่อาการปวดจะเป็นอย่างคงที่ ไม่ปวดรุนแรงขึ้นจากวันแรกๆ ที่เริ่มเป็น ส่วนมากจะเป็นการปวดตื้อๆ หนักๆ พอรำคาญหรือรู้สึกไม่สุขสบาย ส่วนมากที่อาจปวดรุนแรงจนเป็นอุปสรรคต่อการทำกิจวัตรประจำวัน
ผู้ป่วยจะไม่มีไข้ ไม่เป็นหวัด ไม่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือตาพร่าตาลาย และไม่ปวดมากขึ้นเมื่อถูกแสง เสียง กลิ่น หรือมีการเคลื่อนไหว ของร่างกาย
อาการปวดศีรษะอาจเริ่มเป็นตั้งแต่หลังตื่นนอนหรือในช่วงเช้าๆ บางคนอาจเริ่มปวดตอน บ่ายๆ เย็นๆ หรือหลังจากได้คร่ำเคร่งกับงานมาก หรือขณะหิวข้าว หรือมีเรื่องคิดมาก วิตกกังวล มีอารมณ์ซึมเศร้าหรือนอนไม่หลับ
⇒ การดูแลตนเอง
เมื่อมีอาการปวดศีรษะเพียงเล็กน้อย ควรกินยาพาราเซตามอลบรรเทา 1-2 เม็ด นั่งพัก นอนพัก ใช้นิ้วบีบนวด
ควรไปปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
  • มีอาการปวดรุนแรง หรืออาเจียนรุนแรง
  • มีอาการปวดมากตอนเช้ามืด จนสะดุ้งตื่น หรือปวดแรงขึ้นและนานขึ้นทุกวันl มีอาการเดินเซ แขนขาอ่อนแรง หรือ ชักกระตุก
  • มีอาการตาพร่ามัว และตาแดงร่วมด้วย
  • มีอาการปวดศีรษะหลังจากได้รับบาดเจ็บ ที่ศีรษะ ดูแลตนเอง 2-3 วันแล้วไม่ดีขึ้น
  • มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะรักษาตนเอง
⇒การป้องกัน
ผู้ป่วยควรป้องกันไม่ให้กำเริบ โดยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าปล่อยให้หิว อย่าคร่ำเคร่งกับงานมากเกินไป หลีกเลี่ยงการใช้สายตาจนเมื่อยล้า ออกกำลังเป็นประจำ หาทางผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่างๆ ถ้าจำเป็นควรกินยาป้องกันตามที่แพทย์แนะนำ

คนทำงานออกกำลังอย่างไร (ตอนที่ ๑)

ทุกวันนี้คนทำงานตื่นตัวกันมากในเรื่องการออกกำลังกาย ใครไม่เป็นสมาชิกของสถานออกกำลังกายออกจะไม่อินเทรนด์ (ตกโลกแห่งความทันสมัย) ในตอนนี้ผู้เขียนจึงขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับการออกกำลังกายชนิดต่างๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้แต่ละบุคคล
 
ชนิดของการออกกำลังกาย
ชนิดของการออกกำลังกายมีการแบ่งหลายแบบแล้วแต่วัตถุประสงค์ ยกตัวอย่างเช่น แบ่งชนิดของการออกกำลังกายเป็น ๑) แบบส่วนบุคคล ๒) แบบกลุ่มที่มีปัญหาหรือมีสมรรถภาพใกล้เคียงกัน (Group Exercise) และ ๓) การออกกำลังกายแบบกลุ่มใหญ่ (Mass Exercise)

การออกกำลังแบบกลุ่มใหญ่
มีข้อดีคือทำพร้อมกันได้ทีละมากๆ เช่น การเต้นแอโรบิกที่สนามหลวงมีคนมาร่วมเป็นแสนเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว  เป็นการกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงประโยชน์ของการออกกำลังกาย พร้อมกับความสนุกสนาน 
ข้อด้อยของการออกกำลังกายแบบกลุ่มใหญ่คือ อาจหนักไปสำหรับบางคน  แต่บางคนอาจได้ประโยชน์น้อยเพราะความหนักของการออกกำลังกายไม่พอ  

การออกกำลังกายแบบกลุ่ม 
การออกกำลังกายแบบนี้เป็นการรวมกลุ่มคนที่มีความสามารถหรือมีปัญหาใกล้เคียงกันมาออกกำลังกายร่วมกัน เช่น การออกกำลังกายกลุ่มของผู้สูงอายุ การออกกำลังกลุ่มในผู้ที่มีไหล่ติด การเต้นแอโรบิกในสถานออกกำลังกายโดยทั่วไป 
ข้อดีของการออกกำลังกายแบบนี้คือ มีแรงจูงใจที่จะออกกำลังกาย มีการแข่งขันกัน และสนุกสนาน 
ข้อด้อยคือ การจะจัดกลุ่มคนที่มีความสามารถใกล้เคียงกันมารวมกลุ่มกันออกกำลังกายเป็นเรื่องยาก ยกตัวอย่างเช่น การเต้นแอโรบิกเป็นกลุ่ม  ถ้าผู้เต้นมีสมรรถภาพของระบบหายใจและหัวใจต่างกันมาก คนที่มีสมรรถภาพดีอาจได้ประโยชน์ คนที่มีสมรรถภาพไม่ดีอาจเกิดอันตรายได้ 
ในทางปฏิบัติอาจแบ่งกลุ่มการเต้นแอโรบิกตามอายุ หรือแบ่งเป็น ๓ ระดับ เช่น แบบหนัก แบบปานกลาง และแบบเบา ผู้จะเข้าร่วมกลุ่มควรมีการตรวจเช็กสมรรถภาพเพื่อที่จะประเมินตัวเองก่อนที่จะร่วมออกกำลังกายในกลุ่มใด 
การออกกำลังแบบกลุ่มในคนที่ทำงานประเภทเดียวกัน เช่น ในกลุ่มงานนั่งเย็บรองเท้าในโรงงาน จะทำได้ง่ายเพราะคนทำงานจะมีสมรรถภาพและปัญหาทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่ต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นคล้ายๆ กัน 
ผู้ที่จะนำการออกกำลังกายควรมีความรู้เกี่ยวกับชนิด และผลของการออกกำลังกายแต่ละประเภท เพื่อที่จะได้ออกแบบท่าการออกกำลังกายให้เหมาะกับคนกลุ่มนั้น
     
การออกกำลังกายแบบส่วนบุคคล 
การออกกำลังกายแบบส่วนบุคคลเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพราะสามารถกำหนดความหนักของการออกกำลังกายได้ในแต่ละบุคคล ทำให้ได้ประโยชน์สูงสุด  สามารถจัดเวลาที่จะออกกำลังของตัวเองได้ไม่ต้องรอเป็นกลุ่ม  แต่ผู้ที่จะออกกำลังกายต้องสร้างสุขนิสัย คือต้องทำสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ มีชนิดของการออกกำลังกายตามสมรรถภาพร่างกาย ได้แก่ สมรรถภาพของระบบหัวใจและหายใจ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความทนทานของกล้ามเนื้อ ความยืดหยุ่นของร่างกาย และความคล่องแคล่วว่องไว


การเลือกซื้อ “อาหารกระป๋อง”



การเลือกซื้อ “อาหารกระป๋อง”
ปัจจุบันอาหารกระป๋องเป็นที่แพร่หลายในท้องตลาด และซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ซึ่งมีหลายคนและหลายครอบครัวให้ความนิยมในการบริโภค แต่คุณทราบหรือไม่ว่าอาหารที่คุณบริโภคอยู่นั้นมีความปลอดภัยแค่ไหน ฉะนั้นการเลือกซื้ออาหารกระป๋องในแต่ละครั้งจึงมีความจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเลือกซื้ออาหารอื่นๆ 

หลักการเลือกซื้ออาหารกระป๋องมีดังนี้
1. ดูลักษณะกระป๋อง โลหะของกระป๋องต้องสุกใสเป็นเงางาม ต้องไม่บุบบี้หรือโป่งพอง ตะเข็บหรือรอยต่อต้องเรียบร้อยและแน่นหนา ขอบกระป๋องต้องอยู่ในรูปเดิม ไม่นูนหรือโป่งออกมา และกระป๋องต้องไม่เป็นสนิม

2. เมื่อกดนิ้วลงไปบนฝากระป๋อง ถ้าฝากระป๋องบุบหรือยุบลงไป หรือส่วนอื่นของฝากระป๋อง หรือตัวกระป๋องโป่งหรือพองออก ไม่ควรเลือกอาหารกระป๋องนั้น

3. เมื่อเขย่ากระป๋อง ถ้ามีเสียงกระฉอกของน้ำกับอากาศ ไม่ควรซื้อหรือกินอาหารในกระป๋องนั้น หรือแม้จะเป็นกระป๋องอื่นชนิดเดียวกัน ถ้าไม่มีเสียงเช่นนั้นก็ไม่ควรกินเช่นกัน

4. เมื่อเปิดกระป๋อง ถ้ามีอากาศ(ลม)พุ่งออกมาจากภายในกระป๋อง ห้ามกินอาหารในกระป๋องนั้น

5. เมื่อเปิดกระป๋องแล้วได้กลิ่นบูดเน่า หรือกลิ่นผิดแปลกไปจากที่เคยใช้หรือเคยกิน ห้ามชิม และห้ามกินอาหารในกระป๋องนั้นเป็นอันขาด

6. เมื่อเทอาหารออกจากกระป๋องแล้ว ถ้าภายในกระป๋องมีสนิม หรือมีรอยถลอก หรือรอยด่งของโลหะ ไม่ควรกินอาหารในกระป๋องนั้น

7. ควรดูที่ฉลาก ศึกษาวันเดือนปีที่ผลิตอาหารกระป๋องนั้น ไม่ควรซื้อหรือกินอาหารกระป๋องที่เก็บไว้นาน เพราะการเก็บไว้นานจะทำให้คุณค่าทางอาหารลดลงไปเรื่อยๆ

ทั้ง 7 ข้อที่กล่าวมา คงพอเป็นแนวทางในการเลือกซื้อครั้งต่อไปได้อย่างถูกต้อง เพียงคุณหมั่นสังเกตอีกสักนิด อาหารที่ซื้อมาบริโภคก็จะมีคุรค่าทางโภชนาการตามที่คุณต้องการ

ผู้สูงอายุ อยู่อย่างไรไกลโรค




"ผู้สูงอายุ "ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ได้ให้คำนิยามว่า "ผู้สูงอายุ คือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป"
ประเทศไทยใช้เกณฑ์เดียวกับขององค์การสหประชาชาติ แต่มีบางประเทศอาจใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกัน เช่น สหรัฐอเมริกา ผู้สูงอายุคือผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าจำนวนผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จาก พ.ศ.2548 (ร้อยละ 10.4) พ.ศ.2549 (ร้อยละ 10.5) พ.ศ.2550 (ร้อยละ 10.7) ประชากรไทยทั้งประเทศ 65.69 ล้านคน จำนวนผู้สูงอายุ ร้อยละ 10.7 จาก 65.69 ล้านคน นั่นคือ ณ พ.ศ.2550 มีผู้สูงอายุ 7 ล้านคน

ทำไมต้องดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ
สาเหตุการเสียชีวิตของผู้สูงอายุไทย พบตามลำดับ 7 โรคดังนี้ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไต โรคปอดอักเสบ โรคเบาหวาน โรคตับ และอัมพาต
บรรดาโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดกับผู้สูงอายุ มักมาจากปัจจัยหลัก 4 ประการคือ ความเสื่อมของอวัยวะตามวัย พฤติกรรมและ/หรือวิถีชีวิตที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ร่างกาย และปัจจัยทางพันธุกรรม
พบว่าโรคหลายโรคที่เกิดกับผู้สูงอายุสามารถป้องกันได้
โดยธรรมชาติแล้ว ผู้สูงอายุมีความเสื่อมของรักษามักไม่ดีเท่ากับวัยอื่น เกิดภาวะแทรกซ้อนง่าย เกิดภาวะทุพพลภาพได้สูง เสียค่าใช้จ่ายมาก เป็นภาระกับตัวผู้ป่วย ครอบครัว และเป็นปัญหาสังคมอย่างหนึ่ง

ความเสื่อมของอวัยวะผู้สูงอายุ เช่น
- ผิวหนังบางลง ความยืดหยุ่นลดลง เกิดเป็นจ้ำได้ง่าย
- กระดูกพรุน เสี่ยงต่อกระดูกหักเมื่อได้รับบาดเจ็บ
- สายตายาว ต้อกระจก
- เซลล์ประสาทการได้ยินเสีย หูตึง
- น้ำตาลในเลือดเริ่มผิดปกติ เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน
- หลอดเลือดแข็งตัว เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดส่วนปลาย หัวใจ และสมอง
- ตับ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
- ไต การกำจัดของเสียออกจากร่างกายมีปัญหามากขึ้น
- เซลล์สมองและเนื้อสมองลดลง ความจำลดลง

ดังนั้นการรู้ธรรมชาติของร่างกายที่เสื่อมตามวัย ดูแลตนเองให้ดี ตรวจสุขภาพก่อนเกิดอาการ รีบรักษา จะทำให้เป็นผู้สูงอายุที่สุขภาพดี มีคุณภาพ ชีวิตที่ดีซึ่งเป็นสิ่งที่ปรารถนาของทุกคน

ผู้สูงอายุกับการปฏิบัติตัว
การปฏิบัติตัวของผู้สูงอายุ เกี่ยวข้องกับร่างกาย จิตใจ และปัจจัย 4 

อาหาร

อาหารการกินของผู้สูงอายุ จะต้องครอบคลุมอาหารหลัก 5 หมู่ ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน ไขมัน เกลือแร่ วิตามิน ผัก ผลไม้ เป็นต้น

ผู้สูงอายุจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานจัด มันจัด และเค็มจัด (ไม่หวาน ไม่มัน ไม่เค็ม) และดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว (หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และน้ำอัดลม)

มีแร่ธาตุหลายชนิดที่ผู้สูงอายุต้องการและมักขาด คือ แคลเซียม เหล็ก และสังกะสี
- อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นม เต้าหู้ ถั่วเหลือง สาหร่ายทะเล เมล็ดงา ปลาตัวเล็ก ปลาป่น ผักใบเขียว
- อาหารที่มีสังกะสี ได้แก่ อาหารทะเล ปลา จมูกข้าวสาลี เมล็ดงา
- อาหารที่มีเหล็กมาก ได้แก่ เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ สาหร่ายทะเล เมล็ดฟักทอง เมล็ดงา จมูกข้าวสาลี

การออกกำลังกาย

สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจปี พ.ศ.2550 พบว่าคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 11 ขวบขึ้นไป มีเพียงร้อยละ 30 (16 ล้านคน) เท่านั้นที่ออกกำลังกาย ส่วนอีกกว่า 38 ล้านคนไม่ได้ออกกำลังกาย

การไม่ออกกำลังกายของคนเรา เสี่ยงต่อโรคหลายๆ โรคด้วยกัน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคเครียดและซึมเศร้า โรคสมองเสื่อม โรคข้อเข่าเสื่อมและกระดูกพรุน

ผู้สูงอายุสามารถออกกำลังกายได้ตามความเหมาะสมของร่างกาย เช่น
- การทำกายบริหาร ช่วยให้ข้อต่อและกล้ามเนื้อแข็งแรง ทรงตัวดีไม่หกล้มง่าย (รำมวยจีน ฝึกโยคะ)
- การออกกำลังกายแบบแอโรบิก คือการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 3-5 นาทีขึ้นไป (การวิ่งเหยาะ การเดินเร็ว ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก หรือการเดินบนสายพาน)
- การฝึกกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน ฝึกเกร็งกล้ามเนื้อ ต้นขาของผู้สูงอายุที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ช่วยทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ลดอาการปวด และลดความรุนแรงของโรค
- การเล่นกีฬาที่ชอบ ได้ความสนุกสนาน แต่ไม่หักโหมจนเกินไป
ออกกำลังกายอย่างไรได้ประโยชน์
- ถ้าไม่มีโรคประจำตัว การออกกำลังกายแบบแอโรบิกได้ประโยชน์มากที่สุด
- ค่อยๆ เริ่มยืดเส้นยืดสายก่อน เมื่อจะเลิกก็ค่อยๆ หยุด ให้ร่างกายและหัวใจได้ปรับตัว
- ระยะเวลาการออกกำลังกาย 30 นาทีต่อครั้ง และ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์
- เป้าหมายเพื่อให้อัตราการเต้นของหัวใจเท่ากับ ร้อยละ 50-80 ของอัตราการเต้นสูงสุดของหัวใจ
- อัตราการเต้นสูงสุดของหัวใจ = 220 ลบ อายุ (ปี) เช่น อายุ 70 ปี อัตราการเต้นสูงสุดของหัวใจ ก็คือ 220 - 70 = 150 ครั้ง/นาที ดังนั้นจะต้องออกกำลังกายให้ได้อัตราการเต้นของหัวใจระหว่าง 75-120 ครั้ง/นาที

ความอ้วน

รู้ได้อย่างไรว่าอ้วน 
มีวิธีสังเกตง่ายๆ ก็คือ วัดรอบเอว ผู้ชายมีรอบเอว เกิน 36 นิ้วหรือ 90 เซนติเมตร ผู้หญิงมีรอบเอวเกิน 32 นิ้วหรือ 80 เซนติเมตรถือว่าอ้วนแบบลงพุง

อีกวิธีหนึ่งที่นิยมคือ การคำนวณดัชนีมวลกาย โดยใช้สูตร 

ดัชนีมวลกาย = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง
 

โดยถ้าดัชนีมวลกาย ระหว่าง 23-24.9 กิโลกรัมต่อเมตร2 ถือว่าน้ำหนักตัวเกิน แต่ถ้าตั้งแต่ 25 กิโลกรัม/เมตรขึ้นไปถือว่าอ้วน

ตัวอย่าง
 นาย ก. น้ำหนักตัว 67 กิโลกรัม ส่วนสูง 160 เซนติเมตร
ดัชนีมวลกาย = 67 หารด้วย 1.6 ยกกำลังสอง
                      = 26.17 กิโลกรัมต่อเมตร2
                         ถือว่าอ้วน

ภาวะอ้วน น้ำหนักตัวเกิน ทำให้ผู้สูงอายุเกิดความเครียด หงุดหงิด โมโหง่าย นอนกรน เป็นสาเหตุของโรคอื่นๆ อีกหลายโรค เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด ข้อเข่าเสื่อม
นอกจากนี้ สัมพันธ์กับมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก

การตรวจสุขภาพร่างกาย
การสังเกตอาการผิดปกติของตนเองเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผู้สูงอายุและวัยอื่นๆ พึงปฏิบัติ เช่น แผลเรื้อรัง มีปัญหาการกลืนหรือการย่อยอาหาร เบื่ออาหารและมีน้ำหนักลด ไอเรื้อรัง ไข้เรื้อรัง เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก ท้องเสียเรื้อรัง หรือมีท้องผูกสลับท้องเสีย เหล่านี้เป็นต้น จำเป็นจะต้องไปพบแพทย์
นอกจากนี้ ผู้สูงอายุมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือด แข็ง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อ้วน ซึ่งพบได้บ่อย การตรวจสุขภาพสม่ำเสมอจะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก่อนปรากฏอาการ

มีโรคที่ไม่ว่าผู้สูงอายุหรือคนวัยทำงานเมื่อได้ยินได้ฟังแล้วเกิดอาการตื่นตระหนก หมดกำลังใจ ทั้งตัวผู้ป่วยและญาติ นั่นคือโรคมะเร็ง เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งในผู้สูงอายุ

ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า โรคมะเร็งผู้หญิงที่พบมากก็คือ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ และมะเร็งปอด 

สำหรับโรคมะเร็งผู้ชายที่พบมากก็คือ มะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ 
การตรวจสุขภาพตั้งแต่ก่อนที่จะปรากฏอาการของโรคมะเร็งมีความสำคัญ เพราะการวินิจฉัยโรคตั้งแต่ระยะเริ่มแรก มักให้ผลการรักษาที่ดี

การดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคหรือปัญหาที่พบบ่อยกับผู้สูงอายุความจริงโรคหรือปัญหาที่พบบ่อยกับผู้สูงอายุหลายโรคสามารถป้องกันการเกิดได้ หรือหากเป็นโรคแล้ว ถ้ารู้วิธีดูแลตนเองที่ถูกต้อง จะสามารถลดความรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนลงได้ ตัวอย่างโรคหรือปัญหาที่ผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองได้ดังนี้

โรคข้อเสื่อม
- โรคข้อที่พบบ่อยที่สุด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
- มีการเปลี่ยนแปลงที่กระดูกอ่อนผิวข้อ โดยถูกทำลายแบบค่อยเป็นค่อยไป
- จะมีอาการปวดที่ตำแหน่งข้อ มักเป็นหลังจากใช้ข้อมากกว่าปกติ
- มักบวมที่ข้อไม่มาก ข้ออุ่นกว่าปกติเล็กน้อย เมื่อพักข้ออาการปวดจะลดลงหรือหายไป เมื่อใช้งานก็กลับมาปวดใหม่
- อาการจะเป็นๆ หายๆ ขึ้นกับการใช้งานข้อ
- ข้อฝืด เป็นหลังจากพักข้อ หรือหยุดการเคลื่อนไหวข้อเป็นเวลานาน เช่นหลังตื่นนอน อาการข้อฝืดมักไม่เกิน 15 นาที เมื่อขยับข้อสัก 2-3 ครั้งก็ดีขึ้น
การดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคข้อเสื่อม
- ลดน้ำหนัก หรือควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน จะได้ผลดีกับข้อเข่า
- บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อให้แข็งแรงสม่ำเสมอ
- ใช้ข้ออย่างระมัดระวัง ทะนุถนอม เลี่ยงการเคลื่อนไหวข้อเร็วๆ บิดข้อมากๆ ซ้ำๆ
- สำหรับข้อเข่า ให้หลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ ขัดสมาธิ คุกเข่า เพื่อลดแรงกระทำกับข้อ

การหกล้ม

การหกล้มของผู้สูงอายุและวัยอื่น ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่ออวัยวะของร่างกาย เช่น แผลถลอก กระดูกร้าว กระดูกแตก ข้อพลิก เป็นต้น

ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปในเมือง มีความ ชุกของการหกล้มร้อยละ 19.8 ในระยะเวลา 6 เดือน

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้สูงอายุหกล้ม ได้แก่ ปัญหาการได้ยินและการมองเห็น ความจำลดลง ภาวะขาดสารอาหาร โรคทางสมอง โรคข้อ และการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น
จะป้องกันการหกล้มได้อย่างไร
- ส่งเสริมสุขภาพ เช่น การออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง การฝึกเดินที่ถูกต้อง มีโภชนาการที่ดี หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็นหรือมากเกินไป ใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน ปรับพฤติกรรมส่วนตัว (เช่น ค่อยๆ ลุกขึ้นยืน มองหาวัสดุรอบตัวที่สามารถยึดจับได้)
- ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้วัสดุกันลื่นในห้องน้ำ ทางเดินมีราวจับตลอด ไม่เดินไปบริเวณที่เสี่ยงต่อการหกล้ม ไม่วางของระเกะระกะ หลีกเลี่ยงการเลี้ยงสุนัขในบ้าน มีแสงสว่างเพียงพอบริเวณทางเดิน เตียงนอน เก้าอี้ โถส้วม มีความสูงพอเหมาะ คือไม่เตี้ยหรือสูงเกินไป

ภาวะสมองเสื่อม
พบว่าหลังอายุ 60 ปีความชุกของภาวะสมองเสื่อมจะเพิ่มเป็น 2 เท่าทุก 5 ปี เป็นความผิดปกติในความสามารถของสมอง เช่น ความจำ ความคิด การตัดสินใจ การคำนวณ การรับรู้ทิศทาง การใช้ภาษา ที่แสดงออกมามากกว่าในวัยเดียวกัน หรือมากกว่าการหลงลืมตามวัย ซึ่งจะมีผลกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือการเข้าสังคม มีการเปลี่ยน แปลงของบุคลิกภาพและพฤติกรรมได้ โรคที่พบบ่อยได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ รองลงมาก็คือโรคหลอดเลือดสมอง

การป้องกันภาวะสมองเสื่อม สามารถปฏิบัติได้ดังนี้
- ป้องกันหรือรักษาโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ
- พยายามทำกิจกรรมที่มีการกระตุ้นให้มีการใช้งานสมอง โดยผ่านทางประสาทสัมผัสต่างๆ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยใช้สมองทุกส่วน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ มีการคิด แก้ไขปัญหา วางแผน การตัดสินใจ เช่น เข้าชมรมผู้สูงอายุ เรียนหนังสือ เล่นดนตรี ร้องเพลง ท่องเที่ยว ทำงานหลังเกษียณ
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ขาดการใช้ทักษะ เช่น นั่งเฉยๆ นอนทั้งวัน ดูโทรทัศน์อย่างเดียว ไม่ยอมเข้าสังคม
- ทำจิตใจให้สดใสร่าเริง พบว่าความเครียดและ อารมณ์ซึมเศร้าจะมีผลต่อสติ ความจำ ทำให้เสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม
- งดสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
สุขภาพดี ทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ แต่การได้มาซึ่งสุขภาพดีนั้น ต้องปฏิบัติด้วยตนเอง อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ

ต้อหินเฉียบพลัน



ต้อหิน เป็นโรคตาชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุทำให้ตาบอดได้ 


โรคนี้ไม่เกี่ยวกับหินแต่อย่างใด แต่เรียกชื่อว่าต้อหิน ก็เนื่องจากโรคนี้มีภาวะความดันในลูกตาสูงกว่าปกติอันเกิดจากน้ำเลี้ยงภายในลูกตาระบายออกข้างนอกลูกตาไม่ได้ เกิดการคั่งอยู่ภายในลูกตาอย่างสะสม เหมือนการฉีดน้ำเข้าไปในลูกโป่ง จึงมีความดันภายในลูกตาสูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าใช้นิ้วคลำลูกตาจากภายนอก จะพบว่าลูกตามีความแข็งตัวมากกว่าปกติ จึงเปรียบว่าคล้ายหินนั่นเอง

♦ ชื่อภาษาไทย ต้อหินเฉียบพลัน
♦ ชื่อภาษาอังกฤษ Acute glaucoma
♦ สาเหตุเกิดจากโครงสร้างของลูกตาผิดแปลกไปจากคนปกติ คือมีช่องลูกตาหน้า (ช่องว่างระหว่างกระจกตากับแก้วตา) แคบและตื้น จึงมีมุมระบายน้ำเลี้ยงลูกตา (มุมระหว่างกล้ามเนื้อม่านตากับกระจกตา) แคบกว่าปกติ เมื่อมีเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อม่านตาหดตัว (ทำให้เห็นรูม่านตาขยายตัว) เช่น อยู่ในที่มืด มีอารมณ์โกรธ ใช้ยาหยอดหรือยากินที่ทำให้รูม่านตาขยาย (เช่น อะโทรพีน, ไฮออสซีน) ก็จะทำให้มุมระบายน้ำเลี้ยงลูกตาถูกปิดกั้น น้ำเลี้ยงลูกตาระบายออกไปไม่ได้ ก็เกิดคั่งอยู่ในลูกตา ทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้นเฉียบพลัน เกิดอาการของโรคต้อหินเฉียบพลัน (ปวดศีรษะและปวดตาข้างเดียว ตาพร่ามัว) ขึ้นทันทีทันใด

ต้อหินเฉียบพลันมักพบในผู้ที่มีสายตายาว (มองใกล้ไม่ชัด) เพราะมีกระบอกตาสั้น และช่องลูกตาหน้าแคบ และเกิดในผู้สูงอายุเป็นส่วนมาก เนื่องเพราะแก้วตาของผู้สูงอายุมีความหนาตัว ทำให้ช่องลูกตาที่แคบอยู่แล้ว ยิ่งแคบมากขึ้นไปอีก จึงมีโอกาสเกิดต้อหิน มากขึ้น

ต้อหินชนิดนี้ สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ จึงมักมีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องของผู้ป่วยเป็นโรคนี้ด้วย
                  
♦ อาการ
อยู่ๆ ผู้ป่วยมีอาการปวดลูกตา และศีรษะข้างหนึ่งอย่างฉับพลันรุนแรงต่อเนื่องนานเป็นวันๆ กินยาบรรเทาปวดก็ไม่ทุเลา มักจะปวดจนนอนไม่หลับ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีอาการตาพร่ามัว มองเห็นแสงสีรุ้ง และคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

บางรายอาจมีอาการปวดตา ตาแดง ตาพร่า เห็นแสงสีรุ้งเป็นพักๆ นำมาก่อนเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน อาการมักจะเป็นตอนหัวค่ำ หรือขณะอยู่ในที่มืด (กล้ามเนื้อม่านตาหดตัว รูม่านตาขยาย) หรือขณะมีอารมณ์หงุดหงิด โกรธ (เพราะจะมีเลือดไปคั่งที่กล้ามเนื้อม่านตา ทำให้มุมระบายน้ำเลี้ยงลูกตา ยิ่งแคบมากยิ่งขึ้น) แต่ละครั้งอาจเป็นอยู่นาน 1-2 ชั่วโมง ก็ทุเลาไปได้เอง หรือนอนพักสักครู่ก็อาจทุเลาไปได้เอง

                                      

♦ การแยกโรค

อาการปวดศีรษะหรือปวดตาข้างเดียว อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น
- ไมเกรน ผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะ (บริเวณขมับ) ข้างเดียวและร้าวเข้ากระบอกตา เป็นๆ หายๆ มาตั้งแต่วัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว แต่ละครั้งปวดนาน 4-72 ชั่วโมง มักมีเหตุกระตุ้นให้กำเริบ เช่น ถูกแสงจ้า ใช้สายตามาก ได้ยินเสียงดัง ได้กลิ่นฉุนๆ อดนอน อากาศร้อน หิวข้าว ร่างกายเหนื่อยล้า ขณะมีประจำเดือน เป็นต้น การตรวจดูตา จะไม่พบสิ่งผิดปกติ (ซึ่งแตกต่างจากต้อหินเฉียบพลัน ที่จะมีอาการตาแดง ม่านตาขยาย)

- ไซนัสอักเสบ
 ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหน่วงรอบๆ กระบอกตา มีเสมหะไหลลงคอ ขากออกมาเห็นเป็นเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว มักจะมีอาการหลังเป็นหวัด

- ม่านตาอักเสบ
 ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาข้างเดียว ตาพร่ามัว ตาแดง อาการคล้ายกับต้อหินเฉียบพลัน แต่จะตรวจพบรูม่านตาหดตัว

- โรคตาอื่นๆ 
เช่น ตาอักเสบ (เคืองตา ตาแดง น้ำตาไหล มีขี้ตา) แผลกระจกตา (ปวดตารุนแรง ตาแดง อาจมีประวัติได้รับบาดเจ็บที่ตา เช่น ถูกใบไม้ ใบหญ้าบาด)

- เลือดออกในสมอง
 ผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน และเป็นต่อเนื่องเป็นวันๆ บางรายอาจมีประวัติได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะหรือเป็นความดันโลหิตสูงมาก่อน

                                      

♦ การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นด้วยการตรวจพบว่าตาข้างที่ปวด มีลักษณะผิดปกติ คือตาแดงเรื่อๆ รอบๆ บริเวณตาดำ กระจกตาบวมขุ่น (มองไม่ชัด) และรูม่านตาโตกว่าข้างที่ปกติ
เมื่อทำการตรวจวัดความดันลูกตา จะพบว่าสูงกว่าปกติ

♦ การดูแลตนเอง
เมื่อมีอาการปวดศีรษะและปวดตาข้างเดียว ให้ตรวจดูตาว่ามีลักษณะตาแดงหรือไม่
ถ้ามั่นใจว่าไม่มีอาการตาแดง และมีประวัติเคยเป็นไมเกรนมาก่อน ให้กินยาบรรเทาปวด (เช่น พาราเซตามอล) แล้วนอนหลับสักพัก ถ้าทุเลาได้ก็แสดงว่าน่าจะเป็นไมเกรน

ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว ถ้ามีลักษณะข้อใด ข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
- กินยาบรรเทาปวดแล้วไม่ทุเลา
- ปวดรุนแรง ปวดจนนอนไม่หลับ หรือรู้สึกปวดมากกว่าที่เคยเป็น
- ตาแดง
- มีอาการตาพร่ามัวอย่างต่อเนื่อง
- มีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว

♦ การรักษา

เมื่อตรวจพบว่าเป็นต้อหินชนิดเฉียบพลัน แพทย์จะรีบให้การบำบัดทันที เช่น ให้ยากินและยาหยอดตาที่มีตัวยาในการลดความดันลูกตา แล้วนัดมาผ่าตัดเพื่อระบายน้ำเลี้ยงลูกตา
บางรายแพทย์อาจทำการผ่าตัดระบายน้ำเลี้ยงลูกตาด้วยแสงเลเซอร์ให้ทันที ซึ่งใช้เวลาไม่มากในการทำ และผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องพักรักษาในโรงพยาบาล

♦ ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาให้ทันท่วงที ความดันลูกตาที่สูงขึ้นฉับพลัน จะทำลายจอประสาทตา จนทำให้ตาบอดอย่างถาวรได้

♦ การดำเนินโรค
ถ้าได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดระบายน้ำเลี้ยงลูกตา จะช่วยให้โรคหายขาดได้ สายตาเป็นปกติ
แต่ถ้าปล่อยไว้ จนจอประสาทตาถูกทำลายก็จะทำให้สายตาพิการอย่างถาวร

♦ การป้องกันผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจเช็กความดันลูกตาเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีประวัติโรคนี้ในครอบครัว ถ้าพบว่ามีความดันลูกตาสูง แพทย์จะได้ให้ยาควบคุมและเฝ้าติดตาม เพื่อไม่ให้กลายเป็นโรคต้อหินตามมา

♦ ความชุก
โรคนี้พบได้ประปราย พบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พบในวัยกลางคนขึ้นไป