amazon

วันพุธที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2557

น้ำผึ้ง เพื่อสุขภาพและความงาม




น้ำผึ้งคือน้ำหวานที่ผึ้งเก็บมาจากต่อมน้ำหวานของดอกไม้ โดยผึ้งจะกลืนน้ำหวานลงสู่กระเพาะน้ำหวาน ซึ่งจะมีเอนไซม์ช่วยย่อยน้ำหวานแล้วนำมาเก็บไว้ในหลอดรวงผึ้ง จากนั้นน้ำผึ้งค่อยๆบ่มตัวเองโดยการระเหยน้ำออกไปจนน้ำผึ้งมีปริมาณน้ำตามที่เข้มข้นขึ้นจนได้ระดับที่เหมาะสมกับการเก็บรักษาผึ้งงานก็จะปิดฝาหลอดรวง เราเรียกน้ำผึ้งนี้ว่า "น้ำผึ้งสุก" เป็นน้ำผึ้งที่ได้มาตรฐาน คือมีน้ำอยู่ไม่เกินร้อยละ 20-21 แต่ถ้าหากเก็บน้ำผึ้งในหน้าที่มีน้ำมากไม่มีการระเหยน้ำออกมาให้อยู่ในมาตรฐานอาจทำให้เกิดกระบวนการหมัก ทำให้น้ำผึ้งมีรสเปรี้ยวและเกิดแก๊สขึ้น อาจมีการระเบิดได้ถ้าเก็บไว้ในขวดแก้วที่ปิดสนิท ดังนั้นคนโบราณจึงนิยมให้ใช้น้ำผึ้งเดือนห้า เพราะปริมาณน้ำน้อยและมีดอกไม้หลายชนิดบานในช่วงเวลาดังกล่าว
 
คุณภาพของน้ำผึ้งที่ได้มานั้นย่อมขึ้นอยู่กับวัตถุดิบ หรือชนิดของเกสรดอกไม้ที่ผึ้งได้ไป รวมถึงแหล่งของพืชและพื้นดินนั้นๆ ที่ผึ้งเจริญเติบโตอยู่ เพราะฉะนั้นน้ำผึ้งที่ได้จากรังผึ้งในป่าใหญ่ จึงมีความสมบูรณ์และมีแร่ธาตุอาหารที่แตกต่างจากน้ำผึ้งเลี้ยง ส่วนน้ำผึ้งเลี้ยงจะมีการเติมน้ำหวานจากน้ำตาลและเกสรเทียมซึ่งทำให้คุณค่าลดน้อยลงไป 

วิธีสังเกตว่าเป็นน้ำผึ้งแท้จากธรรมชาติทำได้โดยการนำน้ำผึ้งใส่ไว้ในขวด ตั้งทิ้งไว้สักพัก จะพบว่ามีเกสร ดอกไม้ลอยอยู่ด้านบน ซึ่งเป็นลักษณะตามธรรมชาติของน้ำผึ้งป่านั่นเอง 

มาดูถึงคุณประโยชน์ของน้ำผึ้งกันบ้าง จะพบว่าในน้ำผึ้งมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่นเดียวกับที่มีในผักใบเขียวและยังมีวิตามินบี ซี ฟอสฟอรัส แคลเซียม เกลือแร่ และกรดอะมิโน 

น้ำผึ้งยาอายุวัฒนะของทุกชนชาติ
ทุกชนชาติทั้งจีน ยุโรป เอเชีย แอฟริกา อินเดียต่างมีความเชื่อร่วมกันว่า น้ำผึ้งมีสรรพคุณบำรุงสุขภาพและเป็นยาอายุวัฒนะ 
หมออายุรเวทถือว่าน้ำผึ้งเป็นยาอายุวัฒนะและไม่เพียงมีคุณค่าทางยาเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอีกด้วย เช่น ใช้ประกอบในพิธีกรรมต่างๆ รวมทั้งใช้เป็นเครื่องสักการะบูชาเทพเจ้า 

ทางยาหมออายุรเวทเชื่อว่าน้ำผึ้งมีสรรพคุณชำระล้างบาดแผล รักษาแผล สมานเนื้อเยื่อ บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง แก้ตรีโทษ ลดไขมัน บำรุงสายตา บำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล เสริมสร้างสติปัญญา และบำรุงกำหนัด นิยมใช้ในการแก้ไอ แก้หอบหืด ร่างกายซูบโทรม รักษาอาการบาดเจ็บ หมายถึงถูกกระทบกระแทกแล้วร่างกายบอบช้ำ ทั้งยังใช้แก้อาเจียน แก้สะอึก วิงเวียน มึนงง แก้ท้องเสีย (ใช้น้ำผึ้งเก่า) แก้อาการเลือดออกง่าย แก้กระหาย เป็นลม รักษาโรคเกี่ยวกับตา แก้พิษ และรักษาโรคพยาธิ เป็นต้น เวลาใช้จริงส่วนใหญ่มักไม่ใช้น้ำผึ้งอย่างเดียวล้วนๆ แต่จะผสมในยากวนบ้าง ผสมในยาดอง หรือไม่ก็ใช้เป็นกระสายยา และยังใช้น้ำผึ้งผสมเพื่อให้กินง่ายขึ้น 

น้ำผึ้งในตำรับยาไทย
ส่วนน้ำผึ้งในตำรับยาไทยนั้นมีการใช้คล้ายกันกับการใช้ของทางอายุรเวทคือใช้เป็นน้ำกระสายยา ใช้แต่งรสยาและใช้เป็นยา โดย หมอบุญยืน ผ่องแผ้ว แพทย์แผนไทยประจำคลินิกหนองบง จังหวัดลพบุรี ก็กรุณาเล่าให้ฟังดังนี้

- น้ำผึ้งช่วยแต่งรสยา
น้ำผึ้งมีรสหวานฝาด ร้อนเล็กน้อย มีสรรพคุณช่วยบำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ปวดหลัง ปวดเอว ทำให้แห้ง ใช้ทำยาอายุวัฒนะ เราใช้น้ำผึ้งแต่งรสยาบางชนิด เช่น ยาแก้ไข้ที่มีรสขมมาก จนผู้ป่วยกินไม่ได้ เราต้องใช้น้ำผึ้งผสมให้มีรสหวานนิดหนึ่ง รสยาก็จะอร่อยขึ้น และช่วยชูกำลัง ซึ่งน้ำผึ้งเข้าได้กับตำรับยาทุกชนิด

น้ำผึ้งหนึ่งในน้ำกระสายยาน้ำกระสายยาคือส่วนผสมหนึ่งของตำรับยาไทย ที่ช่วยให้ตัวยาออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น ซึ่งมีหลายชนิด เช่น จากพืช (น้ำมะนาว) จากธาตุ (เปลือกหอยนำมาฝนกับน้ำ) จากสัตว์ (งาช้าง) 

น้ำผึ้งที่ถือเป็นน้ำกระสายยาตัวหนึ่งที่มีฤทธิ์แรงทำให้ตัวยาดูดซึมเร็วขึ้น ช่วยกระตุ้นการทำงานของไต และกระจายเลือด ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีกำลังมากขึ้น หรือบางครั้งนำน้ำผึ้งมาผสมกับยาปั้นเป็นลูกกลอน แต่ผู้ปรุงยาควรนำน้ำผึ้งไปเคี่ยวให้เดือดเพื่อฆ่าเชื้อโรค มิฉะนั้น ยาลูกกลอนจะขึ้นราภายหลัง

ผู้ป่วยที่ไม่ควรกินน้ำผึ้ง
ตามหลักการแพทย์แผนไทยแล้ว น้ำผึ้งมีประโยชน์มากมายก็จริง แต่สำหรับผู้ป่วยบางราย แนะนำว่าไม่ควรกินน้ำผึ้งแบบเข้มข้นโดยไม่ผสมอะไรเลยและไม่ควรกินน้ำผึ้งในปริมาณมากเกินไป ประเภทครั้งละครึ่งแก้วไม่ดีแน่ อย่างเก่งแค่ครั้งละ 1 - 2 ช้อนชา 

สารสำคัญในน้ำผึ้ง
น้ำผึ้งประกอบด้วยน้ำประมาณร้อยละ 20 น้ำตาลชนิดต่างๆ เช่น กลูโคส ฟรักโทส และลีวูโลส ประมาณร้อยละ 79 โดยมีปริมาณน้ำตาล "ฟรักโทส" มากกว่าน้ำตาล "กลูโคส" เล็กน้อย ทำให้น้ำผึ้งไม่ตกผลึก และมีรสหวานกว่าน้ำตาลชนิดอื่นๆ 

กรดชนิดต่างๆ ประมาณร้อยละ 0.5 ทำให้น้ำผึ้งมีรสเปรี้ยวเล็กน้อยโดยกรดที่พบมาก คือ กรดกลูโคนิก วิตามิน (ไรโบฟลาวิน ไนอะซิน) เอนไซม์ และแร่ธาตุ (แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส) ประมาณร้อยละ 0.5 โดยน้ำผึ้งที่มีสีเข้ม จะมีปริมาณแร่ธาตุสูงกว่าน้ำผึ้งที่มีสีอ่อน ซึ่งจะเห็นได้ว่าองค์ประกอบหลักของน้ำผึ้ง คือน้ำตาล และเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย โดยน้ำผึ้ง 100 กรัม จะให้พลังงาน 303 แคลอรี 

น้ำผึ้งมีคุณสมบัติทางยาคือ สามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ ได้ เพราะน้ำผึ้งมีความเข้มข้นของน้ำตาลสูง ซึ่งความเข้มข้นนี้เองจะช่วยกำจัดปริมาณน้ำที่แบคทีเรียใช้ในการเจริญเติบโต รวมถึงน้ำผึ้งมีความเป็นกรดสูง และมีปริมาณโปรตีนต่ำ ซึ่งทำให้แบคทีเรียไม่ได้รับไนโตรเจนที่จำเป็น นอกจากนี้น้ำผึ้งยังมีสารไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ และสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งจะมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียด้วย ดังนั้นเมื่อเราใช้น้ำผึ้งทาบาดแผลจึงสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้และทำให้แผลไม่เกิดการอักเสบ

เอนไซม์ในน้ำผึ้งมีหลายชนิด มีหน้าที่ช่วยย่อยคาร์โบไฮเดรตได้ น้ำผึ้งจึงมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ และแก้อาการท้องผูกในเด็กและผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี

เปลี่ยนน้ำผึ้งเป็นอาหารและยา
1. รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลและลดการอักเสบ
น้ำผึ้งถือว่าเป็นยารักษาแผลชั้นเลิศ โดยสามารถใช้แก้ไฟไหม้น้ำร้อนลวกได้ผลชะงัดนัก โดยให้ใช้น้ำผึ้งทาบริเวณที่ถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวก ยิ่งทาบ่อยยิ่งดี หรือถ้าเกิดถูกมีดบาดหรือมีบาดแผล หลังจากล้างทำความสะอาดแผลให้สะอาดแล้ว ให้น้ำผึ้งทาหรือจะใช้น้ำผึ้งผสมกับผงขมิ้นชัน คลุกเคล้าให้เข้ากันดี แล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นแผล จะช่วยลดการอักเสบและช่วยให้แผลหายเร็ว เพราะทั้งน้ำผึ้งและขมิ้นชันนั้น มีสรรพคุณรักษาบาดแผล สมานเนื้อเยื่อและบำรุงผิวอีกด้วย

2. รักษาโรคผิวหนังจากเชื้อรา
ใช้ผงขมิ้นผสมน้ำผึ้งทาบริเวณกลากเกลื้อน วันละ 2 ครั้ง

3. ต้านข้ออักเสบ
ผสมน้ำส้มแอปเปิ้ลไซเดอร์ 2 ช้อนชาลงในน้ำร้อน เติมน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา ชงดื่มวันละ 2 ครั้ง

4. แก้อาการท้องผูกและแก้ท้องเสีย
น้ำผึ้งเป็นทั้งยาระบายและแก้ท้องเสีย กล่าวคือถ้าเป็นน้ำผึ้งเก่าคือน้ำผึ้งที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไปจะช่วยแก้ท้องเสีย แต่ถ้าเป็นน้ำผึ้งใหม่ประเภทเพิ่งเก็บจากรังไม่นานจะมีสรรพคุณเป็นยาระบาย โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ ก่อน 6 เดือน ชาจะเป็นยาระบายในเด็กอ่อนที่ปลอดภัยยิ่ง การใช้น้ำผึ้งแท้สักประมาณ 1 ช้อนชา ผสมน้ำต้มสุกสัก 3 ช้อนหรืออาจกินร่วมกับผักผลไม้ เช่น การกินกล้วยน้ำว้าสุกจิ้มน้ำผึ้งหรือมันต้มสุกจิ้มน้ำผึ้ง ช่วยลดอาการท้องผูกได้เช่นกัน

5. แก้นอนไม่หลับ
น้ำผึ้งเป็นยาระงับประสาทอ่อนๆ ชงน้ำผึ้งผสมน้ำอุ่นหรืออาจใส่ในชาดอกไม้ เช่น ชาดอกคาโมมายล์ ดื่มก่อนนอนจะช่วยให้หลับสบายขึ้น

6. บำรุงเลือด
เทน้ำผึ้งครึ่งช้อนโต๊ะใส่แก้ว บีบน้ำมะนาว 1 ซีก ใส่เกลือนิดหน่อยเติมน้ำร้อน ดื่มเป็นยาบำรุงเลือด

7. บรรเทาอาการไอ
ถ้าเป็นหวัดก็ให้ใช้น้ำผึ้งผสมกับน้ำคั้นจากขิงแก่ ดังตำรับตัวอย่างคือ
ส่วนผสม : น้ำผึ้ง 500 กรัม ขิงสด 1.2 กิโลกรัม (1 ชั่ง)
วิธีทำ : คั้นขิงสดเอาแต่น้ำ แล้วนำมาผสมกับน้ำผึ้งต้มจนแห้ง
วิธีกิน : กินครั้งละขนาดเท่าลูกอมจะช่วยบรรเทาอาการไอเรื้อรัง หรือบีบมะนาวฝานสดๆ 1 เสี้ยวเข้าปากให้ลงลำคอ และจิบน้ำผึ้งแท้ 1 ช้อนโต๊ะ อมไว้ หายไอดีมาก
นอกจากนี้การใช้น้ำผึ้งผสมกับน้ำคั้นจากใบกะเพราแดงและน้ำคั้นจากใบเสนียด แก้ไอ และบรรเทาอาการหอบหืด ได้ผลชะงัดนักกับอาการไอที่ไม่ค่อยมีเสมหะ แต่ถ้าไอมีเสมหะ ก็จะใช้น้ำผึ้งผสมกับผงดีปลีแทน

8. เป็นอาหารสุขภาพสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
ส่วนผสม : น้ำผึ้งและงาดำ อย่างละ 50 กรัม
วิธีทำ : ตำงาดำให้ละเอียดแล้วคลุกกับน้ำผึ้ง 
วิธีกิน : ชงกับน้ำร้อนดื่มรักษาโรคความดันโลหิตสูงและบรรเทาอาการท้องผูกเรื้อรัง

สำหรับผิวหน้าสดใส
น้ำผึ้งเป็นผลิตผลจากธรรมชาติที่ใช้ในการดูแลผิวพรรณคู่กับน้ำนมมาอย่างยาวนาน นับแต่สมัยพระนางคลีโอพัตราอันเลอโฉมแห่งอียิปต์ คือน้ำผึ้ง ในน้ำผึ้งมีสารเพิ่มความชุ่มชื้น มีฮอร์โมนมีสารที่มีฤทธิ์สารต้านอนุมูลอิสระ จึงสามารถผสมในสมุนไพรอื่นที่มีสรรพคุณในการบำรุงผิวเช่น นม กล้วย มะละกอ ขมิ้น บัวบก มะม่วง เป็นต้น โดยพอกหน้า ทิ้งไว้สักครู่ประมาณ 5 นาทีแล้วล้างออก

สำหรับผู้ที่มีปัญหาสิวเสี้ยนหรือต้องการบำรุงผิวหน้าให้ดูอ่อนเยาว์ มีวิธีง่ายๆ ดังนี้ หลังจากล้างหน้าด้วยน้ำอุ่นและเช็ดให้แห้งแล้ว นำกล้วยหอมครึ่งลูกมาบดผสมกับน้ำผึ้งไม่ผ่านความร้อน แล้วนำมาทาบนหน้า ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วล้างออก 
ให้ใช้น้ำผึ้งไม่ผานความร้อนจะมีเอนไซม์ ซึ่งทำให้หน้าคุณชุ่มชื่นและนุ่มนวลขึ้น

เพื่อผมเงางาม
หลังสระผมเสร็จนำน้ำผึ้งไม่ผ่านความร้อนผสมกับน้ำมะกอกอย่างละ 3 ช้อนโต๊ะ นำมาชโลมผมแล้วทิ้งไว้ซัก 3-5 นาที จึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด ผมคุณจะนิ่มและเงางามตามธรรมชาติปราศจากสารเคมีใดๆ
อ้างอิงจาก http://www.th.wikipedia.org

คอพอกเป็นพิษ



บางคนอยู่ดีๆ ก็รู้สึกเหนื่อยง่าย ใจสั่น   น้ำหนักลด ทั้งๆ ที่กินอาหารได้ปกติหรือจุกว่าปกติ ก็พึงสงสัยว่าถูกโรคคอพอกเป็นพิษเล่นงานเข้าให้แล้ว โดยเฉพาะอย่าง ยิ่งถ้าพบในกลุ่มหญิงสาวก่อนวัยกลางคน

โรคนี้หากปล่อยไว้ ไม่รักษา ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อน ร้ายแรงได้ โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการจนทนไม่ไหว และจะไปพบแพทย์เมื่อมีอาการได้ไม่นาน การรักษามักทำให้อาการหายดี แต่อาจต้องกินยาคอยควบคุมอาการเป็นแรมปีหรือตลอดชีวิต
       
ชื่อภาษาไทย  คอพอกเป็นพิษ, ภาวะพิษจาก      ไทรอยด์, ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
ชื่อภาษาอังกฤษ  Toxic goiter, thyrotoxicosis,   hyperthyroidism
       
สาเหตุ  
เกิดจากต่อมไทรอยด์ (ตรงบริเวณใต้ลูกกระเดือก) มีการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์หรือไทร็อกซีน (thyroxine) ออกมามากเกิน โดยอยู่นอกเหนือการควบคุมตามกลไก ธรรมชาติของร่างกาย (ดูภาพที่ ๑) ฮอร์โมนไทรอยด์มีหน้าที่กระตุ้นให้ร่างกายมีการเผาผลาญเกิดพลังงานให้เซลล์ของอวัยวะทั่วร่างกายทำหน้าที่ได้เป็นปกติ เมื่อมีมากเกินก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ

เราเรียกภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนมากเกินว่า ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (hyperthyroidism) และเรียกอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากภาวะมีฮอร์โมนไทรอยด์ มากเกินนี้ว่า ภาวะพิษจากไทรอยด์ (thyrotoxicosis)

ส่วนผู้ที่มีอาการคอพอกหรือต่อมไทรอยด์โต ซึ่งมีการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์มากเกิน และเกิดภาวะพิษจากไทรอยด์ ก็เรียกว่า คอพอกเป็นพิษ (toxic goiter)
ภาวะคอพอกเป็นพิษ อาจมีสาเหตุได้หลายอย่างที่ พบได้บ่อยที่สุดก็คือโรคเกรฟส์ (Gravesž disease) ซึ่งพบ ได้ประมาณร้อยละ ๖๐-๘๐ ของผู้ที่เป็นคอพอกเป็นพิษ
โรคเกรฟส์นี้เกิดขึ้นโดยยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แพทย์เพียงแต่พบว่าร่างกายของผู้ป่วยกลุ่มนี้มีการสร้าง สารภูมิต้านทานต่อต่อมไทรอยด์ ซึ่งจะไปกระตุ้นให้ต่อม ไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมาโดยอยู่เหนือการควบคุมของต่อมใต้สมอง เป็นเหตุให้เกิดภาวะพิษจากไทรอยด์ มักพบมีต่อมไทรอยด์โตลักษณะแบบกระจาย (ไม่เป็นปุ่ม) และอาจมีอาการตาโปนร่วมด้วย มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ๕-๑๐ เท่า พบมากในคนอายุ ๒๐-๔๐ ปี และอาจมีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย นอกจากนี้ ความเครียดอาจเป็นตัวกระตุ้นให้โรคกำเริบได้

ส่วนสาเหตุอื่นของภาวะคอพอกเป็นพิษ ได้แก่ คอพอกเป็นพิษชนิดหลายปุ่ม (toxic multinodular goiten) ซึ่งพบบ่อยในคนอายุมากกว่า ๔๐ ปี เนื้องอกต่อมไทรอยด์ ชนิดเป็นพิษ (toxic thyroid adenoma) ซึ่งต่อมไทรอยด์มีลักษณะโตเป็นก้อนเนื้องอกเดี่ยวๆ ขนาดมากกว่า ๒.๕ เซนติเมตร
อาการ
คอพอกเป็นพิษไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด มักมีอาการคล้ายกัน กล่าวคือ ผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ใจหวิว ใจสั่น บางคนอาจมีอาการเจ็บหน้าอก ร่วมด้วย
มักจะมีความรู้สึกขี้ร้อน เหงื่อออกมาก ฝ่ามือมีเหงื่อชุ่ม

ผู้ป่วยจะมีน้ำหนักตัวลดลงรวดเร็ว ทั้งๆ ที่กินได้ปกติ หรืออาจกินจุขึ้นกว่าปกติด้วยซ้ำ ทั้งนี้เนื่องจากร่างกายมีการเผาผลาญมากมักมีอาการมือสั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาทำงาน ละเอียด เช่น เขียนหนังสือ งานฝีมือ เป็นต้น อาจมีลักษณะอยู่ไม่สุข ชอบทำโน่นทำนี่ บางทีดูเป็นคนขี้ตื่น หรือท่าทางหลุกหลิก อาจมีอาการหงุดหงิด โมโหง่าย นอนไม่หลับ หรืออารมณ์ซึมเศร้า บางคนอาจมีอาการถ่ายเหลวบ่อยคล้ายท้องเดิน หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน

ผู้หญิงอาจมีประจำเดือนออกน้อย หรือมาไม่สม่ำเสมอ หรือขาดประจำเดือน มักตรวจพบว่ามีต่อมไทรอยด์โต (คอพอก) ชีพจรเต้นเร็ว (มากกว่า ๑๒๐-๑๔๐ ครั้งต่อนาที) และอาจมีอาการตาโปน (ลูกตาปูดโปนออกมามากกว่าปกติ) และเห็นส่วนที่เป็นตาขาวด้านบนชัด (เนื่องจากหนังตาบนหดรั้ง) คล้ายทำตาจ้องดูอะไรหรือตาดุ ผิวหนังคลำดูมีลักษณะเรียบนุ่มและมีเหงื่อชุ่ม
การแยกโรค๑. อาการน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว อาจเกิดจากสาเหตุร้ายแรงอื่นๆ เช่น
 เบาหวาน มักมีอาการกระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย หิวบ่อยร่วมด้วย
 เอดส์ มักมีไข้เรื้อรัง ท้องเสียเรื้อรัง ร่วมด้วย
 มะเร็ง มักมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และอาการจำเพาะของมะเร็งแต่ละชนิดร่วมด้วย เช่น    จุกเสียดลิ้นปี่ (มะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหาร) เจ็บหน้าอก ไอ (มะเร็งปอด) ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ท้องเดิน เรื้อรัง ท้องผูกสลับท้องเดิน (มะเร็งลำไส้ใหญ่) เป็นต้น
๒. อาการใจสั่น หงุดหงิด นอนไม่หลับ อาจมีสาเหตุจากโรควิตกกังวล แต่มักจะไม่มีอาการคอพอก และชีพจรเต้นเร็วแบบคอพอกเป็นพิษ
๓. อาการคอพอก อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น คอพอกจากภาวะขาดไอโอดีน ภาวะพร่องฮอร์โมน ไทรอยด์ เป็นต้น ซึ่งมักจะไม่มีอาการใจสั่น เหนื่อยง่าย น้ำหนักลดแบบคอพอกเป็นพิษร่วมด้วย
๔. อาการใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก อาจมีสาเหตุจากโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
       
การวินิจฉัยแพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการแสดงของโรค ได้แก่ ใจสั่น เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด มือสั่น ชีพจรเต้นเร็ว คอพอก และตาโปน และยืนยันโดยการตรวจเลือดพบระดับฮอร์โมนไทรอยด์ (ไทร็อกซีน) สูงกว่าปกติ ถ้าจำเป็น อาจทำการตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น สแกนไทรอยด์ ตรวจคลื่นหัวใจ เอกซเรย์ปอด เป็นต้น
       
การดูแลตนเองเมื่อมีอาการคอโต (คอพอก) ใจสั่น เหนื่อยง่าย   น้ำหนักลด มือสั่น ชีพจรเต้นเร็ว หรือตาโปน ควรรีบปรึกษาแพทย์
หากตรวจพบว่าเป็นคอพอกเป็นพิษ ก็ควรปฏิบัติดังนี้
  • ติดตามรักษาตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ
  • กินยาตามคำแนะนำของแพทย์ อย่าหยุดยาหรือปรับขนาดยาเอง ยาที่ให้อาจเป็นยาต้านไทรอยด์  ที่ใช้รักษาคอพอกเป็นพิษ ซึ่งต้องกินนานเป็นแรมปี ในรายที่แพทย์ทำการรักษาด้วยน้ำแร่หรือผ่าตัด อาจมี ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แทรกซ้อน แพทย์ก็จะให้    ยาฮอร์โมนไทรอยด์กินทดแทนทุกวันไปจนชั่วชีวิต
  • เมื่อได้รับการรักษาจนอาการทุเลาดีขึ้น สามารถทำกิจกรรมต่างๆ เช่น คนปกติ สามารถออกกำลังกายหรือทำงานที่ต้องใช้แรงกายได้เป็นปกติ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบ
       
การรักษา
โดยทั่วไปแพทย์จะให้การรักษาด้วยยาต้านไทรอยด์ เช่น ยาเม็ดพีทียู (PTU) หรือเมทิมาโซล (methimazole) ซึ่งจะยับยั้งการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ให้ลดลงสู่ระดับปกติ หลังให้ยาแพทย์จะนัดมาดูอาการและตรวจระดับฮอร์โมน ไทรอยด์ในเลือดเป็นระยะ

ยานี้มีผลข้างเคียงที่สำคัญคือ อาจทำให้เกิดภาวะ เม็ดเลือดขาวต่ำ ซึ่งทำให้ติดเชื้อรุนแรงได้ ซึ่งพบได้ประมาณ ๑ ใน ๒๐๐ คน และมักจะเกิดขึ้นในระยะ ๒ เดือนแรกของการใช้ยา ดังนั้น ในช่วงนี้แพทย์ (อาจ) ทำการตรวจนับจำนวนเม็ดเลือดขาวทุก ๑-๒ สัปดาห์จนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีผลข้างเคียงดังกล่าว

ในระยะแรกแพทย์จะให้ยาต้านไทรอยด์ขนาดสูง เมื่อดีขึ้น จะค่อยๆ ลดยาลง จนเหลือวันละ ๑ เม็ด ซึ่งอาจต้องกินติดต่อไปนานอย่างน้อย ๒ ปี หากหยุดยาแล้ว โรคกำเริบขึ้นใหม่ ก็ต้องให้ยากินต่อไปเรื่อยๆ

บางรายแพทย์อาจให้การรักษาด้วยการให้ผู้ป่วยดื่มน้ำแร่ ซึ่งเป็นสารไอโอดีนที่มีกัมมันตรังสี เพื่อทำลาย เนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์เพื่อลดการสร้างฮอร์โมนลง
บางรายแพทย์อาจให้การรักษาด้วยการผ่าตัดต่อม ไทรอยด์

ทั้ง ๒ วิธีนี้มักเกิดผลแทรกซ้อนตามมาคือ เหลือเนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์ที่สร้างฮอร์โมนได้น้อยเกินไป เรียกว่า ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (hypothyroidism) ผู้ป่วย จะมีอาการบวม น้ำหนักขึ้น ขี้หนาว เฉื่อยชา ท้องผูก ชีพจรเต้นช้า ความคิดความอ่านช้า ซึ่งจำเป็นต้องกินฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนทุกวันไปจนชั่วชีวิต
ภาวะแทรกซ้อนถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย (มีอาการเหนื่อยหอบ เท้าบวม) โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (มีอาการใจเต้นเร็ว จังหวะไม่สม่ำเสมอ)
บางรายอาจมีอาการแขนขาเป็นอัมพาตเป็นครั้งคราว

ในรายที่มีอาการตาโปนมากๆ อาจทำให้ปิดตาไม่มิด เกิดแผลที่กระจกตาดำ สายตาพิการได้
ในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจมีภาวะกระดูกพรุน กระดูกหักง่าย ผู้ชายอาจมีอาการนมโต จำนวนเชื้ออสุจิลดลง (อาจเป็นหมัน) รวมทั้งความรู้สึกทางเพศลดลง
ในรายที่เป็นรุนแรง อาจเกิดอาการร้ายแรง เรียกว่าภาวะไทรอยด์วิกฤติ (thyroid crisis) มีอาการไข้สูง หัวใจเต้นเร็วมาก อาเจียน ท้องเดิน ร่างกายขาดน้ำ และอาจเกิดภาวะช็อก ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ภาวะร้ายแรงนี้มักเกิดเมื่อร่างกายเผชิญกับความเครียด เช่น เป็นโรคติดเชื้อ เข้ารับการผ่าตัด เป็นต้น 
       
การดำเนินโรค
หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน    ดังกล่าว
หากได้รับการรักษา อาการต่างๆ มักจะทุเลาได้ภายหลังการรักษาประมาณ ๑-๒ สัปดาห์ แต่ต้องอาศัย ยาต้านไทรอยด์ควบคุมไปเป็นระยะยาวนาน
ในรายที่รักษาด้วยน้ำแร่หรือการผ่าตัด มักจะมีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แทรกซ้อน ซึ่งต้องกินยาฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนตลอดไป
       
การป้องกันเนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด จึงไม่มีวิธีป้องกันโดยตรง ส่วนผู้ที่เป็นโรคนี้แล้วควรหลีกเลี่ยงความเครียด ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้อาการกำเริบ
       
ความชุกโรคนี้พบได้ค่อนข้างบ่อย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ๕-๑๐ เท่า อายุที่เริ่มเป็นส่วนมากอยู่ในช่วง ๒๐-๔๐ ปี  

เห็ดเป็นยา





เห็ดเป็นสิ่งมีชีวิตที่เคยจัดว่าเป็นพืชชั้นต่ำ แต่เมื่อมีเทคโนโลยีขั้นสูงในการศึกษาถึงระดับโมเลกุล จึงทำให้ทราบว่าพันธุกรรมของเห็ดมีความคล้ายคลึงกับสัตว์มากกว่าพืช และที่สำคัญเห็ดไม่มีคลอโรฟิลล์หรือสารสีเขียวที่ใช้ในการสังเคราะห์แสง ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงจัดจำแนกเห็ดออกมาเป็นสิ่งมีชีวิตอีกกลุ่มหนึ่งที่แยกจากพืชและสัตว์ มนุษย์ได้รู้จักการใช้ประโยชน์จากเห็ดมานับพันปี ตัวอย่างเช่น ในประเทศจีนมีการใช้เห็ดหลินจือในการบำรุงกำลังและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายมามากกว่า ๓,๐๐๐ ปี นอกจากนี้ หลักฐานทางประวัติศาสตร์พบภาพเขียนบนผนังถ้ำในเม็กซิโกว่ามีการใช้เห็ดในการประกอบพิธีกรรมและการเฉลิมฉลอง เพื่อทำให้เกิดการเข้าภวังค์ หรือการเข้าทรง เห็ดในกลุ่มนี้คือเห็ดขี้วัว (Copelandia cyanescens) และเห็ดขี้ควาย (Panaeolus papilionacceus) บางชนเผ่าในเม็กซิโกนำเห็ดนี้ให้นักรบกิน เพื่อที่จะทำให้นักรบมีพลังต่อสู้อย่างบ้าคลั่ง เห็ดกลุ่มนี้มีสาระสำคัญ ๒ ชนิด คือ ไซโลไซบินและไซโลซิน ทั้ง ๒ ชนิดจัดเป็นสารพิษที่ทำให้เกิดประสาทหลอน จากการค้นพบมัมมี่ของมนุษย์ที่ถูกแช่แข็งอยู่ในหิมะเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ นักวิทยาศาสตร์ได้ประมาณไว้ว่ามัมมี่นี้น่าจะมีอายุไม่น้อยกว่า ๔,๐๐๐ ปี ที่สำคัญคือมนุษย์คนนี้มีล่วมยาติดตัว ซึ่งในล่วมยามีเห็ดชนิดหนึ่ง ชื่อว่า "พิปโทพอรัส" (Piptoporus betulinus) อยู่จำนวน ๒ ก้อน ซึ่งเห็ดชนิดนี้เมื่อทำการตรวจสอบคุณสมบัติพบว่า มีคุณสมบัติเป็นยาปฏิชีวนะ เมื่อกินเห็ดชนิดนี้จะทำให้อาการท้องเดินหยุดได้อย่างรวดเร็ว นักวิจัยสันนิษฐานว่ามนุษย์น้ำแข็งมีอาการป่วยจากการมีพยาธิอยู่ภายในลำไส้ ซึ่งก่อให้เกิดอาการท้องเดินและได้มีการใช้เห็ดชนิดนี้ในการกำจัดพยาธิ (Halpern and Miller, 2002)

สังคมในอดีตของบางประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย จีน กรีซ เม็กซิโก และละตินอเมริกัน เชื่อว่าการกินเห็ดจะทำให้ร่างกายแข็งแรงกว่าคนปกติ และเชื่อว่าการได้กินเห็ดจะทำให้จิตวิญญาณเข้าถึงพระเจ้า การใช้เห็ดเป็นยาพบได้หลายประเทศ ในแถบเอเชียมีการใช้เห็ดหอม (Lentinus edodes) หรือที่เรียกว่า "ชิตาเก" (Shitake) เป็นยาลดไขมันในหลอดเลือดและความดันเลือด นอกจากนี้ ยังใช้ในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและการเจริญของเนื้องอกได้ด้วย ในปัจจุบันได้มีการสกัดสาร "เลนติแนน" จากเห็ดหอมใช้เป็นยารักษามะเร็ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับในสหรัฐอเมริกา หลายศตวรรษมาแล้วเชื่อกันว่าเห็ดเป็นยาโด๊ปที่ดีชนิดหนึ่ง ดังเช่นในช่วงที่ประเทศจีนเปิดประเทศใหม่ๆ ได้มีการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันหลายรายการ นักกีฬาของจีนสามารถทำลายสถิติในกีฬาหลายประเภท ทำให้วงการกีฬาสงสัยว่านักกีฬาจีนบำรุงร่างกายด้วยอะไร ปรากฏว่านักกีฬาจากจีนกินเห็ดชนิดที่เรียกว่า "คอร์ไดเซป" (Cordyceps sinensis) ปัจจุบันมีการผลิตจำหน่ายอย่างแพร่หลาย มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าเห็ดหลายชนิดมีคุณสมบัติเป็นยาปฏิชีวนะ แต่เมื่อกินแล้วมีคุณสมบัติเป็นยาระบายอย่างอ่อนๆ การใช้เห็ดเป็นยารักษาโรคต่างๆ ในคนมีการใช้อยู่ในหลายประเทศทั้งแถบตะวันตก เอเชีย และอินเดียนแดง จากรายงานพบว่ามีการนำไปใช้รักษาหลายโรค ได้แก่ ท้องร่วง ไตพิการ โรคเรื้อน หอบหืด น้ำดีพิการ เป็นต้น (Hobbs, 1998)

ตัวอย่างเห็ดที่ใช้เป็นยาได้แก่ เห็ดหิ้งและเห็ดขอน ชนิด Fomes fomentarius, Phellinus igniarius, Fomitopsis pinicola, Phellinus pomaceus, Formitopsis officinalis และ Piptoporus betulinus ซึ่งใช้ในการห้ามเลือดและปิดแผล จากการศึกษาพบว่าสารที่อยู่ในเห็ดเหล่านี้มีคุณสมบัติต่อต้านแบคทีเรีย ระงับการเกิดเนื้องอก และสร้างภูมิคุ้มกันได้ (Hobbs, 1998) นอกจากนี้ เห็ดในกลุ่มเห็ดจาวมะพร้าว เช่น Calvatia gigantean และ C. bovista ให้คุณสมบัตินี้เช่นกัน Porcher (1854) รายงานว่า Lactarius deliciosis ใช้เข้ายารักษาวัณโรคในประเทศฝรั่งเศสได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ จากรายงานของ Rowan, Smith and Sullivan (2002) พบว่ามีการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่ามีเห็ดอย่างน้อย ๗ ชนิดที่มีประสิทธิภาพในการลดไขมันและโคเลสเตอรอลในหลอดเลือดได้ ซึ่งได้แก่ เห็ดหูหนู (Auricularia auricular) เห็ดคอร์ไดเซป (Cordyceps sinensis) เห็ดหลินจือ (Ganoderma lucidum) เห็ดขอนช้อนซ้อน (Grifola frondosa) เห็ดนางรม (Pleurotus ostreatus) เห็ดหูหนูขาว (Tremella fuciformis) และเห็ดหอม (Lentinus edodes) 

สาระสำคัญที่พบในเห็ด ได้แก่ เทอร์พีนอยด์และบีตา กลูแคน ที่เป็นตัวช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้อย่างสมดุล นอกจากนี้ ยังพบว่าสารจากเห็ดมีผลต่อพรีไบ-โอติก (Prebiotics) ที่อยู่ในระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดสารที่เรียกว่า "สารสร้างสมดุล" (adaptogens) สารนี้จะช่วยทำให้เกิดสมดุลในร่างกายเมื่อเกิดความเครียด ประเทศจีนและญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีการใช้เห็ดเป็นยามากที่สุด แต่ปัจจุบันประเทศที่เริ่มมีการพัฒนาใช้เห็ดเป็นยามีเพิ่มมากขึ้น เช่น เกาหลี และสหรัฐอเมริกา
เห็ดที่นิยมนำมาใช้เป็นยาและมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนได้แก่ เห็ดหอม (Shitake) เห็ดหลินจือ (Reishi) เห็ดช้อนซ้อน (Maitake) เห็ดนางรม (Oyster) เห็ดเข็มทอง (Enokitake) การใช้และสรรพคุณ (ตารางที่ ๑) สำหรับในประเทศไทยมีการกินเห็ดกันมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากรายงานของ อุษา กลิ่นหอม และคณะ (๒๕๔๗) พบว่าเห็ดที่คนอีสานบริโภคมีถึง ๔๘๓ ชนิด และมีจำหน่ายในท้องตลาด ๒๒๒ ชนิด แต่การศึกษาเห็ดเป็นยายังมีน้อยมาก ส่วนใหญ่องค์ความรู้การใช้เห็ดเป็นยาที่มีอยู่มักเป็นองค์ความรู้แบบพื้นบ้าน



จากการศึกษาตำรับยาอีสานและการสัมภาษณ์หมอพื้นบ้านพบว่ามีการนำเอาเห็ดไปใช้เป็นยาและส่วนประกอบของยาพื้นบ้านไม่น้อยกว่า ๑๖ ชนิด ดังรายละเอียดตามตารางที่ ๒ เนื่องจากองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้เห็ดเป็นยาในการรักษาโรคมะเร็งยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง และเลือกที่จะรักษาตนเองโดยการกินแบบมังสวิรัติ ไม่นิยมกินเห็ดแทนเนื้อสัตว์ เนื่องจากทราบว่าเห็ดมีโปรตีนสูง ซึ่งจะมีผลต่อการกระจายตัวของเซลล์มะเร็ง ในตำรับยาพื้นบ้านเชื่อว่าเห็ดช่วยป้องกันโรคมากกว่าการรักษา ซึ่งจะเห็นได้จากความเชื่อและแนวปฏิบัติว่าถ้าได้กินแกงเห็ดรวมตั้งแต่ ๓ ชนิดขึ้นไป โดยเฉพาะเห็ดป่าจะเป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน การแกงเห็ดป่ากินควรใส่ข้าวสารลงไปในหม้อแกงด้วยประมาณ ๑ กำมือ เพราะถ้ามีเห็ดพิษปนอยู่ข้าวจะเปลี่ยนสีไป ซึ่งจะทำให้ทราบว่ามีเห็ดพิษปนเปื้อนอยู่ในหม้อแกงหรือไม่ ในการศึกษาพบว่าคนอีสานมีการใช้เห็ดเป็นยาได้หลายชนิด ดูตารางที่ ๒



จากการศึกษาของภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พบว่ากลุ่มเห็ดผึ้ง (Boletous) ทุกชนิดที่กินได้ มีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อวัณโรค และจากการศึกษาทั้งในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และสหรัฐอเมริกา พบว่าสาระสำคัญที่ให้คุณสมบัติในการเป็นยากระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันคือสารโพลีแซ็กคาร์ไรด์ที่อยู่ในดอกเห็ด ซึ่งสารนี้จะมีอยู่มากในเห็ดที่เมื่อนำมาต้มแล้วมีน้ำที่มีลักษณะเป็นเมือกออกมา ได้แก่เห็ดระโงกส้ม (Amanita caesarea) เห็ดระโงกเหลืองขาขน (A. hemibapha) เห็ดผึ้งทาม (Boletus colossus) และเห็ดตะไคขาว (Russula delica) เป็นต้น บางครั้งประชาชนมีการเก็บเห็ดพิษปนเปื้อนมากินก่อให้เกิดความผิดปกติของร่างกาย โดยการอาเจียนอย่างรุนแรง ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสานมีวิธีการรักษาอาการผิดปกติเหล่านี้อย่างน้อย ๘ วิธี ตามตารางที่ ๓ 


นอกจากนี้ ยังมีเห็ดหิ้ง (Polyporous) อีกหลายชนิดที่ใช้เป็นยาได้ โดยมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน และมีแนวโน้มของการใช้ในระบบการแพทย์แผนปัจจุบัน ได้แก่ เห็ดขอนหลากสี (Tarmetes visicolor) โดยมีการใช้น้ำสกัดจากเห็ดชนิดนี้ให้ผู้ป่วยที่ผ่านการฉายแสงดื่ม พบว่าผู้ป่วยมีการฟื้นตัวได้เร็วขึ้น อุตสาหกรรมการผลิตเห็ดขอนหลากสีเป็นยาเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ โดยประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้นำในการผลิตใช้เป็นยาต่อต้านมะเร็ง โดยมียอดจำหน่ายประมาณปีละ ๕๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากปัจจุบันประชาชนมีการใช้สารปฏิชีวนะมากเกินไปซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ ทำให้อยู่ในภาวะดื้อยา เห็ดจึงเป็นทางเลือกที่ดีอย่างหนึ่งสำหรับอนาคต เพื่อทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ได้ค้นพบวิธีการใหม่ในการศึกษาสารต้านอนุมูลอิสระในเห็ด ทำให้ทราบว่าเห็ดป่าหรือเห็ดที่เก็บมาจากธรรมชาติ มีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าในผักถึง ๔๐ เท่า นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าในอนาคตเห็ดจะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับการใช้เป็นยาในการรักษา และบำรุงสุขภาพ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพของเห็ดสูงมาก จึงควรให้ความสนใจในการศึกษาและพัฒนาสายพันธุ์เห็ดพื้นบ้านหรือเห็ดในท้องถิ่น เพื่อสุขภาพของคนไทยในอนาคต
ตำรับยาที่มีเห็ดเป็นส่วนประกอบ
ตามภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน 

ยาย้ายตุ่มหมากสุก เป็นตุ่มชนิดหนึ่งสีเหมือนหมากสุก เกิดเมื่อมีไข้
๑. ฮากแข้งขม (มะแว้ง) (Solanum indicum)
๒. เห็ดขี้ควาย (Psilocybe cubensis)
๓. ขนบั่วไก่ขาว (ขนที่มีลักษณะเป็นเส้นฝอยเล็กๆ ของไก่ขาว)
ฝนใส่น้ำหน่อไม้ส้ม (หน่อไม้ดอง) ทาดีแล
 
ยาแก้ตุ่มบ่ขึ้น 
เมื่อเป็นไข้แล้วควรมีตุ่มออกมาตามผิวหนังตามมา แต่ปรากฏว่าไม่มี ให้กระทุ้งด้วยยาตำรับนี้
ยานี้ให้เอาไข่เป็ด เห็ดขี้ควาย (Psilocybe cubensis) แช่น้ำทาดีแล


ยาแก้กินผิด กินของมีพิษ เช่น เห็ด พืช
๑. ฮาก (ราก) ถั่วเฮื้อ
๒. ฮากแตงหนู (Mukia maderaspatana)
๓. เห็ดเกิดกลางตอ (Ganoderma sp.)
๔. ฮากหมาน้อย (Cissampelos pareira var. hirsuta)
๕. ฮากย่านาง (Tiliacora triandra)
เอาทั้งหมดฝนใส่น้ำแล้วดื่ม
 
ยาแก้ฝีหัวคว่ำ
๑. ฮากปอ (Colona sp.)
๒. ฮากตาเสือ (Aphanamixis polystachya)
เอาฮากทั้งสองแช่น้ำดื่มดีแล ผิว่ามันแตกแล้วให้เอาเห็ดพิมาน ฝนดื่มดีแล
 
ยาแก้ทำมะลาตัวผู้จับกลางคอ ทำมะลาเป็นอาการที่เป็นตุ่มภายในหรือภายนอกคอ ยานี้ให้เอาฝนทาดีแล
๑. เห็ดพิมาน (Phellinus rimosus)
๒. หัวอิลุมปุมเป้า (ว่านพระฉิม) (Dioscorea bulbifera)
๓. ฮากตดหมา (Paederia thorelii)
๔. ปลวกจับลำไม้
๕. เขืองใหญ่ (Smilax sp.)
๖. ฮากหมากแตก (กระทงลาย) (Celastrus paniculata)
๗. ฮากหวดข้า (มะหวด) (Lepisanthes rubiginosa)
 
ยาแก้กะบูนลม เป็นโรคที่เป็นได้ทั้งหญิงและชาย มีอาการเป็นก้อนลมในท้อง
๑. เปลือกประดงแดง (Dalbergia lanceolaria var. errans)
๒. เห็ดแดง (Ischnoderma benzoinum)
แช่น้ำ ใช้ทั้งดื่มและอาบ
 
ยาแก้สะเออะ หายใจติดขัด กะบังลมหดตัว
๑. ลูกขอขอด (ขอแขวนคอวัวควาย)
๒. ตีนเห็ดกระด้าง (Lentinus polychrous)
๓. ใบแสงเบื่อ (แสลงใจ) (Strychnos nux-vomica.)
๔. หนังแฮด (หนังแรด)
ฝนดื่มดีแล
 
ยาแก้สะเออะ (สะอึก) เอาเห็ดพิมาน ฝนดื่มดีแล


ยาแก้เจ็บในท้อง
๑. ตีนเห็ดบด (เห็ดที่ยังสดอยู่) (Lentinus polychrous)
๒. เกล็ดเต่าเพ็ก
ต้มดื่มดีแล
 
ยาแก้เจ็บในท้อง
๑. ตีนเห็ดปลวก (Termitomyces albiceps)
๒. เห็ดตากฝนหรือเห็ดโต่งฝน (เป็นชื่อเห็ดครีบชนิดหนึ่ง ดอกมีขนาดใหญ่ ยังไม่ได้ทำการจำแนกชนิด)
แช่น้ำหรือฝนใส่น้ำเหล้าดื่มดีแล
 
ยาแก้ฟกช้ำภายใน อาการธาตุพิการ หรือการช้ำภายใน
๑. ฝุ่นบก (แก่นต้นกะบกที่บดเป็นผง)
๒. เห็ดบก (เห็ดที่เกิดกับตอต้นกะบกที่ตายแล้ว)
๓. หัวบัวบก
๔. บกคาย
๕. บกหวาน
๖. เครืออีเลี่ยน (ชะเอมป่า)
แช่ดื่มและอาบ
 
ยาแก้งูขบ ยาให้เอาเห็ดกระด้าง เคี้ยวเป่าตั้งแต่หัวถึงเท้า
 
ยาแก้ขี้เข็บขบ (ตะขาบกัด) ยาให้เอา เห็ดกระด้าง ฝนทาดีแล
 
ยาแก้คนเบื่อ (โดนยาสั่ง)
๑. เล็บม้า
๒. เห็ดตอขาม (Ganoderma spp.) เป็นเห็ดที่เกิดกับตอต้นมะขาม
๓. เห็ดกับแก้ที่เกิดกับไม้ไผ่ (Schizophyllum commune)
เอาทั้ง ๓ มาฝนใส่น้ำดื่มดีแล
 
ยาแก้ล่องแก้ว  เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นวงกลม ขอบสูง มีน้ำเหลืองไหลซึมไม่ขาด น้ำเหลืองนั้นมีสีใส
๑. เห็ดพิมาน (Phellinus rimosus)
๒. ฮากหนามขี้แฮด
๓. ฮากก้างปลา
๔. ฮากตาไก้
๕. ฮากหยิกบ่ถอง
๖. ฮากเครือคันคาก
๗. เยื่อหมาก
๘. ใบบัว
เอาทั้งหมดบดให้เผาไฟ บดให้แหลกเอาน้ำมันงาเป็นน้ำกระสาย ทาดีแล
 
ยาแก้เบื่อเห็ด กะปู (ปูนา) แช่น้ำดื่มดีแล
 
ยาแก้เบื่อเห็ด เอากล้วยทะนีออง (น้ำหว้า) มาตำหมากส้ม (ใส่มดแดง) ให้กิน
 

น้ำฝรั่งสด



ครั้งนี้ดิฉันขอแนะนำให้คุณผู้อ่านมากินฝรั่งค่ะ เปล่านะคะ ดิฉันไม่ได้แนะนำอาหารฝรั่งที่พูดถึงคือผลไม้ที่ชื่อ “ฝรั่ง” ค่ะ ดิฉันเข้าใจว่าคงเป็นผลไม้ที่นำเข้ามาปลูกจากต่างประเทศ จึงตั้งชื่อไว้ให้รู้ว่าไม่ใช่ผลไม้พื้นเมือง ฝรั่งเป็นผลไม้ที่มีตลอดปี ราคาก็ไม่แพงมาก และปลูกได้ในทุกภาค จึงเป็นผลไม้ที่เหมาะสำหรับคนไทย
ในฝรั่งมีวิตามินซีมาก หากเทียบกับส้มและมะนาวในปริมาณเท่ากัน ฝรั่งจะมีวิตามินซีมากกว่า ในผลฝรั่งยังมีสารฟลาโวนอยส์ (flavonoids) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเชื่อว่าสามารถป้องกันโรคมะเร็งได้ และพบว่าที่เปลือกมีสารแทนนิน (tannin) ซึ่งทำให้ฝรั่งมีรสฝาด สารแทนนินมีประโยชน์ในการรักษาโรคท้องร่วงได้ แต่หากได้รับมากเกินไป ก็อาจจะทำให้ท้องผูกได้
นอกจากนี้ฝรั่งยังใช้ดับกลิ่นปาก หรือกลิ่นอาหารในปากได้ โดยมื้อไหนที่เรากินอาหารมีกลิ่นแรง ก็สามารถกินฝรั่งตามเพื่อดับกลิ่นได้ สมัยก่อนบ้านเราจะปลูกฝรั่งที่มีผลเล็กเรียกว่า ฝรั่งขี้นก เวลาสุกจะมีกลิ่นหอม ไส้ในจะออกสีแดงอ่อนๆ แต่สำหรับฝรั่งที่เรากินกันปัจจุบันนั้นเรียกว่า ฝรั่งสาลี่ มีผลใหญ่และเนื้อมาก แต่ถ้าพูดถึงความหอมหวานแล้ว แพ้ฝรั่งขี้นก...
ปัจจุบันเราแทบจะไม่เห็นฝรั่งขึ้นกว้างขายทั่วไป มีแต่ฝรั่งสาสี่ อาจจะเป็นเพราะคนนิยมปลูก เพราะลูกใหญ่เนื้อมาก คนเก่าคนแก่บอกว่าสมัยโน้นไม่ค่อยมีคนกินน้ำฝรั่งกันหรอก เพราะกินทั้งลูกอร่อยกว่า แต่ที่ทำให้กินกันเนื่องจากมีฝรั่งเหลือทิ้งไว้จนสุกมากมาย ด้วยความช่างคิดก็จะเอาเมล็ดออก แล้วหั่นเป็นชิ้นๆ นำไปตากแห้งแล้วเอาไปคั่วไฟอ่อนให้หอมแล้วเก็บไว้ เวลาจะกินน้ำฝรั่งก็ต้มนำ เอาฝรั่งแห้งใส่ลงไป เติมน้ำตาลและเกลือตามชอบ เท่านี้ก็ได้น้ำฝรั่งหอมชื่นใจ
สำหรับปัจจุบัน เรามีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมาย มีเครื่องปั่นอาหารสารพัดอย่าง ที่จะปั่นผลไม้ให้ละเอียดได้ทั้งกากและน้ำ หรือแยกกากแยกน้ำได้ การทำน้ำผลไม้ดื่มนั้น ควรทำและดื่มทันทีไม่ควรทิ้งไว้นานเป็นชั่วโมงๆ เพราะคุณค่าของวิตามินที่ได้จากน้ำผลไม้บางอย่างจะค่อยๆ สลายไป หากไม่ติดอร่อยหรือจะดื่มน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพ ควรดื่มน้ำผลไม้โดยไม่ต้องเติมน้ำตาลหรือเกลือ
 
วิธีทำ
ใช้ฝรั่งที่ผลมีสีเขียวอยู่ (อย่าใช้ฝรั่งสุก) ๑ หรือ ๒ ผล ไม่ต้องปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เอาเมล็ดออก ใส่เครื่องปั่น หากเป็นเครื่องปั่นที่ไม่แยกกากคุณอาจต้องเติมน้ำสุกสัก ครึ่งถึง๑ แก้ว ปั่นจนเนื้อฝรั่งละเอียดดี หลังจากนั้นกรองด้วยผ้าขาวบาง คุณก็จะได้น้ำฝรั่ง หรือหากมีเครื่องปั่นแบบแยกกาก คุณก็จะสะดวกมากขึ้น เพราะเพียงแต่ใส่ฝรั่งลงไปปั่น เครื่องก็จะแยกกาก เอาน้ำออกมาให้ดื่มได้เลย
สำหรับผู้ที่ต้องการรสหวาน รสเค็ม รสเปรี้ยว ก็คงต้องเติมน้ำตาล เกลือ หรือใส่น้ำมะนาวลงไปตามรสนิยมของแต่ละคน
สำหรับการดื่มน้ำฝรั่งนั้นเราอาจได้วิตามินเกลือแร่จากผลฝรั่ง แต่ใยอาหารที่อยู่ในผลไม้ที่กลายเป็นกากนั้นเราจะไม่ได้ อย่างไรก็กินทั้งผลประกอบด้วยก็จะดีนะคะ
 
 

กินอย่างไร...ป้องกันภัยโรคกระดูกพรุน


"...ปัญหาโรคกระดูกพรุนในทวีปเอเชียกำลังทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากประชาชนในภูมิภาคนี้มีอายุยืนยาวขึ้น ในอนาคตปัญหากระดูกสะโพกหักทั่วโลก    จากผลของโรคกระดูกพรุน ครึ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นในทวีปเอเชีย..."
                                                                                                        พระดำรัสสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์   
 
   
   "กระดูกพรุน" เป็นโรคที่เกิดจากความหนาแน่นหรือมวลของกระดูกลดต่ำลง (low bone density) มีผลทำให้โครงสร้างของกระดูกอ่อนแอและหักเปราะได้ง่ายแม้แต่การกระแทกเพียงเล็กน้อยหรือจากการดำเนินภารกิจประจำวันความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหักก็จะเพิ่มขึ้น โรคกระดูกพรุนไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า (ภัยเงียบ) จนกว่าจะมีการหักของกระดูกครั้งแรก โดยเฉพาะกระดูกบริเวณสะโพกและกระดูกแขนหรือข้อมือ ทำให้เกิดความเจ็บปวดทรมาน พิการและทำลายคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะผู้ป่วยที่กระดูกสะโพกหักและต้องได้รับการดูแลพยาบาลจากครอบครัวและผู้เกี่ยวข้องโดยตลอด นอกจากนี้กระดูกหักยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในผู้สูงอายุอีกด้วย

สถิติทั่วโลกประมาณการว่า ๑ ใน ๓ ของผู้หญิงที่มีอายุเกิน ๕๐ ปี จะเกิดภาวะกระดูกพรุน ขณะที่ภาวะนี้เกิดกับผู้ชาย ในอัตราส่วน ๑ ใน ๘ โดยมีรายงานใน ปี พ.ศ.๒๕๔๔ ว่าประชากรประมาณ ๑.๗ ล้านคน มีกระดูกสะโพกหักและคาดการว่าจะเพิ่มเป็น ๔ เท่า ในปี พ.ศ.๒๕๙๓ เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น โรคกระดูกพรุนสามารถตรวจวิเคราะห์และรักษาได้โดยง่าย นั่นคือ การวัดค่าความหนาแน่นของมวลกระดูก (bone mineral density-BMD) ซึ่งเป็นวิธีการที่ปลอดภัยและไม่เจ็บปวด ถึงแม้ว่าปัจจุบันมียาที่สามารถช่วยรักษาโรคกระดูกพรุน และลดภาวะกระดูกเปราะบางได้ถึงร้อยละ ๕๐ ภายในหนึ่งปีหลังจากเริ่มรักษา สิ่งสำคัญคือ ป้องกันการเกิดกระดูกหักในครั้งแรก ด้วยการเร่งสร้างมวลกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่วัยเด็กจนถึง ๓๕ ปี ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกินอาหาร และพฤติกรรมสุขภาพ

กระดูกต้องการสารอาหารก่อนอื่นต้องรู้ว่ากระดูกคืออวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายที่มีชีวิต เหมือนตับ เหมือนหัวใจ แต่คนทั่วไปมักไม่คิดเช่นนั้น คิดว่ากระดูกคือแกนอะไรสักอย่างที่อยู่ในร่างกายนิ่มๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยแท้จริงแล้วกระดูกมีการสร้างและสลายเกิดขึ้นตลอดเวลา มนุษย์เป็นสัตว์ ๒ เท้า กระดูกส่วนที่ทำให้มนุษย์ยืนตรงได้ โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง กระดูกขาแขน ถ้าบอกว่ากระดูกเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายอวัยวะทุกส่วนย่อมต้องการอาหารไปหล่อเลี้ยง กระ ดูกก็เช่นกัน

กระดูกมีส่วนประกอบเป็นสารอาหารหลัก คือ แคลเซียม กับ โปรตีน แคลเซียมเป็นแร่ธาตุหลักที่เข้าไปเกาะกับโปรตีนคอลลาเจนทำให้เกิดการยึดโยงระหว่างแคลเซียมและคอลลาเจน ขณะเดียวกันมีเกลือแร่ตัวอื่นเข้าไปเสริมด้วย ไม่ว่าจะเป็นฟอสฟอรัส แมกนีเซียม หรือฟลูออไรด์ แต่เวลาพูดถึงฟลูออไรด์จะนึกถึงฟัน และฟันก็คือกระดูกส่วนหนึ่งของร่างกาย

คนเราต้องการสารอาหารในการสร้างกระดูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาด้วยการดูดซึมสารอาหารจากแม่ วัยทารกจึงมีกระดูกที่อ่อน ยังไม่แข็งแรงเต็มที่ การเจริญเติบโตของกระดูกช่วงแรกในวัยเด็ก จะเป็นเรื่องของความยาว (สูง) มากกว่าความกว้างหรือความหนา สังเกตได้จากความสูงที่เห็นได้ แต่จริงๆ แล้วทั้ง ๒ กระบวนการเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน และพอถึงวัยหนึ่งที่ความยาวเริ่มชะลอหรือหยุดลง การสะสมมวลกระดูกหรือความหนาก็เพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยอายุ ๒๕-๓๕ ปี คือช่วงที่ร่างกายสร้างความหนาแน่นหรือสร้างมวลกระดูกได้สูงสุด หลังจากนั้นมวลกระดูกจะคงที่อยู่ระยะหนึ่งและค่อยๆ ลดลง 

โดยสรุปการเปลี่ยนแปลงของกระดูกมีอยู่ ๒ ช่วง คือ แรกเกิดถึงอายุ ๓๕ ปี และหลังอายุ ๓๕ ปี คล้ายรูปภูเขา จุด ๓๕ ปีคือจุดที่เป็นช่วงยอดเขา หลังจากนั้นก็จะลง อยู่ที่ว่าจะลงแบบชันหรือแบบช้าๆ ขึ้นกับวิถีชีวิตด้านสุขภาพ ดังนั้น วัยเด็กถ้าร่างกายไม่ได้สารอาหารที่ดีและเหมาะสม กระดูกก็ไม่แข็งแรง มีความหนาแน่นน้อย แต่ถ้าได้สารอาหารพร้อมครบถ้วน ก็จะเติบโตไปตามช่วงอายุที่เหมาะสม 
       
อาหารสร้างกระดูก
สารอาหารหลักๆ คือ โปรตีนกับเกลือแร่ทั้งหลายแต่โดยทั่วไปจะนึกถึงแคลเซียมเป็นตัวแรก แคลเซียมมีความสำคัญ แต่ก็ไม่ควรลืมสารอาหารชนิดอื่น แคลเซียมที่เข้าสูร่างกาย จะต้องอาศัยวิตามินอีกตัวหนึ่งเป็นตัวนำคือ วิตามินดี ถ้าไม่มีวิตามินดี ร่างกายไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมไปสร้างมวลกระดูกได้ บทบาทสำคัญของวิตามินดี คือ ทำให้แคลเซียมที่กินจากอาหาร สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่เซลล์และไปสะสมที่กระดูกได้มากขึ้น ดังนั้นความสำคัญของวิตามินดีและแคลเซียมจึงไม่ได้ยิ่งหย่อนกว่ากัน 
อีกนัยหนึ่ง วิตามินดีทำหน้าที่คล้ายๆ ฮอร์โมน เพราะจะคอยควบคุมสมดุลของแคลเซียมในร่างกาย ให้เป็นปกติ ซึ่งมีความสำคัญต่อการทำงานของกล้ามเนื้อต่างๆ เมื่อไหร่ที่แคลเซียมในเลือดลดต่ำ วิตามินดีจะทำงานโดยกระตุ้นการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารหรือการสลายแคลเซียมจากกระดูก คนในประเทศที่มีแสงแดดตลอดปี ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับวิตามินดีมากนัก เนื่องจากไม่เคยมีรายงานพบว่ามีภาวะพร่องวิตามินดี และอาจกลัวที่จะได้รับแสงแดดมากเกินไปด้วย ทำให้ชะล่าใจและ ไม่สนใจวิตามินดี กว่าจะรู้ตัวว่าขาดวิตามินดีอาจมีปัญหากระดูกพรุนแล้ว
       
"นม" อาหารของทุกวัย
โลกสร้างสิ่งมหัศจรรย์ คือมนุษย์ และสร้างอาหารที่เหมาะสำหรับมนุษย์ คือนมแม่ ซึ่งมีแคลเซียมและโปรตีนเป็นหลัก นมเป็นอาหารสำหรับทุกช่วงชีวิต ไม่ใช่เฉพาะวัยทารก  หรือวัยชรา คนเราสามารถดื่มนมได้ตลอดชีวิต เวลาดื่มนมไม่ได้มุ่งที่แคลเซียมอย่างเดียว เพราะนมมีสารอาหารอย่างอื่นที่ครบถ้วนสมบูรณ์ และเป็นประโยชน์ แต่อาจจะต้องปรับวิธีการดื่มนม เลือกชนิดและปริมาณของนมให้เหมาะสม คนเอเชียหรือคนไทยมีพันธุกรรมที่ขาดเอนไซม์สำหรับย่อยน้ำตาลในนม ทำให้บางคนดื่มนมแล้วท้องเสีย หรือดื่มแล้วท้องอืด ผายลม นี่คืออาการฟ้องว่าเราขาดเอนไซม์ตัวนั้น แต่สามารถปรับวิธีการหรือเวลาการดื่มนมได้ วิธีแก้ไขก็คือ ไม่ควรดื่มนมขณะท้องว่าง เพื่อไม่ให้เกิดการระคายเคืองกับเซลล์ผนังลำไส้จนทำให้ท้องเสีย แต่ให้ดื่มระหว่างหรือหลังมื้ออาหาร อีกวิธีหนึ่งคือดื่มทีละน้อย ทุกอย่างถ้าเริ่มทีละน้อยมักจะไม่แสดงอาการ ก็คือจะไม่ท้องเสีย และใช้เวลาค่อยๆ ปรับตัว หรืออาจเลี่ยงไปกินผลิตภัณฑ์  ที่มีคุณค่าอาหารใกล้เคียงกับนมคือ โยเกิร์ต ซึ่งการกินอาหารพวกนี้จะไม่แพ้ ไม่เกิดการระคายเคือง และยังช่วยทำให้ระบบลำไส้ดีขึ้น ถ้ามีข้อจำกัดเรื่องการดื่มนมและกินผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาจเนื่องจากราคาสูงไปสำหรับบางกลุ่ม หรืออาจไม่ชอบในกลิ่น รส ลองหันมาคิดถึงอาหารทั่วๆ ไปชนิดอื่นที่มีให้เลือกมากพอสมควรทั้งจากพืชและสัตว์
แคลเซียมจากสัตว์
กระดูกสัตว์กับกระดูกคนคล้ายกัน มีส่วนประกอบหลักคือ แคลเซียม ถ้ากินอาหารที่มีกระดูกสัตว์เข้าไปน่าจะใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน โดยมีนักวิจัยจากประเทศเดนมาร์ก รายงานว่าการดูดซึมแคลเซียมจากปลาตัวเล็กๆ ทั้งกระดูกให้ผลใกล้เคียงหรือด้อยกว่านมเล็กน้อย นอกจากปลาดังกล่าวแล้วอาจครอบคลุมถึงปลาอื่นๆ เช่น ปลา (ซาร์ดีน) กระป๋อง และสัตว์น้ำอื่นๆ เช่น หอย กุ้ง ปลาหมึก ที่พบว่ามีแคลเซียมมากพอควร รวมถึงสัตว์ตัวเล็กๆ ชนิดอื่น โดยเฉพาะที่นิยมกินในบางกลุ่มประชากร ไม่ว่าจะ กบ แย้ เขียด ที่นำไปตากแห้งแล้วกินได้ทั้งตัว เป็นต้น นี่คืออาหารของมนุษย์ อาจจะแตกต่างกันไปแต่ละชนชาติ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคือการอยู่รอดของชีวิต
โดยรวมแล้วนอกจากนม ผลิตภัณฑ์จากนมและปลาแล้ว การศึกษาการดูดซึมแคลเซียมจากสัตว์มีน้อยมาก จึงคาดว่าแคลเซียมจากสัตว์ได้รับการยอมรับโดยปริยาย
แคลเซียมจากพืช
อาหารจากพืชที่มีแคลเซียมส่วนใหญ่ ประกอบด้วย พืชเมล็ด ผักใบเขียว และเต้าหู้ พืชเมล็ด (ถั่ว และงา เป็นต้น) ถั่วต่างๆ มีแคลเซียมอยู่ปานกลางถึงสูงแตกต่างกันไป แต่ในกลุ่มนี้ก็มีสารเคมีบางตัวที่อาจจะขัดขวางการนำแคลเซียมไปใช้ เรียกว่าไฟเตต ซึ่งเป็นตัวขัดขวางเหล็กที่สำคัญด้วย อย่างไรก็ตามมีการวิจัยพบว่าแคลเซียมจากถั่วหลายชนิด เช่น ถั่วเหลือง ถั่วแดง ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ แต่โดยรวมแล้วน้อยกว่านม ส่วนงาซึ่งมีไฟเตตสูงกว่ามากยังไม่มีรายงานที่ชัดเจน
       
ผักใบเขียว
มีงานวิจัยในผักที่มีแคลเซียมสูง เช่น ผักตระกูลกะหล่ำหลายชนิด ได้แก่ คะน้าเทียบกับผักยอดนิยมของคนตะวันตก คือ ผักโขมฝรั่ง โดยนักวิจัยชาวอเมริกัน   Dr C Weaver พบว่าร่างกายนำแคลเซียม จากตระกูลผักคะน้าทั้งหลายไปใช้ได้เทียบเท่ากับนม ขณะที่แคลเซียมจากผักโขมฝรั่งใช้ได้น้อยมาก (น้อยกว่านม ๙ เท่า) ดังนั้นผักตระกูลกะหล่ำที่นิยมกินในประเทศไทย เช่น คะน้า กวางตุ้ง รวมถึง ผักกาดจอของภาคเหนือ นับเป็นแหล่งสำคัญของแคลเซียมสำหรับคนที่ไม่ดื่มนม ในผักหลายชนิดมีการสร้างสารขึ้นมาตัวหนึ่ง เรียกว่าออกซาเลต สารตัวนี้สามารถจับกับแคลเซียมทำให้ไม่สามารถถูกดูดซึมได้ดีเท่าที่ควร สาเหตุหลักที่ทำให้พบความแตกต่างระหว่างผักคะน้าและผักโขมฝรั่งในงานวิจัยดังกล่าว คือ ในผักโขมมีสารออกซาเลตสูง แต่คะน้ามีต่ำมาก ศาสตราจารย์นายแพทย์อารี วัลยะเสวี และ ศาสตราจารย์แพทย์หญิงสาคร ธนมิตต์ ทำวิจัยเรื่องนิ่วหลายสิบปีก่อน ที่จังหวัดอุบลราชธานี  พบว่าออกซาเลตเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เนื่องจากผักพื้นบ้านหลายชนิดของไทยมีออกซาเลตสูง ประกอบกับการกินเนื้อสัตว์ต่างๆ น้อยมากและดื่มน้ำน้อย ซึ่งก็เป็นสาเหตุสำคัญของการพบการเกิดนิ่ว แม้ว่าในผักดังกล่าวจะมีแคลเซียมสูงด้วย นี่จึงเป็นจุดด้อยของผักบางชนิด 

จากการศึกษาผักหลายชนิดที่น่าจะใช้เป็นแหล่งแคลเซียมและนิยมกินกันอยู่ทั่วไปในหลายภูมิภาคของไทย โดยนำมาวิเคราะห์หาแคลเซียมและออกซาเลต พบว่าหลายชนิดมีแคลเซียมสูง ขณะเดียวกันก็มีออกซาเลตสูงด้วย อาจนำมาแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่มดังนี้
กลุ่ม ๑ ผักที่มีแคลเซียมสูงและออกซาเลตสูงด้วย เช่น ใบยอ ชะพลู โขม (ขม) ไทย มะเขือพวง ยอดกระถิน 
กลุ่ม ๒ ผักที่มีแคลเซียมสูงและออกซาเลตปานกลาง เช่น กะเพรา กระเฉด ยอดแค ผักบุ้งจีน สะเดา
กลุ่ม ๓ ผักที่มีแคลเซียมปานกลางถึงสูงแต่ออกซาเลตต่ำ ได้แก่ คะน้า กวางตุ้ง  ขี้เหล็ก ตำลึง บัวบก ถั่วพู
ดังนั้น กลุ่มผักที่ร่างกายสามารถนำแคลเซียมไปใช้ประโยชน์ได้ดี จึงน่าจะเป็นกลุ่มที่ ๓ โดยอาจใช้ทดแทนในกรณีของผู้ที่ไม่สามารถดื่มนมได้
เต้าหู้ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งและเป็นแหล่งที่ดีของแคลเซียม
เต้าหู้ทำจากถั่วเหลือง ถั่วเหลืองมีแคลเซียมสูงก็จริง แต่น้ำที่สกัดถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้มีแคลเซียมน้อย แคลเซียมส่วนใหญ่อยู่ในกาก ในกระบวนการทำเต้าหู้ต้องมีการใส่แคลเซียมหรือแมกนีเซียมลงไปเพื่อตกตะกอนเป็นเต้าหู้ ดังนั้นแคลเซียมที่อยู่ในเต้าหู้จึงเป็นสารประกอบแคลเซียมที่ได้จากการใส่ลงไป ซึ่งมีการศึกษาแล้วว่าสามารถใช้ประโยชน์ได้ดีในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ถั่วเหลืองยังเป็นอาหารที่มีประโยชน์ มีสารที่คล้ายฮอร์โมนเพศหญิงไฟโตเอสโตรเจน ซึ่งเชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ขณะเดียวกันไม่มีไขมันที่เป็นอันตราย 
       
วิตามินดี
เรื่องของวิตามินดีนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้คาดหวังที่จะได้จากอาหาร เพราะร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้เองจากแสงยูวีที่มากระตุ้นสารชนิดหนึ่งคล้ายโคเลสเตอรอลที่ผิวหนังแล้วเปลี่ยนเป็นวิตามินดี แล้วร่างกายจึงนำวิตามินดีไปใช้ประโยชน์ ประเทศที่มีแสงแดดตลอดปีอย่างประเทศไทยและอีกหลายๆ ประเทศ ส่วนใหญ่ได้วิตามินดีจากแสงแดดมากกว่าจากอาหาร แหล่งอาหารที่มีวิตามินดี คือ ตับ น้ำมันตับปลา ปลาที่มีไขมันสูง จะเห็นว่าข้อจำกัดของวิตามินดีจากอาหารมีมากกว่าแคลเซียม
ประเทศที่ไม่มีแสงแดดตลอดปี จึงต้องมีการเสริมวิตามินดีลงในอาหารหลายชนิดโดยเฉพาะนม เพื่อป้องกันภาวะพร่องวิตามินดีที่อาจมีผลเสียต่อกระดูก หรือทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนที่จะเป็นภาระในด้านค่ารักษาพยาบาลในกรณีที่รัฐต้องเลี้ยงดู

ประเทศที่มีแสงแดดตลอดปีอย่างประเทศไทยก็ไม่ควรประมาท เพราะค่านิยมของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องการหลีกเลี่ยงแสงแดดอาจเป็นเพราะกลัวการเกิดมะเร็งผิวหนังหรือค่านิยมของการมีผิวขาว หรือหากจำเป็นต้องโดนแสงแดดก็มีการแนะนำให้ใช้ครีมกันแดดกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งมีงานวิจัยยืนยันว่าการใช้ครีมกันแดด ทำให้การสร้างวิตามินดีลดลง นี่คือปัญหาที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนั้นทุกคนจึงควรได้รับแสงแดดพอเพียง ที่สำคัญต้องเลือกเวลาให้ถูกต้อง เช่น แสงแดดตอนเช้า ที่ไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง ประมาณวันละ ๑๐-๑๕  นาที ขณะเดียวกัน ถ้าออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นก ๒ ตัว คือ ๑. ได้ออกกำลังกาย ๒. ได้แสงแดด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพกระดูก 

การที่เราบำรุงแต่แคลเซียม แต่เกิดภาวะพร่องวิตามินดี แคลเซียมที่กินเข้าไปก็ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าได้รับวิตามินดีมากเกิน เช่น จากการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอาจจะสะสมในร่างกายและทำให้เกิดอันตรายได้ เนื่องจากวิตามินดีที่ได้มากเกินจะทำให้แคลเซียมในกระดูกถูกสลายออกมามาก และแคลเซียม ที่สลายออกมาจะไปสะสมตามเนื้อเยื่อต่างๆ อย่างไรก็ตาม การได้รับวิตามินดีจากอาหารหรือโดยการสังเคราะห์ตามธรรมชาติดีที่สุด และจะไม่เกิดภาวะวิตามินดีเกินในร่างกาย หรือวิตามินดีเป็นพิษเด็ดขาด
       
โปรตีนจากอาหาร
โปรตีนทุกชนิดมีประโยชน์ทั้งสิ้น และเชื่อว่าโปรตีนจากสัตว์ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันพบว่าโปรตีนในสัตว์มีฟอสฟอรัส (ฟอสเฟต) สูง ทำให้เกิดภาวะความเป็นกรดในร่างกายสูงไปด้วย ถ้ากินโปรตีนจากสัตว์มากจะทำให้ร่างกายมีภาวะมีภาวะความเป็นกรดสูงมีผลเสียต่อกระดูก ขณะที่โปรตีนจากพืชมีความเป็นด่างและยังมี มีสารบางตัวเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ฮอร์โมน จากพืชหรือสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ เป็นต้น ดังนั้นควรได้รับโปรตีนจากพืชและสัตว์ในสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดความสมดุลของภาวะความเป็นกรด-ด่างของร่างกาย อาหารแต่ละชนิดมีคุณและโทษในตัวเอง หากกินไม่เหมาะสม จึงควรรู้ว่าอะไรกินแล้วไม่เกิดปัญหาต่อสุขภาพ 
       
การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ต่างกับการกินอาหารที่ได้สารอาหารครบถ้วนและถูกวิธี กระดูกเป็นโครงสร้างของร่างกายที่ถูกสร้างมาเพื่อการเคลื่อนไหวและรับน้ำหนัก ถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวหรืออยู่นิ่งๆ กระดูกก็จะไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร แต่ถ้าเมื่อไหร่มีการกระตุ้นโดยการเคลื่อนไหวที่มีการยกน้ำหนักตัว กระดูกจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบโดยการสร้างความแข็งแรงเพิ่มขึ้น นี่คือสาเหตุว่าทำไมคนเราจะต้องออกกำลังกาย และเป็นการออกกำลังกายในลักษณะที่ต้านแรงดึงดูดของโลก

การยกน้ำหนักตัว คือ การต้านแรงดึงดูดของโลก
การยกน้ำหนักตัว จะทำให้กระดูกพยายามที่จะสร้างตัวเองขึ้นมาให้แข็งแรง และทำหน้าที่ต่อไปได้ โดยการนำสารอาหารที่เรากินไปใช้ประโยชน์ ถ้าเรากินอาหารถูกต้องตามหลักโภชนาการทุกอย่าง แล้วเราอยู่นิ่งๆ กระดูกก็ไม่สร้างความแข็งแกร่ง การออกกำลังกายต้านน้ำหนัก โดยการยกน้ำหนักตัวที่ทำได้ง่ายที่สุดคือ การเดิน หรือการวิ่ง ดังนั้นการเล่นกีฬาทุกชนิดที่มีการเดินและการวิ่งล้วนมีประโยชน์ต่อความแข็งแกร่งของกระดูก
การออกกำลังกายสามารถทำได้ทุกชนิด ไม่จำเป็นต้องเน้นว่าต้องต้านแรงโน้มถ่วงของโลกเสมอไป เพราะการออกกำลังกายทุกประเภทมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยเสริมสร้างได้ทั้งกระดูกและกล้ามเนื้อ วิธีที่ง่ายที่สุด คือ เดินให้มากหน่อย หรือวิ่ง ทั้งนี้ควรให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของแต่ละคน และควรให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายประจำสม่ำเสมอ 

หมอนรองกระดูกเคลื่อน



โรคนี้พบได้บ่อยในคนหนุ่มสาว และวัยกลางคนที่ทำงานหนัก พบได้น้อยในคนอายุมากกว่า ๖๐ ปีขึ้นไป
หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน* เป็นโรคที่พบ ได้บ่อยในวัยหนุ่มสาวและวัยกลางคน ทำให้มีอาการปวดหลังและปวดขาเรื้อรัง ซึ่งสร้างความรำคาญ ความทุกข์ทรมาน และความวิตกกังวลให้ผู้ป่วยและญาติ แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีอันตรายร้ายแรง สามารถให้การดูแลรักษาให้อาการทุเลาและกลับมีคุณภาพชีวิตเป็นปกติได้ ส่วนน้อยที่เป็นรุนแรง ถึงขั้นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

                  
ชื่อภาษาไทย     หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน, หมอนรองกระดูกเคลื่อน
ชื่อภาษาอังกฤษ   Herniated disk, Herniated intervertebral disk
สาเหตุ
เกิดจากหมอนรองกระดูกที่เสื่อมตามอายุ  มีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อเส้นใยชั้นเปลือกนอก ปล่อยให้เนื้อเยื่อกระดูกอ่อนตรงกลางซึ่งมีลักษณะ คล้ายวุ้นแตก (rupture) หรือเลื่อน (herniation) ออกมากดทับรากประสาทและเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆ รากประสาท ทำให้เกิดอาการของโรคนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่มีประวัติการบาดเจ็บชัดเจน อาจเกิดจากแรงกระทบเพียงเล็กน้อยจากการทำกิจวัตรประจำวันหรือจากอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม ส่วนน้อยเกิดหลังจากได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน เล่นกีฬา อุบัติเหตุ ยกหรือเข็นของหนัก
                 
ผู้ที่เป็นเบาหวานหรือสูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากขึ้น เนื่องจากมีออกซิเจนในเลือดไปเลี้ยงหมอนรองกระดูกน้อยลง จึงเสื่อมได้ง่ายขึ้น ส่วนผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือทำอาชีพที่ต้องเข็นหรือยกของหนักก็เสี่ยงต่อการเกิดแรงกระทบต่อหมอนรองกระดูกทำให้เกิดโรคนี้ได้มากขึ้น
อาการขึ้นกับตำแหน่งของหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนและเส้นประสาทที่ถูกกด ส่วนใหญ่พบที่หมอนรองกระดูกบริเวณเอว (พบบ่อยในกลุ่มอายุ ๓๕-๔๕ ปี) ส่วนน้อยพบที่บริเวณคอ (พบบ่อยในกลุ่มอายุ ๔๐-๕๐ ปี) อาจมีอาการเกิดขึ้นฉับพลันรุนแรง หรือค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อยก็ได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีประวัติเกิดอาการหลังได้รับบาดเจ็บหรือยกของหนัก แต่ส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่ามีเหตุกำเริบจากอะไร
                 
รายที่หมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อน จะมีอาการปวดตรงกระเบนเหน็บ ซึ่งจะปวดร้าว เสียวๆ แปลบๆ และชาจากบริเวณแก้มก้นลงมาถึงน่องหรือปลายเท้า อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเวลามีการเคลื่อนไหว เวลาก้ม นั่ง ไอ จาม หัวเราะ หรือเบ่งถ่าย ในรายที่เป็นมากเท้าจะไม่ค่อยมีแรงและชา อาจถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ไม่ได้ หรือกลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่อยู่ มักพบเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น นอกจากในรายที่เป็นมากอาจมีอาการทั้ง ๒ ข้าง
                
รายที่หมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเคลื่อน จะมีอาการปวดบริเวณต้นคอ ปวดร้าว เสียวๆ แปลบๆ และชาลงมาที่ไหล่ แขน และปลายมือ มักมีอาการเวลาแหงนคอไปด้านหลัง หรือหันศีรษะไปข้างที่เป็น ถ้าเป็นมาก แขนและมืออาจมีอาการอ่อนแรง
การแยกโรค
อาการปวดรากประสาท (ปวดร้าว เสียวๆ แปลบๆ และชาลงแขนหรือขา) เนื่องจากรากประสาท ถูกกดทับ อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น  "โพรงกระดูกสันหลังแคบ" (spinal stenosis) มีอาการปวดหลังและปวดร้าวและชาลงขาข้างหนึ่ง แบบเดียวกับหมอนรองกระดูกเคลื่อน แต่มักพบในคนอายุมากกว่า ๖๐ ปี (อาจเริ่มเป็นตั้งแต่อายุ ๔๐ ปี โดยในช่วงแรกๆ อาจไม่มีอาการแสดงก็ได้) เกิดจากกระดูก   สันหลังเสื่อมตามอายุ และมีการหนาตัวของเอ็นรอบๆ โพรงกระดูกสันหลัง (spinal canal) ทำให้มีการตีบแคบของโพรงดังกล่าว ซึ่งจะค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อย ใช้เวลานานเป็นแรมปีหรือหลายปี จนในที่สุดเกิดการกดทับรากประสาทที่แยกออกมาจากไขสันหลังผ่านโพรงดังกล่าว ผู้ป่วยมักมีอาการปวดน่องเวลาเดินไปสักครู่ และทุเลาเมื่อหยุดพักร่วมด้วย อาการปวดหลังมักจะทุเลาเวลาก้มหรือนั่ง            
  "เนื้องอกไขสันหลัง" และมะเร็งที่แพร่กระจายไปที่ไขสันหลัง (เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง) ก็จะทำให้มีอาการปวดคอหรือปวดหลัง และปวดร้าวและชาลงแขนหรือ    ขา แต่จะมีอาการแขนหรือขาอ่อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ภายในเวลาไม่นาน นอกจากนี้ อาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ไข้เรื้อรัง น้ำหนักลดร่วมด้วย
 อื่นๆ เช่น  วัณโรคกระดูกสันหลัง อุบัติเหตุทำให้กระดูกสันหลังได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น
 การวินิจฉัย เบื้องต้นแพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ และการ ตรวจร่างกาย ที่สำคัญได้แก่ การทดสอบเหยียดขาตรงตั้งฉาก โดยให้ผู้ป่วยนอนหงาย แล้วจับเท้าข้างที่สงสัยค่อยๆ ยกขึ้น โดยให้หัวเข่าเหยียดตรง จะพบว่าผู้ป่วยไม่สามารถยกเท้าเหยียดตรงตั้งฉาก (ทำมุม ๙๐ องศา) กับพื้นได้เช่นคนปกติ หรือได้น้อยกว่าเท้าอีกข้างที่ปกติ เช่นได้เพียง ๗๐ องศา หรือ ๔๕ องศา เพราะผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเสียวตามหลังเท้าจนไม่สามารถฝืนทนเหยียดเท้าให้ตั้งฉากกับพื้น
                     
แพทย์มักจะทำการยืนยันการวินิจฉัยโดยการเอกซเรย์กระดูกหลัง ถ่ายภาพกระดูกหลังด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือถ่ายภาพรังสีไขสันหลังโดยการฉีดสารทึบรังสี (myelography)
การดูแลตนเองผู้ที่มีอาการปวดคอหรือปวดหลังเรื้อรัง หรือพบว่ามีอาการเสียวๆ แปลบๆ ปวดร้าวหรือชาลงแขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือ ๒ ข้าง หรือมีอาการบาดเจ็บที่คอหรือหลัง ควรไปปรึกษาแพทย์
                   
ถ้าพบว่าเป็นหมอนรองกระดูกเคลื่อน ก็ควรได้รับการดูแลรักษาอย่างจริงจัง และปฏิบัติตัวดังนี้
  • หลีกเลี่ยงอิริยาบถและกิจกรรมที่ทำให้อาการปวดกำเริบ ปรับท่าทางในการทำงานและการขับรถให้เหมาะสม
  • หมั่นบริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องให้    แข็งแรงด้วยท่าบริหารที่แพทย์แนะนำ
  • ลดน้ำหนักตัว
  • ขณะที่มีอาการปวดให้นอนหงายบนที่นอนแข็ง กินยาบรรเทาปวดและใช้น้ำอุ่นจัดๆ ประคบ
  • การรักษา

 ระยะแรกแพทย์จะให้การรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัดก่อน ได้แก่ การให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์เป็นหลัก ซึ่งนอกจากช่วยบรรเทาปวดแล้ว ยังลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ รอบๆ รากประสาท ทำให้อาการทุเลาได้ ในรายที่มีการตึงตัวหรือเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหลัง ให้ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยากล่อมประสาท เช่น ไดอะซีแพมร่วมด้วย
                   
ในรายที่มีอาการเกิดขึ้นฉับพลันและปวดรุนแรง แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยนอนพักในท่านอนหงายบนที่นอนแข็งตลอดเวลา (ลุกเฉพาะกินอาหารและเข้าห้องน้ำ) ๑-๒ วัน จะช่วยให้อาการทุเลาได้เร็ว ไม่ควรนอนติดต่อนานหลายวัน อาจทำให้กล้ามเนื้อหลังอ่อนแอ
                   
ในบางรายแพทย์อาจให้การรักษาทางกายภาพ- บำบัด (เช่น ประคบด้วยความเย็นและความร้อน ใช้     น้ำหนักถ่วงดึง) กระตุ้นปลายประสาทด้วยไฟฟ้า (TENS) การฝังเข็ม เป็นต้น
                   
ในบางรายแพทย์อาจให้ผู้ป่วยใส่ "เสื้อเหล็ก" หรือ "ปลอกคอ"
                  
ในรายที่มีอาการปวดมากและไม่สามารถบรรเทาด้วยยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์และยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล แพทย์อาจพิจารณาให้ยาแก้ปวดที่แรงขึ้น เช่น โคเดอีน (codeine) กาบาเพนทิน (gabapentin) เป็นต้น บางรายอาจให้เพร็ดนิโซโลน หรือฉีดสตีรยอด์เข้าบริเวณเนื้อเยื่อรอบๆ รากประสาทที่อักเสบเพื่อลดการอักเสบ
                 
ในรายที่ให้การรักษาด้วยยาและกายภาพบำบัด ๓-๖ เดือนแล้วไม่ได้ผล ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ หรือมีภาวะแทรกซ้อน (เช่น กล้ามเนื้อลีบ หรืออ่อนแรง มีอาการชามาก ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้) ก็อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อปลดเปลื้องการกดรากประสาท และอาจเชื่อมข้อต่อกระดูกสันหลังให้     แข็งแรงในรายที่มีการเลื่อนของกระดูกสันหลัง (spondylolisthesis) การผ่าตัดมีหลายวิธีรวมทั้งวิธีใช้กล้องส่อง (laparoscopic surgery)
ภาวะแทรกซ้อนถ้าปล่อยให้รากประสาทถูกกดรุนแรงอาจทำให้ขาชา เป็นแผลติดเชื้อง่าย กล้ามเนื้อ ขาลีบ ขาอ่อนแรง เดินลำบาก ถ่ายอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ หรือกลั้นอุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้
การดำเนินโรคผลการรักษา ส่วนใหญ่มักจะหายปวดและกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ สำหรับหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนที่ไม่รุนแรง อาการมักจะดีขึ้นภายใน ๔-๖ สัปดาห์ เนื่องจากหมอนรองกระดูกที่ไหลเลื่อนออกมาข้างนอก มักจะยุบตัวลงจนลดแรงกดต่อรากประสาทไปได้เอง
                 
โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด มีประมาณร้อยละ ๑๐-๒๐ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะได้ผลดี แต่มีประมาณร้อยละ ๑๐ ที่อาจมีอาการปวดเรื้อรังต่อไป ในรายที่เกิดภาวะแทรกซ้อนอยู่นานก่อนผ่าตัด อาการก็อาจไม่ดีขึ้นหลังผ่าตัด
การป้องกัน
๑. หมั่นออกกำลังกาย (เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน และบริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องให้แข็งแรง
๒. ระวังรักษาอิริยาบถ (ท่านอน ท่านั่ง ท่ายืน ท่ายกของ) ให้ถูกต้อง
๓. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก เข็นของหนัก การนอนที่นอนที่นุ่มเกินไป
๔. ควบคุมน้ำหนักอย่าให้เกิน
๕. ไม่สูบบุหรี่ อาจทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมเร็ว
ความชุก
โรคนี้พบได้บ่อยในคนหนุ่มสาว และวัยกลางคนที่ทำงานหนัก เช่น แบกหาม ยกของ เข็นของหนัก และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่หลังจากการเล่นกีฬา หรืออุบัติเหตุ พบได้น้อยในคนอายุมากกว่า ๖๐ ปีขึ้นไป 

ทอนซิลอักเสบ




มีอาการเจ็บคอเล็กน้อยถึงปานกลาง และไม่เจ็บตอนกลืน อาจมีอาการเป็นหวัด น้ำมูกใส ไอ เสียงแหบ มีไข้ ปวดศีรษะเล็กน้อย ตาแดง บางคนอาจมีอาการท้องเดินหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย  
    
อาการไข้และเจ็บคอ ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส  รวมทั้งไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่  ซึ่งอาการเจ็บคอจะเป็นเพียงเล็กน้อย  แต่ถ้ามีอาการเจ็บคอมาก  จนกลืนหรือพูดลำบาก  อาจมีสาเหตุจากทอนซิลอักเสบชนิดเป็นหนองจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง  ซึ่งต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง  มิเช่นนั้น  อาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
* ชื่อภาษาไทย  ทอนซิลอักเสบ, ต่อมทอนซิลอักเสบ
* ชื่อภาษาอังกฤษ  Tonsillitis
* สาเหตุ  ส่วนใหญ่เกิดจากไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้หวัด  ไข้หวัดใหญ่  รวมทั้งไวรัสอื่นๆอีกหลายชนิด
       
บางส่วนเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่หลายชนิด  เชื้อมีอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย  ติดต่อโดยการหายใจเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด  หรือโดยการสัมผัสถูกมือผู้ป่วย สิ่งของหรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนเชื้อที่ออกมากับน้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วย เมื่อนิ้วมือที่แปดเปื้อนเชื้อสัมผัสปากหรือจมูก เชื้อก็จะเข้าไปใน          คอหอยและทอนซิล
       
ที่สำคัญคือ การติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัส  กลุ่มเอ(group  A beta-hemolytic streptococcus) ซึ่งก่อให้เกิดทอนซิลอักเสบชนิดเป็นหนอง(exudative tonsillitis) ระยะฟักตัว ๒-๗ วัน
* อาการ
กลุ่มที่มีสาเหตุจากไวรัส มีอาการเจ็บคอเล็กน้อยถึงปานกลาง และไม่เจ็บมากขึ้นตอนกลืน อาจมีอาการเป็นหวัด น้ำมูกใส ไอ เสียงแหบ มีไข้ ปวดศีรษะเล็กน้อย           ตาแดง บางคนอาจมีอาการท้องเดินหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย  การตรวจดูคอจะพบผนังคอหอยแดงเพียงเล็กน้อยหรือไม่ชัดเจน ทอนซิลอาจโตเล็กน้อยมีลักษณะแดงเพียงเล็กน้อยหรือไม่ชัดเจน
       
ผู้ป่วยที่เป็นทอนซิลอักเสบชนิดเป็นหนอง จะมีอาการไข้สูงเกิดขึ้นฉับพลัน  หนาวสั่น  ปวดศีรษะ  ปวดเมื่อยตามตัว  อ่อนเพลีย  เบื่ออาหาร  เจ็บคอมากจนกลืนน้ำลายหรืออาหารลำบาก  อาจมีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่หู  บางคนอาจมีอาการปวดท้อง  หรืออาเจียนร่วมด้วย  มักจะไม่มีอาการน้ำมูกไหล ไอ  หรือตาแดง  แบบการติดเชื้อจากไวรัส  
       
การตรวจดูจะพบผนังคอหอยและเพดานอ่อน  มีลักษณะแดงจัดและบวม  ทอนซิลบวมโตสีแดงจัด  และมีแผ่นหรือจุดหนองสีขาวๆเหลืองๆติดอยู่บนทอนซิล  นอกจากนี้       ยังอาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองที่ใต้ขากรรไกรบวมโตและเจ็บ
* การแยกโรค
อาการไข้และเจ็บคอ  อาจมีสาเหตุที่พบได้บ่อยดังนี้
       
ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
 จะมีไข้ น้ำมูกใส อาการเจ็บคอพบในช่วง ๑-๒วันแรก  เป็นเพียงเล็กน้อย คล้ายๆ อาการคอแห้งผาก ทอนซิลมักไม่โตหรือโตเพียงเล็กน้อย ลักษณะแดงเพียงเล็กน้อยหรือไม่ชัดเจน
       
แผลแอฟทัส 
(แผลร้อนใน) จะมีอาการกลืนลำบากพูดลำบาก อาจมีไข้ร่วมด้วย  การตรวจดูคอจะพบแผลตื้นๆ ตรงบริเวณคอหอย ทอนซิลมักไม่โต อาการเจ็บคอจะเป็นอยู่ ๕-๑๐ วัน ก็จะทุเลาไปได้เอง
       
คอตีบ จะมีไข้ เจ็บคอ ไอเสียงแหบ หายใจลำบาก ตัวเขียว การตรวจดูคอ จะพบแผ่นหนองสีขาวปนเทาติดอยู่ที่บริเวณผนังคอหอยและทอนซิล จัดว่าเป็นโรคร้ายแรงที่ต้องรีบไปรักษาที่โรงพยาบาล
    
* การวินิจฉัยมักจะวินิจฉัยจากอาการแสดงและการตรวจดูคอ  ถ้าผนังคอหอยและทอนซิลมีลักษณะแดงเพียงเล็กน้อยหรือไม่ชัดเจน ก็มักมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส  
       
ถ้าทอนซิลบวมโต แดงจัด และมีแผ่นหรือจุดหนองติดอยู่บนทอนซิล  ก็มักจะมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อบีตาฮีโมโลติกสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ
ในรายที่ไม่แน่ใจแพทย์อาจต้องทำการตรวจหาเชื้อจากบริเวณคอหอยและทอนซิล  โดยใช้วิธีที่เรียกว่า "rapid strep test" ซึ่งสามารถทราบผลได้ในไม่กี่นาที ถ้าผลการตรวจไม่ชัดเจน  ก็อาจต้องทำการเพาะเชื้อซึ่งจะทราบผลใน ๑-๒ วัน
    
* การดูแลตนเอง
เมื่อมีอาการไข้และเจ็บคอ ควรทำการตรวจดูคอ โดยการอ้าปากกว้างๆ ใช้ไฟฉายส่องดูภายในลำคอ (ถ้าตรวจดูด้วยตนเองให้ใช้กระจกส่อง)

หากมั่นใจว่าเป็นการติดเชื้อไวรัส เช่น มีน้ำมูกใส  เจ็บคอเล็กน้อย ทอนซิลไม่โต  หรือโตเพียงเล็กน้อยและแดงไม่ชัดเจน ก็ให้การดูแลเบื้องต้นดังนี้
๑. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ
๒. ถ้ามีไข้สูงใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หลีกเลี่ยงการอาบน้ำเย็น กินยาลดไข้-พาราเซตามอลเป็นครั้งคราว
๓. ถ้าเจ็บคอมาก ควรกินอาหารอ่อน เช่น น้ำหวาน นม ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำซุป กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ (ผสมเกลือป่น ๑ ช้อนชา หรือ ๕ มล. ในน้ำอุ่น ๑ แก้ว) วันละ ๒-๓ ครั้ง

ควรไปพบแพทย์
  เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้  
๑. มีอาการเจ็บคอมาก  จนกลืนหรือพูดลำบาก
๒. หายใจหอบ
๓. ทอนซิลบวมแดงมาก  หรือพบมีแผ่นหรือจุดหนองบนทอนซิล
๔. มีน้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว  ต่อเนื่องกันเกิน ๒๔ ชั่วโมง
๕. มีไข้เกิน ๔ วัน
๖. ดูแลรักษาตนเอง ๔ วันแล้วยังไม่ทุเลา
๗. มีความวิตกกังวลหรือไม่มั่นใจในการดูแลตนเอง
    
* การรักษา 
แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัส
 ก็จะให้การรักษาตามอาการ (เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ แก้หวัด) ซึ่งมักจะหายได้ภายใน ๑ สัปดาห์
       
ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย นอกจากให้ยาบรรเทาตามอาการแล้ว  ก็จะให้ยาปฏิชีวนะรักษาด้วย เช่น เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน อาการมักทุเลาหลังกินยาปฏิชีวนะ ๔๘-๗๒ ชั่วโมง  แพทย์จะให้กินยาต่อเนื่องจนครบ ๑๐ วัน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
       
ในปัจจุบันการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะนับว่าได้ผลดี  มีน้อยรายที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดทอนซิล (tonsillectomy) ซึ่งจะทำเฉพาะในรายที่เป็นๆ หายๆ ปีละมากกว่า               ๔ ครั้ง จนเสียงานหรือหยุดเรียนบ่อย มีการอักเสบของหูชั้นกลางบ่อย หรือก้อนทอนซิลโตจนอุดกั้นทางเดินหายใจ
* ภาวะแทรกซ้อนกลุ่มที่มีสาเหตุจากไวรัส ส่วนใหญ่จะไม่มีภาวะแทรกซ้อน ส่วนผู้ที่เป็นไข้หวัด  ไข้หวัดใหญ่  ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ  ปอดอักเสบ เป็นต้น
       
ผู้ป่วยที่เป็นทอนซิลอักเสบชนิดเป็นหนอง อาจมีภาวะแทรกซ้อนดังนี้
๑. เชื้ออาจลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง ทำให้เป็นหูชั้นกลางอักเสบ จมูกอักเสบ  ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ ฝีที่ทอนซิล  
๒. เชื้ออาจเข้ากระแสเลือดแพร่กระจายไปยังที่ต่างๆ  ทำให้เป็นข้ออักเสบชนิดเฉียบพลัน  กระดูกอักเสบเป็นหนอง  เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
๓. ทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (autoimmun reaction) กล่าวคือหลังจากติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ ร่างกายจะสร้างสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ต่อเชื้อขึ้นมา  แล้วไปก่อปฏิกิริยาต้านทานเนื้อเยื่อของตนเอง ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง ได้แก่ ไข้รูมาติก (มีการอักเสบของข้อและหัวใจ หากปล่อยให้เป็นเรื้อรัง อาจทำให้เกิดโรคลิ้นหัวใจพิการ หัวใจวายได้) และ หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน (มีไข้ บวม ปัสสาวะสีแดง อาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้) โรคแทรกเหล่านี้มักเกิดหลังทอนซิลอักเสบ               ๑-๔ สัปดาห์
สำหรับไข้รูมาติก มีโอกาสเกิดขึ้นประมาณร้อยละ ๐.๓-๓ ของผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง
การป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงดังกล่าวสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการกินยาปฏิชีวนะให้ครบ ๑๐ วัน (แม้ว่าอาการจะทุเลาหลังกินยาได้ ๒-๓ วันไปแล้วก็ตาม)
       
* การดำเนินโรค
ถ้าเกิดจากไวรัส ส่วนใหญ่มักจะหายได้เองภายใน ๑ สัปดาห์ มีส่วนน้อยที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา

ถ้าเกิดจากแบคทีเรีย โดยเฉพาะบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ ถ้าได้ยาปฏิชีวนะที่ถูกกับโรค มักจะทุเลาหลังกินยา ๔๘-๗๒ ชั่วโมง แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะหรือได้ไม่ครบ (๑๐ วันสำหรับเพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน) ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
       
บางคนเมื่อหายดีแล้ว ก็อาจกำเริบได้เป็นครั้งคราว เมื่อร่างกายอ่อนแอ เช่น พักผ่อนไม่พอ เครียด เป็นต้น
       
* การป้องกัน
๑. รักษาสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง โดยการพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารที่มีประโยชน์
๒. เมื่อมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นทอนซิลอักเสบ (หรือมีไข้ เจ็บคอ) ควรพยายามอย่าอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย และระวังอย่าให้ผู้ป่วยไอหรือจามรด อย่าใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วย              และหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ เพื่อชะล้างเชื้อที่อาจติดมากับมือที่ไปสัมผัสถูกสิ่งของที่แปดเปื้อนของผู้ป่วย
       
* ความชุกอาการไข้ เจ็บคอ เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป
ส่วนทอนซิลอักเสบเป็นหนอง พบบ่อยในเด็ก อายุ ๕-๑๕ ปี อาจพบได้ประปรายในผู้ใหญ่ และพบได้น้อยในเด็กอายุต่ำกว่า ๒ ขวบ โรคนี้อาจติดต่อในกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันอย่าใกล้ชิดเป็นเวลานาน เช่น ในบ้าน ที่ทำงาน หอพัก โรงเรียน เป็นต้น