amazon

วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เอสแอลอี โรคภูมิต้านตนเอง



เอสแอลอีเป็นชื่อโรคที่เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษ (SLE) ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการอักเสบของเนื้อเยื่อแทบทุกส่วนของร่างกาย อันเป็นผลมาจากร่างกายมีการสร้างสารภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อต่างๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงเฉียบพลัน หรือเรื้อรังก็ได้ จำเป็นต้องรับการรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

- ชื่อภาษาไทย
เอสแอลอี
- ชื่อภาษาอังกฤษ
SLE, Systemic lupus erythematosus
- สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่าเป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองอย่างผิดปกติต่อเชื้อโรคหรือสารเคมีบางอย่าง ทำให้มีการสร้างสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ต่อเนื้อเยื่อต่างๆ จัดเป็นโรคภูมิต้านตนเอง (autoimmune) ชนิดหนึ่ง

บางครั้งอาจพบมีสาเหตุกระตุ้นให้อาการกำเริบ เช่น ยาบางชนิด (เช่น ซัลฟา ไฮดราลาซีน เมทิลโดพา ไอเอ็นเอช คลอร์โพรมาซีน เฟนิโทอิน ไทโอยูราซิล) การถูกแดด การกระทบกระเทือนทางจิตใจ ภาวะตั้งครรภ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังสันนิษฐานว่า อาจเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศหญิง (เนื่องจากพบมากในหญิงวัยหลังมีประจำเดือนและก่อนวัยหมดประจำเดือน) และกรรมพันธุ์ (พบมากในผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้)

อาการ
ที่พบได้บ่อยคือ มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดเมื่อยตามตัว ปวดและบวมตามข้อ ต่างๆ ซึ่งโดยมากจะเป็นตามข้อเล็กๆ (เช่น ข้อนิ้วมือ นิ้วเท้า) ทั้ง 2 ข้าง ทำให้กำมือลำบาก
อาการเหล่านี้จะค่อยเป็นค่อยไป เรื้อรังเป็นแรมเดือน

นอกจากนี้ มักพบผื่นหรือฝ้าแดงขึ้นที่ข้างจมูก ทั้ง 2 ข้าง มีลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อ เรียกว่า ผื่นปีก ผีเสื้อ (butterfly rash)

บางรายอาจมีอาการแพ้แดด กล่าวคือ เวลาไปถูกแดด ผิวหนังจะเกิดผื่นแดง และผื่นปีกผีเสื้อที่ข้างจมูกจะเห็นชัดเจนขึ้น อาการไข้และปวดข้อก็จะเป็นรุนแรงขึ้น

บางรายอาจมีจุดแดง (จุดเลือดออก) หรือมีประจำเดือนออกมากกว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นอาการระยะแรกของโรคนี้ก่อนมีอาการอื่นๆ บางครั้งแพทย์อาจวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอทีพี (ITP ซึ่งเป็นภาวะเลือดออกง่ายชนิดหนึ่ง)

บางรายอาจมีอาการผมร่วงมาก มีจ้ำแดงขึ้นที่ฝ่ามือ นิ้วมือนิ้วเท้าซีดขาวและเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำเวลาถูกความเย็น หรือมีภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก

ในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีอาการบวมทั้งตัว (เนื่อง จากไตอักเสบ) หายใจหอบ (เนื่องจากปอดอักเสบ ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด หรือหัวใจวาย) ชีพจรเต้นเร็วหรือเต้นไม่สม่ำเสมอ (เนื่องจากหัวใจอักเสบ)

ในรายที่มีอาการอักเสบของหลอดเลือดในสมอง อาจทำให้มีอาการผิดปกติทางสมอง เช่น เสียสติ ซึม เพ้อ ประสาทหลอน แขนขาอ่อนแรง ตาเหล่ ชัก หมดสติ และอาจเสียชีวิตภายใน 3-4 สัปดาห์
ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการกำเริบ เป็นๆ หายๆ เรื้อรังเป็นแรมปี
- การแยกโรค
เนื่องจากโรคนี้มีอาการแสดงได้หลากหลาย จึงอาจมีอาการคล้ายโรคอื่นๆ ได้มากมาย เช่น
♦ อาการไข้ (ตัวร้อน) ปวดเมื่อย ระยะแรกอาจคล้ายไข้หวัดใหญ่ (ระยะมีไข้ไม่เกิน 7 วัน) เมื่อเป็นเรื้อรังเป็นสัปดาห์ๆ หรือเป็นแรมเดือน ก็ต้องแยกจากโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น เอดส์ วัณโรค มะเร็ง เป็นต้น
♦ อาการปวดข้อนิ้วมือนิ้วเท้า ก็ต้องแยกจากโรคข้อรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis)
♦ อาการมีจุดแดงหรือโลหิตจาง ก็ต้องแยกจากโรคเลือดชนิดต่างๆ
♦ อาการบวม ก็ต้องแยกจากโรคไตอักเสบชนิดต่างๆ
♦ อาการหายใจหอบ ก็ต้องแยกจากปอดอักเสบ
♦ อาการทางสมอง ก็ต้องแยกจากโรคสมองอักเสบ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มาลาเรียขึ้นสมอง
- การวินิจฉัย
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ เช่น ตรวจเลือด พบแอนตินิวเคลียร์แฟกเตอร์ (antinuclear factor) และแอลอีเซลล์ (LE cell) ตรวจปัสสาวะอาจพบสารไข่ขาวและเม็ดเลือดแดง
นอกจากนี้ อาจต้องทำการตรวจเอกซเรย์ คลื่นหัวใจและตรวจพิเศษอื่นๆ

- การดูแลตนเอง
เมื่อมีอาการไข้เกิน 7 วัน ปวดตามข้อนิ้วมือนิ้วเท้าทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน พบมีผื่นปีกผีเสื้อที่ข้างจมูก ผมร่วง บวม หายใจหอบ ชีพจรเต้นเร็วหรือเต้นไม่สม่ำเสมอ มีจุดแดงขึ้นตามตัว ซีด (โลหิตจาง) อาการผิดปกติทางสมอง หรืออาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคเอสแอลอี ควรปฏิบัติ ดังนี้
♦ รับการรักษาจากแพทย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งอาจต้องกินยาติดต่อกันเป็นแรมปี หรือหลายๆ ปี
♦ หลังจากสามารถควบคุมอาการจนทุเลา (สงบ) แล้ว ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้เช่นปกติ ควรออกกำลังกายแต่พอควร ทำจิตใจให้สบายและหาทางผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีการต่างๆ (เช่น ทำสมาธิ สวดมนต์ เล่นโยคะ รำมวยจีน ฝึกชี่กง เป็นต้น)
♦ หลีกเลี่ยงการออกกลางแดด เพราะอาจทำให้อาการกำเริบได้ ถ้าจำเป็นต้องออกกลางแดด ควรกาง ร่ม ใส่หมวก ใส่เสื้อแขนยาว 
♦ เนื่องจากผู้ป่วยมักมีภูมิคุ้มกันต่ำ ควรพยายาม หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ เช่น อย่ากินอาหารหรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาด อย่าเข้าใกล้คนที่ไม่สบาย อย่าเข้าไปในบริเวณที่มีคนอยู่กันแออัด เป็นต้น
♦ ทุกครั้งที่รู้สึกไม่สบายหรือมีอาการผิดสังเกต ควรรีบไปพบแพทย์ที่รักษาก่อนนัด

การรักษา
ในรายที่เป็นไม่รุนแรง (เช่น มีเพียงไข้ ปวดข้อ ผื่นแดงที่หน้า) แพทย์อาจเริ่มให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (ยาที่ใช้รักษาโรคข้ออักเสบ) ถ้าไม่ได้ผลอาจให้ไฮดรอกซีคลอโรควีน (hydroxychloroquine) เพื่อช่วยลดอาการเหล่านี้

ในรายที่เป็นรุนแรง แพทย์จะให้สตีรอยด์ (เช่น เพร็ดนิโซโลน) ในขนาดสูงติดต่อเป็นสัปดาห์หรือหลายเดือน เพื่อลดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ เมื่อดีขึ้นจึงค่อยๆ ลดขนาดยาลง และให้ในขนาดต่ำเพื่อควบคุมอาการไปเรื่อยๆ อาจนานเป็นแรมปีหรือจนกว่าจะเห็นว่าปลอดภัย

ถ้าให้ยาดังกล่าวแล้วไม่ได้ผล แพทย์จะให้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ไซโคลฟอสฟาไมด์ (cyclophasphamide) อะซาไทโอพรีน (azathioprine) เป็นต้น

ในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น บวม หายใจหอบ มีอาการผิดปกติทางสมอง เป็นต้น จำเป็นต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล จนกว่าจะปลอดภัย จึงให้ผู้ป่วยกลับบ้านและนัดมาตรวจกับแพทย์เป็นระยะๆ

- ภาวะแทรกซ้อน
ที่สำคัญคือ ไตอักเสบ ปอดอักเสบ หัวใจอักเสบ หัวใจวาย ไตวาย ความผิดปกติของสมองและระบบประสาท ภาวะติดเชื้อร้ายแรง เป็นต้น

- การดำเนินโรค
ผลการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และความแข็งแรงของตัวผู้ป่วย บางรายอาจเกิดอาการรุนแรง จนมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเฉียบพลัน เสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่นาน
ในรายที่อาการไม่รุนแรง หลังการรักษาอาการมักจะสงบไปได้ แต่ก็อาจมีอาการกำเริบเป็นครั้งคราว ซึ่งต้องติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง
โดยทั่วไปถ้าผู้ป่วยมีชีวิตรอดจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้เกิน 5 ปี โรคก็มักจะไม่กำเริบรุนแรงและค่อยๆสงบไปได้ นานๆครั้งอาจมีอาการกำเริบสักที แต่จะไม่รุนแรงและสามารถมีชีวิตเยี่ยงคนปกติได้

- การป้องกัน
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ จึงยังไม่ทราบการป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้
ส่วนในรายที่เป็นโรคนี้แล้ว ควรหาทางป้องกันไม่ให้โรคกำเริบ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยหลีกเลี่ยงเหตุกำเริบ เช่น ความเครียด การออกกลางแดด การติดเชื้อ เป็นต้น (ดูในหัวข้อ "การดูแลตนเอง")

ความชุก
โรคนี้พบได้ประปรายทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ พบมากในช่วงอายุ 20-45 ปี และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 10 เท่า

บริโภคผักอย่างไร จึงจะปลอดภัย



ผักจัดได้ว่าเป็นอาหารที่หาได้ง่าย ราคาถูก และมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ เช่น มีสารอาหรประเภทเกลือแร่ วิตามิน รวมทั้งโปรตีน ในผักบางชนิดด้วย จึงช่วยทำให้ร่างกายสดชื่น ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ทำให้ไม่เจ็บป่วยง่าย
และผักเป็นอาหารประเภทหนึ่งที่มีเส้นใยสูง หมายถึง มีกากอาหารมาก จึงช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดโรคที่สำคัญๆ หลายโรค เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน ตลอดจนโรคความอ้วนอันเป็นบ่อเกิดของโรคต่างๆ
นอกจากนี้ผักหลายชนิดรวมทั้งส่วนต่างๆ ของพืชผักนั้นๆ ยังจัดว่าเป็นอาหารสมุนไพร ใช้รักษาโรคต่างๆ ได้ เช่น
  • โหระพา สะระแหน่ ใช้แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • หัวกระชาย ใช้แก้ปากเปื่อย บิดมีตัว
  • กระเทียม ใช้แก้อักเสบ ลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิตสูง ช่วยทำให้ระบบการย่อยอาหารดีขึ้น
  • บวบ ใช้แก้อาการเจ็บคอ คอแห้ง ท้องผูก
  • เมล็ดฟักทอง ใช้ขับพยาธิเข็มหมุดและฆ่าพยาธิตัวตืด พยาธิใบไม้ได้อีกด้วย
พิษภัยจากผัก
ในการกินผักให้เกิดประโยชน์นั้น เราจะต้องคำนึงถึงความสะอาดปลอดภัย ก่อนที่จะนำผักมาปรุงอาหาร กล่าวคือ ปราศจากพิษภัยที่อาจจะพบได้ในผักดังต่อไปนี้ คือ
1. เชื้อแบคทีเรีย ปัญหาที่เชื้อแบคทีเรียหรือตัวเชื้อโรคปนเปื้อนลงในผักนั้น อาจเกิดมาจากขั้นตอการผลิต การขนส่ง การเก็บ การปรุง และการจำหน่าย ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ตัวอย่างเช่น การขนส่งผักในบ้านเราทุกวันนี้ ผู้ขนส่งส่วนมากมิได้คำนึงถึงความสะอาดและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค นับตั้งแต่ภาชนะที่ใช้บรรจุ พาหนะที่ใช้ขนส่งไม่สะอาดเพียงพอ ไม่มีการปกปิด ตลอดจนสุขวิทยาส่วนบุคคลของคนงานที่ไม่ถูกต้อง เช่น มีอาการเจ็บป่วยหรือเป็นโรคติดต่อในขณะทำงาน การขาดความสนใจในเรื่องความสะอาดของร่างกาย เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป คือ การวางจำหน่ายผักบนพื้นดินที่มีผู้คนเดินผ่านไปผ่านมาจกสภาพต่างๆ เหล่านี้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนในผักได้ทั้งโดยทางตรง หรือผ่านสื่อต่างๆ เช่น ผู้สัมผัส ภาชนะอุปกรณ์ ตัวอาหาร สถานที่ รวมทั้งแมลงและสัตว์นำโรคต่างๆ
2. เชื้อไวรัส ผักที่ล้างไม่สะอาดหรือมีแมลงวันตอม ก็อาจจะพบเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กที่สุดได้ ตัวอย่างเช่น โรคไขสันหลังอักเสบ (โปลิโอ) โรคตับอักเสบ เป็นต้น
3. เชื้อรา ผักบางชนิดจัดอยู่ในประเภทอาหารแห้งด้วย เช่น พริก หอม กระเทียม ฯลฯ เมื่อได้รับความชื้นที่พอเหมาะ เชื้อราก็จะเจริญเติบโตได้ดี และสร้างสารพิษที่เรียกว่าอะฟลาทอกซิน ซึ่งไม่สามารถทำลายด้วยความร้อนขนาดหุงต้มได้ และหากเกิดการสะสมในร่างกายมากๆ ก็จะทำให้เป็นมะเร็งที่ตับได้
4. พยาธิ เกษตรกรที่นิยมใช้อุจจาระสดเป็นปุ๋ยรดผักเพื่อให้ผักเจริญงอกงามดี ถ้าอุจจาระสดนั้นมีไข่พยาธิปะปนอยู่ คนที่บริโภคผักที่ล้างไม่สะอาด หรือปรุงไม่สุก ไข่พยาธิก็จะเจริญเป็นตัวอ่อนอยู่ในลำไส้เล็ก และเป็นตัวแก่อยู่ในลำไส้ใหญ่ ในที่สุดไข่พยาธิก็จะออกมากับอุจจาระอีก ตัวอย่างเช่น โรคพยาธิเส้นด้าย พยาธิแส้ม้า พยาธิไส้เดือน เป็นต้น
5. ยาฆ่าแมลง ทุกวันนี้เราบริโภคผักกันเป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปของผักสด และผักแปรรูป เช่น ทำเป็นผักดอง ตลอดจนบรรจุเป็นอาหารกระป๋องจำหน่ายเป็นสินค้าออกต่างประเทศ ทำให้เกษตรกรที่ใช้ยาฆ่าแมลงปราบศัตรูพืชเก็บเกี่ยวผลผลิตของตนออกสู่ท้องตลาดก่อนถึงกำหนดวันเก็บ เพื่อให้ได้ราคาดีและทันต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากผักส่วนมากมีเนื้อเยื่ออ่อนมาก และมีน้ำอยู่ในลำต้นมากซึ่งน้ำจะถูกระเหยออกทางใบ ดังนั้นพืชผักจึงรับเอาเชื้อโรคพืชต่างๆ และสารพิษยาฆ่าแมลงไว้ในต้นได้ง่าย
การเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนกำหนดวันเก็บ จึงทำให้พบสารพิษฆ่าแมลงตกค้างบนผักเป็นจำนวนมาก จากการตรวจตัวอย่างผักที่วางขายในท้องตลาดโดยสาขาวิจัยวัตถุมีพิษกรมวิชาการเกษตร 120 ตัวอย่างพบสารพิษพวก Organophosporus Compound และ Chlorinated hydrocarbonsตกค้างอยู่ 11.7% และ 82.5% ตามลำดับ
แสดงให้เห็นว่า สารพิษฆ่าแมลงที่เกษตรกรไทยนิยมใช้อย่างกว้างขวางกับพวกพืชผักต่างๆ เป็นพวก Chlorinated hydrocarbons ซึ่งได้แก่BHC, DDT, Aldrin, Endrin, Dieldrin เป็นต้น สารพิษฆ่าแมลงประเภทนี้เป็น Persistent insecticide กล่าวคือ เป็นสารพิษฆ่าแมลงชนิดที่สลายตัวได้ช้ามาก ส่วนใหญ่เมื่อฉีหรือพ่นไปแล้วจะสลายตัวได้หมดในระยะ 2-5 ปี เมื่อผู้บริโภคกินผักที่มีสารเคมีสังเคราะห์ตัวนี้เข้าไปในร่างกายมากๆ จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง เริ่มด้วยอาการท้องร่วง เบื่ออาหาร ชีพจรเต้นผิดปกติ ปวดศีรษะ เจ็บคอ อ่อนเพลีย สั่นที่คอ หัว หนังตา มึนงง ชัก อัมพาตและตายในที่สุด
ด้วยเหตุนี้ ในบางประเทศจึงได้มีกฏหมายกำหนดค่าปลอดภัยของสารพิษฆ่าแมลงตกค้างบนผักไว้โดยให้ใช้ขนาดที่ถูกต้อง และทิ้งระยะเวลาของการฉีดครั้งสุดท้ายกับการเก็บผักไปขายให้นานพอที่สารพิษฆ่าแมลงตกค้างเหล่านั้นสลายตัวหมด
การลดพิษภัยจากผัก
เมื่อได้ทราบแล้วว่า การนำผักที่ไม่สะอาดปลอดภัยมาบริโภค อาจจะนำพิษภัยอะไรมาสู่ตัวเราแล้วจะมีวิธีการอย่างไรบ้างที่จะทำให้พิษภัยต่างๆ ลดลงหรือหมดไป สิ่งที่เราควรจะให้ความสนใจในเรื่องการลดพิษภัยจากผักก็คือ การเลือก การล้าง และการเก็บที่ถูกต้องตามหลักการทางสุขาภิบาลอาหาร ดังต่อไปนี้คือ
การเลือกผัก ควรจะพิจารณาในเรื่องต่อไปนี้ คือ
มีสภาพสด สะอาด ไม่เหี่ยวเฉาไม่ช้ำจนเกินไป หรือไม่มีสีเหลือง
ปราศจากเชื้อรา ซึ่งอาจจะมองเห็นเป็นเมือกลื่นๆ ตามใบ
อย่าเลือกซื้อผักที่มีใบสวยมาก ควรมีรูพรุนบ้าง เพราะรูพรุนแสดงว่า ชาวสวนฉีดพ่นยาไม่บ่อยเกินไป
ถ้าเป็นพวกผักกาด กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักชีฝรั่ง ถ้าหากว่าตรงก้านของมันมีผงสีขาวๆ เทาๆ แสดงว่ามันเสีย
ผักบางชนิดสะสมสารมีพิษไว้มาก เช่น ผักกาดขาว ดังนั้นควรหลีกลี่ยงซื้อผักประเภทรับประทานหัว เพราะผักประเภทนี้จะสะสมสารมีพิษไว้มากกว่าผักกินใบ
เลือกผักที่มีการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงน้อยที่สุด หรือไม่ได้ฉีดพ่นเลย เช่น หน่อไม้ กระถิน ชะอม ตำลึง หัวปลี ยอดแค แตงร้าน สะตอ ถั่วงอก ฟักทอง บวบ ใบชะพู ผักกูด สายบัว ฯลฯ
ถ้าสามารถเลือกรับประทานผักที่มีคุณค่าทางอาหารด้วยก็จะดี เช่น ผักชะอม มีผู้วิจัย พบว่า เป็นพืชที่มีจำนวนโปรตีนถึง 55.34 กรัม ในน้ำหนักแห้ง 100 กรัม ฟักทอง โดยเฉพาะเมล็ด มีโปรตีน 32.68 กรัม ในน้ำหนักแห้ง 100 กรัม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผักหลายชนิดที่มีสารอาหารประเภทวิตามินเอสูง ในขณะเดียวกันก็มีสารพิษฆ่าแมลงน้อยด้วย เช่น ใบโหระพา ใบยอ ใบแมงลัก ใบขี้เหล็ก ตำลึง ชะอม ยอดแค ยอดมะละกอ ตำลึง ชะอม เป็นต้น
การล้างผัก เมื่อเลือกซื้อผักมาแล้ว ก่อนรับประทานหรือนำมาปรุงอาหาร ควรนำมาล้างให้สะอาดเสียก่อน ในปัจจุบันนี้ได้มีผู้เสนอแนะวิธีการล้างผักมากมายหลายวิธีเพื่อลดปริมาณสารพิษฆ่าแมลงที่ตกค้างมากับผักให้ลดน้อยลง ซึ่งมีหลายวิธีดังต่อไปนี้คือ
1. การล้างผักโดยใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำอุ่น 1 กะละมัง (20 ลิตร) แช่ทิ้งไว้นาน 15 นาที จะลดปราณสารพิษได้ 90-95% เป็นวิธีที่ปลอดภัย หลังจากแช่ผักในสารละลายของโซเดียมไบคาร์บอเนตในน้ำแล้ว ควรนำผักไปล้างน้ำออกหลายๆ ครั้ง เพื่อชะเอาสารพิษตกค้างที่ผิวออกให้หมด แต่มีปัญหาว่า วิธีนี้จะทำให้วิตามินเอในผักสูญเสียไปบ้าง
2. การแช่ผักในน้ำผสมน้ำส้มสายชู ใช้น้ำส้มสายชูละลายน้ำความเข้มข้น 0.5% (น้ำส้มสายชู อสร. 1 ขวด/น้ำ 4 ลิตร) แช่ผักที่เด็ดแล้วนาน 15 นาที จะสามารถลดปริมาณสารพิษลได้ 60-84%
3. การแช่ผักในน้ำยาล้างผัก ใช้ความเข้มข้นประมาณ 0.3% ในน้ำ 4 ลิตร แช่ผักนานประมาณ 15 นาที จะลดปริมาณสารพิษฆ่าแมลงได้ 54-68% แต่วิธีนี้ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะน้ำยาล้างผักจะแทรกซึมเข้าไปในผักซึ่งอาจเป็นอันตรายได้
4. การเปิดก๊อกน้ำให้ไหลผ่าน ผักซึ่งเด็ดเป็นใบๆ ใส่ตะแกรงโปร่งเปิดน้ำให้แรงพอประมาณ ใช้มือช่วยคลี่ใบผัก ล้างนาน 2 นาที จะช่วยลดปริมาณสารพิษฆ่าแมลงลงได้ 54-63%
5. การแช่ผักในน้ำสะอาดควรล้างผักให้สะอาดจากสิ่งสกปรกด้วยน้ำครั้งหนึ่งก่อน และเด็ดเป็นใบๆ แช่ลงในอ่าง ใช้น้ำประมาณ 4 ลิตร แช่นาน 15 นาที จะลดปริมาณสารพิษฆ่าแมลงได้ 7-33%
6. การลวกผักด้วยน้ำร้อนจะลดปริมาณสารพิษได้ 50% ส่วนการต้มจะลดได้เท่ากับการลวกผัก แต่อีก 50% มีสารพิษออกมาจากผักอยู่ในน้ำแกง
7. การปอกเปลือกหรือการลอกชั้นนอกของผักออก เช่น กะหล่ำปลี ถ้าลอกใบชั้นนอกออกจะปลอดภัยมากกว่า
8. การใช้ผงปูนคลอรีนแช่ผักเพื่อฆ่าเชื้อโรคและทำลายไข่พยาธิ โดยการละลายผงปูนคลอรีนครึ่งช้อนชาต่อน้ำ 20 ลิตร แช่นาน 15-30 นาที จะฆ่าเชื้อโรคได้ดีมาก
การเก็บผัก พืชผักที่ล้างสะอาดแล้ว ควรเก็บให้ถูกต้องเพื่อเป็นการถนอมอาหารให้สดอยู่เสมอ และเป็นการป้องกันการปนเปื้อนจากเชื้อโรคก่อนที่จะนำมาบริโภค ดังนี้
1. เก็บไว้ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิระหว่าง 1.7-2 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสัมพัทธ์ระหว่าง 80-90% โดยใส่ภาชนะหรือถุงพลาสติกที่สะอาดไม่อัดแน่น และแยกประเภทกัน โดยมากมักเป็นพืชผักที่รับประทานใบ
2. เก็บไว้นอกตู้เย็นในภาชนะที่โปร่งสะอาด สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 75 ซม. มีการระบายอากาศดี ไม่อับชื้นมีสิ่งปกปิด เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและสัตว์นำโรค ได้แก่ พืชผักที่มีหัว เช่น หัวหอม หัวผักกาด กระเทียม เป็นต้น
จากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด เราจะเห็นได้ว่าพิษภัยจากสารพิษฆ่าแมลงในผักเป็นปัญหาที่สำคัญกว่าปัญหาอื่นๆ ฉะนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงต้องอาศัยความร่วมมือของบุคคล 3 ฝ่าย คือ เกษตรกร จะต้องมีความรู้เรื่องการใช้ยาฆ่าแมลงอ่างระมัดระวัง และไม่คำนึงถึงเฉพาะประโยชน์ส่วนตน เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องมีความรับผิดชอบ และออกกฏหมายควบคุมการใช้ยาฆ่าแมลงรวมทั้งสารพิษตกค้างของยาฆ่าแมลงบนพืชผัก และประการสุดท้าย ผู้บริโภคจะต้องมีความรู้ว่าจะบริโภคผักอย่างไรจึงจะปลอดภัย โดยมีความรู้เกี่ยวกับการเลือก การล้าง และการเก็บผักที่ถูกวิธี รวมทั้งช่วยกันปลูกผักสวนครัว หรือ “รั้วกินได้” บริเวณบ้านของตนเอง
การปลูกผักกินเองน อกจากจะประหยัดแล้ว ยังมีประโยชน์มากมายเหนืออื่นใด คือ ความปลอดภัย ซึ่งจะทำให้เรารับประทานผักได้มากขึ้น

แผลงูพิษกัด


แผลงูพิษกัด
  1. ดูรอยแผล ถ้างูไม่มีพิษ แผลจะเป็นรอยถลอก ให้ ทำแผลแบบแผลถลอก ถ้าแผลไม่ลุกลาม หรือไม่มีอาการอื่น ไม่ต้องไปหาหมอ แผลจะหายเอง. ถ้างูมีพิษจะมีรอยเขี้ยว (คล้ายเข็มฉีดยา) 1 หรือ 2 จุด (ดังรูป) หากสงสัยถูกงูพิษกัด ให้รักษาตามข้อ 2-7.
  2. พูดปลอบใจ อย่าให้กลัวหรือตกใจ, ให้นอนนิ่งๆ, ถ้าจำเป็นให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุด (อย่าเคลื่อนไหวส่วนที่ถูกกัดถ้าไม่จำเป็น).
  3. ห้ามดื่มเหล้า, ยาดองเหล้า หรือยากล่อมประสาท.
  4. ห้ามใช้มีดกรีดปากแผล ห้ามบีบเค้นบริเวณแผล เพราะจะทำให้แผลช้ำ สกปรก และทำให้พิษกระจายเร็วขึ้น.
  5. ห้ามขันชะเนาะรัดแขนหรือขา เพราะจะเกิดอันตรายมากขึ้น (ถ้าจะรัดควรใช้ผ้ามากกว่าเชือก และอย่ารัดแน่นจนสอดนิ้วผ่านไม่ได้).
  6. รีบพาไปหาหมอ ถ้าเป็นไปได้ควรนำซากงูที่กัดไปด้วย แต่ผู้ป่วยไม่ควรพยายามตีงูเอง เพราะหลังถูกงูกัด ควรอยู่นิ่งๆ และให้คนอื่นตีงูแทน แต่ไม่ควรเสียเวลากับการตีงู ควรสังเกตสีและรูปร่าง ถ้ามองเห็น แล้วรีบไปโรงพยาบาล (อย่าเสียเวลากับงู).
  7. ถ้าหยุดหายใจ ให้ เป่าปากช่วยหายใจ (รูป ซ. วิธีเป่าปากช่วยหายใจ)
หมายเหตุ* บาดแผลในที่นี้หมายถึงบาดแผลที่ทำให้ผิวหนังฉีกขาด ผู้ที่จะทำแผลให้ผู้อื่นต้องไม่มีบาดแผลที่มือและแขนของตนเอง ถ้ามีถุงมือยางควรใส่ถุงมือด้วย.

เนื้องอกสมอง



เนื้องอกสมอง หมายถึง เนื้องอกที่เกิดขึ้นภายในกะโหลกศีรษะ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ เนื้องอกที่มีต้นกำเนิดจากเนื้อเยื่อที่อยู่ภายในกะโหลกศีรษะ ( เรียกว่า เนื้องอกสมองชนิดปฐมภูมิ) และมะเร็ง ที่แพร่กระจายมาจากนอกกะโหลกศีรษะ (เรียกว่า เนื้องอกสมองชนิดทุติยภูมิ)
เนื้องอกสมองทุกชนิดมักทำให้เกิดอาการปวดศีรษะแบบเรื้อรัง ส่วนวิธีการรักษาและผลการรักษาย่อมแตกต่างไปตามชนิด ขนาด และตำแหน่งของเนื้องอก
โรคนี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

⇒ ชื่อภาษาไทย เนื้องอกสมอง

⇒ชื่อภาษาอังกฤษ Brain tumor

⇒สาเหตุ

เนื้องอกสมองชนิดปฐมภูมิ
มีต้นกำเนิดมาจากเนื้อเยื่อภายในกะโหลกศีรษะ อาจเป็นที่กระดูก (กะโหลกศีรษะ) เยื่อหุ้มสมอง หลอดเลือด เนื้อเยื่อสมอง ต่อมใต้สมอง หรือเนื้อเยื่อส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ อาจเป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา (ไม่มีการลุกลามแพร่กระจายออกไปที่อื่นๆ) หรือเนื้องอกชนิดร้าย หรือมะเร็งก็ได้ ในปัจจุบันยังไม่ทราบว่ามีสาเหตุจากอะไร เชื่อว่าอาจเกี่ยวกับปัจจัยทางกรรมพันธุ์ (เนื้องอกสมองบางชนิดพบว่าเป็นพร้อมกันหลายคนในครอบครัวเดียว กัน) และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น รังสี คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า สารเคมี เป็นต้น แต่ตราบเท่าทุกวันนี้ยังพิสูจน์ไม่ได้ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกันหรือไม่ อย่างไร

เนื้องอกสมองชนิดทุติยภูมิ
เป็นมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากนอกกะโหลกศีรษะ ที่พบบ่อยก็คือ มะเร็งเต้านมและมะเร็งปอด นอกจากนี้ ยังอาจแพร่มาจากมะเร็งทางเดินอาหาร ไต ต่อมไทรอยด์ เม็ดเลือดขาว ต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น เนื้องอกสมองชนิดนี้มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป บางครั้งผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการของเนื้องอกสมองมากกว่าอาการของมะเร็งที่เป็นต้นกำเนิด

⇒ อาการ

ผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง โดยมีลักษณะเฉพาะคือ ปวดมากเวลาตื่นนอนตอนเช้า พอสายๆ ค่อยยังชั่วหรืออาจปวดมากเวลาล้มตัวลงนอน หรือเวลาไอ จาม หรือเบ่งอุจจาระ
อาการปวดศีรษะจะรุนแรงขึ้นทุกวัน จนผู้ป่วยต้อง สะดุ้งตื่นตอนเช้ามืด เพราะอาการปวดศีรษะ และจะปวดนานขึ้นทุกทีจนในที่สุดจะปวดตลอดเวลาซึ่งกินยาแก้ปวดก็ไม่ทุเลา
ระยะต่อมา (เมื่อก้อนเนื้องอกโตขึ้น) จะมีอาการอาเจียนร่วมกับอาการปวดศีรษะ ซึ่งอาจมีลักษณะอาเจียนพุ่งรุนแรงโดยไม่มีอาการคลื่นไส้นำมาก่อน
นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการตามัวลงเรื่อยๆ ลานสายตาแคบ (มองด้านข้างไม่เห็น ทำให้เดินชนโต๊ะหรือเกิดอุบัติเหตุขณะเดินหรือขับรถ) เห็นภาพซ้อน หรือตาเหล่ ตากระตุก เห็นบ้านหมุน เดินเซ มือเท้าทำงานไม่ถนัด แขนขาชาหรืออ่อนแรง ชัก (คล้ายโรคลมชัก) ความจำเสื่อม หรือบุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม

⇒ การแยกโรค 

ระยะแรกเริ่ม ซึ่งมีอาการปวดศีรษะเพียงอย่าง เดียว อาจทำให้คิดว่าเป็นเพียงสาเหตุธรรมดา เช่น 
o ปวดศีรษะจากความเครียด
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตื้อ หนักๆ ที่ขมับหรือหน้าผากทั้ง 2 ข้าง หรือทั่วศีรษะ ติดต่อกันนาน 30 นาที ถึง 1 สัปดาห์ โดยอาการปวดจะเป็นอย่าง คงที่ ไม่มีคลื่นไส้อาเจียน อาจเริ่มเป็นตั้งแต่หลังตื่นนอน หรือในช่วงเช้าๆ บางคนอาจปวดตอนบ่ายๆ หรือเย็นๆ หรือหลังจากได้คร่ำเคร่งกับงานมาก หรือขณะมีเรื่องคิดมาก วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ มักจะมีอาการเป็นๆ หายๆ เป็นครั้งคราว

oไมเกรนผู้ป่วยจะมีอาการปวดตุบๆ ที่ขมับข้างเดียว (ส่วนน้อยเป็นพร้อมกัน 2 ข้าง) คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่านาน 4-72 ชั่วโมง มักจะเป็นๆ หายๆ เมื่อถูกสิ่งกระตุ้น เช่น แสง เสียง กลิ่น อดนอน หิวข้าว อากาศร้อนหรือเย็นจัด อาหารบางชนิด เป็นต้น

ระยะที่เป็นมาก  คือมีอาการปวดรุนแรง อาเจียน เดินเซหรือชัก อาจต้องแยกจากสาเหตุที่ร้ายแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือฝีในสมอง (มักมีไข้ร่วมด้วย และเกิดขึ้นฉับพลันภายในไม่กี่วัน) เลือดออกในสมอง (มักมีประวัติได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะในระยะใกล้ๆ หรือนานเป็นเดือนๆ มาแล้วก็ได้)

⇒ การวินิจฉัยเบื้องต้น

แพทย์จะสงสัยโรคนี้จากอาการแสดงคือ ปวดศีรษะเฉพาะเวลาตื่นนอนตอนเช้า ซึ่งแรงขึ้นและนานขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวัน นานเป็นสัปดาห์ หรือมีอาการอาเจียน เห็นภาพซ้อน ตามัว หูอื้อ แขนขาชาหรืออ่อนแรง หรือชัก ร่วมด้วย
หากสงสัย จำเป็นต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์กะโหลกศีรษะ ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ตรวจคลื่นสมอง ตรวจชิ้นเนื้อสมอง เป็นต้น

⇒ การดูแลตนเอง
 
ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ถ้าหากมีอาการปวดศีรษะตอนเช้าๆ แรงและนานขึ้นทุกวัน นานเป็นสัปดาห์ หรือกินยาแก้ปวดไม่ทุเลา ก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาแต่เนิ่นๆ

⇒ การรักษา

เมื่อตรวจพบว่าเป็นเนื้องอกสมอง มักจะต้องรักษา ด้วยการผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออกไป ยกเว้นอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือเป็นมะเร็งที่ลุกลามมากแล้วก็อาจต้องรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แทน เช่น การผ่าตัดด้วยรังสีหรือมีดแกมมา (gamma knife)
ในรายที่เป็นมะเร็ง อาจต้องรักษาด้วยรังสีบำบัด (ฉายรังสี) ซึ่งอาจใช้เดี่ยวๆ หรือร่วมกับการผ่าตัดและบางกรณีอาจต้องใช้เคมีบำบัดร่วมด้วย
ในรายที่มีภาวะอุดกั้นของทางเดินน้ำหล่อสมองไขสันหลัง อาจต้องทำการผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำหล่อสมองไขสันหลัง (shunt operation)
 
⇒ ภาวะแทรกซ้อน

อาจมีเลือดออกเฉียบพลันในก้อนเนื้องอกสมอง ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรง หมดสติ แขนขาเป็นอัมพาตซีกหนึ่ง
ถ้าเป็นเนื้องอกที่อยู่ใกล้โพรงสมอง อาจโตจนอุดกั้นทางเดินน้ำหล่อสมองไขสันหลัง เกิดภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง (มีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน เดินเซ เป็นลม) และภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (hydrocephalus) ซึ่งถ้าเกิดขึ้นฉับพลันรุนแรงก็อาจทำให้เสียชีวิตแบบกะทันหันได้

⇒ การดำเนินโรค 

หากปล่อยไว้ไม่รักษา ก้อนเนื้องอกจะโตขึ้นกดเบียดเนื้อสมองหรือแพร่กระจาย ทำให้เกิดภาวะแทรก ซ้อนอันตรายได้
ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา ผลการรักษาขึ้นกับชนิด ขนาดและตำแหน่งของเนื้องอก อายุและสภาพของผู้ป่วย
ถ้าเป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา ขนาดเล็กและอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เป็นอันตราย การรักษาก็มักจะได้ผลดีหรือหายขาด
แต่ถ้าเป็นมะเร็งที่ลุกลามเร็ว หรือมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากที่อื่น ก็มักจะให้การรักษาแบบประทัง เพื่อลดความทุกข์ทรมาน ซึ่งส่วนใหญ่มักมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน

⇒ การป้องกัน

สำหรับเนื้องอกสมองชนิดปฐมภูมิยังไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร จึงยังบอกไม่ได้ว่าควรป้องกันอย่างไร
ส่วนเนื้องอกสมองชนิดทุติยภูมิ ถ้าเกิดจากมะเร็งปอด ก็ควรป้องกันโดยการไม่สูบบุหรี่

⇒ ความชุกโรค

นี้พบได้ในคนทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึง ผู้สูงอายุ ส่วนกลุ่มอายุที่พบบ่อยขึ้นกับเนื้องอกสมองแต่ละชนิด กล่าวโดยรวม โรคนี้พบได้บ่อยในกลุ่มอายุ 40-70 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากที่อื่น (เนื้องอกสมองชนิดทุติยภูมิ)
ส่วนในเด็ก พบมากในกลุ่มอายุ 3-12 ขวบ ซึ่งส่วน ใหญ่เป็นเนื้องอกสมองชนิดปฐมภูมิ เนื้องอกสมองเป็นเนื้องอกที่พบได้มากที่สุดในบรรดาเนื้องอกที่พบในเด็ก

โรคนี้มักมีอาการปวดศีรษะเป็นสำคัญ พบว่า ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะ 100,000คน มีสาเหตุจากเนื้องอกสมองประมาณ 10 คน

เข่าเสื่อม

เข่าเสื่อมเป็นโรคที่พบได้บ่อย ในคนสูงอายุและคนอ้วน มักจะเป็นเรื้อรังตลอดชีวิต แต่ไม่มีอันตรายร้ายแรง นอกจากอาการปวดทรมาน เดินไม่ถนัด ขาโก่ง เข่าทรุด อันตรายร้ายแรงมักเกิดจากการใช้ยาอย่างผิดๆ ดังนั้น จึงต้องเรียนรู้วิธีอยู่กับโรคนี้อย่างมีความสุขและปลอดภัย

ชื่อภาษาไทย เข่าเสื่อม, ข้อเข่าเสื่อม
ชื่อภาษาอังกฤษ Osteoarthritis
สาเหตุ เกิดจากการเสื่อมชำรุดหรือการสึกหรอ ของข้อเข่า ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้งานมาก การบาดเจ็บ หรือมีแรงกระทบกระแทกต่อข้อมาก (เช่น น้ำหนักมาก เล่นกีฬาหนักๆ) ทำให้กระดูกอ่อนที่บุอยู่ตรงบริเวณผิวข้อต่อสึกหรอ และเกิดกระบวนการซ่อมแซม ทำให้มีปุ่มกระดูกงอกรอบๆ ข้อต่อ ปุ่มกระดูกที่งอกบางส่วน จะหักหลุดเข้าไปในข้อต่อ ทำให้ขัดขวางการเคลื่อนไหวของข้อต่อ และข้อต่อมีเสียงดังเวลาเคลื่อนไหว

การงอเข่า เช่น นั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ การเดินขึ้น_ลงบันได เป็นต้น จะทำให้เกิดแรง กดดันที่ข้อต่อ เป็นเหตุให้ผิวข้อเสื่อมได้เช่นกัน
เมื่อข้อเข่าเสื่อม ก็จะส่งผลให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบๆ ข้อเข่ามีการอักเสบและอ่อนแอร่วมไปด้วย ทำให้เกิดอาการปวดเข่า เข่าอ่อน (เข่าทรุด) และเมื่อเป็นมากๆก็จะทำให้เกิดอาการขาโก่ง

โรคเข่าเสื่อม จึงพบมากในคนสูงอายุ (มักพบในผู้หญิงอายุมากกว่า ๕๕ ปีขึ้นไป) คนอ้วน คนที่เล่นกีฬาที่มีการกระแทกของข้อเข่ารุนแรง คนที่ชอบนั่งงอเข่า หรือต้องเดินขึ้น-ลงบันไดบ่อย
อาการ ผู้ที่มีข้อเข่าเสื่อมอาจมีอาการผิดปกติที่เข่าข้างเดียว หรือ ๒ ข้างก็ได้
อาการที่พบบ่อยก็คือ อาการปวดเวลาเคลื่อน-ไหวข้อเข่า
จะลุกจะนั่งจะรู้สึกขัดยอกในข้อเข่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเดินขึ้น-ลงบันได หรือเวลานั่งงอเข่านานๆ
เวลาขยับ หรือเคลื่อนไหวข้อเข่า จะมีเสียงดังกรอบแกรบในข้อเข่า มักจะเกิดจากการเสียดสีของผิวข้อต่อที่ขรุขระ และจะมีการสะดุด หรือติดขัดในข้อ เนื่องจากเศษกระดูกงอกหักหลุดเข้าไปขัดขวางในข้อต่อ

ผู้ที่มีกล้ามเนื้อรอบๆเข่าอ่อนแรง ก็จะมีอาการเข่าอ่อน เข่าทรุด บางครั้งอาจทำให้เกิดการพลัดตกหกล้มได้
เมื่อเข่าเสื่อมรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการขาโก่ง เดินไม่ถนัด เดินคล้ายขาสั้นข้างยาวข้าง (ลงน้ำหนักไม่เต็มที่ หรือเอนตัวเพราะเจ็บเข่าข้างหนึ่ง) บางคนเดินกะเผลกหรือโยนตัวเอนไปมา บางคนอาจงอเหยียดเข่าลำบาก หรือกล้ามเนื้อขาลีบลง
ในรายที่มีข้อเข่าอักเสบมาก นอกจากปวดเข่า รุนแรงแล้ว ยังมีอาการบวมของข้อเข่าร่วมด้วย อันเนื่องมาจาก ข้อมีการผลิตน้ำในข้อมากขึ้นกว่าปกติ
การแยกโรค
อาการปวดเข่า เข่าอักเสบ อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น
๑. กล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นเข่าอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากการบาดเจ็บ โดยเฉพาะจากการวิ่งออกกำลังกายหรือปั่นจักรยานที่ไม่ถูกหลัก มักพบในคนทุกวัย และเป็นอยู่ไม่นาน เมื่อได้รับการรักษาก็จะหายขาดได้
๒. เกาต์ มักจะปวดรุนแรง และข้อมีลักษณะบวมแดงร้อน ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน หลังกินเลี้ยง ดื่มเหล้า หรือกินอาหารที่ให้สารยูริกสูง บางคนอาจมีไข้ร่วมด้วย หากสงสัยควรเจาะเลือดตรวจดูระดับยูริกในเลือด ซึ่งจะพบว่าสูงผิดปกติ
๓. ไข้รูมาติก พบมากในเด็กอายุ ๕-๑๕ ปี จะมีอาการปวดข้อ ข้ออักเสบบวมแดงร้อน มีไข้ร่วมด้วย บางคนอาจมีประวัติเป็นไข้และเจ็บคอ (ทอนซิลอักเสบ) ก่อนปวดข้อ ๑-๔ สัปดาห์ หากสงสัยควรรีบไปพบแพทย์
การวินิจฉัย แพทย์มักจะวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย ได้แก่ อาการปวดเข่าเวลาเคลื่อนไหว ข้อเข่า ข้อเข่ามีเสียงดังกรอบแกรบเวลาเคลื่อนไหว ซึ่งพบในคนสูงอายุ หรือคนอ้วน
ในรายที่ไม่แน่ใจ อาจต้องเอกซเรย์ข้อเข่า จะพบลักษณะเสื่อมของข้อเข่า
การดูแลตนเอง เมื่อมีอาการปวดเข่า ให้ดูแล ตัวเองเบื้องต้น ดังนี้
๑. หลีกเลี่ยงท่าที่ทำให้ปวดเข่า ได้แก่ การนั่งงอเข่า เช่น นั่งยองๆ นั่งสมาธิ นั่งพับเพียบ เป็นต้น
ควรนั่งเก้าอี้ แทนการนั่งพื้น
๒. หลีกเลี่ยงการเดินขึ้นบันได ถ้าปวดเข่าข้างเดียว เวลาเดินขึ้นบันได ให้เดินขึ้นทีละขั้น โดยก้าวขาข้างดี (ไม่ปวด) ขึ้นก่อน แล้วยกขาข้างที่ปวดขึ้นตามไปวางบนขั้นที่ขาดีวางอยู่ (อย่าก้าวข้ามไป อีกขั้นหนึ่ง) ส่วนขาลงบันได ก็ก้าวขาข้างที่ปวด ลงก่อน แล้วก้าวขาดีตาม การเดินขึ้น-ลงบันได ทีละขั้นแบบนี้ ขาข้างที่ปวด จะไม่มีการงอเข่า จึงลดการปวดลงได้
๓. ควรเปลี่ยนอิริยาบถจากนั่งเป็นยืน และ จากยืนเป็นนั่งสลับก่อนบ่อยๆเข้าจะได้ไม่ติดขัดมาก
๔. ถ้าปวดเข่ามาก ประคบด้วยผ้าชุบน้ำร้อน หรือลูกประคบ และกินยาพาราเซตามอล ครั้งละ ๑-๒ เม็ด บรรเทาปวด ซ้ำได้ทุก ๖ ชั่วโมง
๕. ถ้าเดินแล้วรู้สึกปวดเข่า หรือเข่าทรุด ควรใช้ไม้เท้าช่วย หรือมีราวเกาะ
๖. ถ้าน้ำหนักมาก ควรหาทางลดน้ำหนัก โดยการควบคุมอาหาร และออกกำลังกายให้มากขึ้น (เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน วิ่งเหยาะๆ)
๗. เมื่ออาการปวดเข่าทุเลาแล้ว ควรบริหารกล้ามเนื้อเข่าอย่างสม่ำเสมอ เริ่มแรกไม่ต้องถ่วง น้ำหนัก ต่อไปค่อยๆ ถ่วงน้ำหนัก (เช่น ใส่ถุงทราย หรือขวดน้ำใส่ในถุงพลาสติก) ที่ปลายเท้า เริ่มจาก ๐.๓ กิโลกรัม เป็น ๐.๕ กิโลกรัม, ๐.๗ กิโลกรัม และ ๑ กิโลกรัม โดยเพิ่มไปเรื่อยๆ ทุก ๒-๓ สัปดาห์ จนยกได้ ๒-๓ กิโลกรัม ข้อเข่าก็จะแข็งแรง และลดอาการปวด
๘. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาชุด หรือยาลูกกลอน ยาเหล่านี้แม้ว่าอาจจะช่วยบรรเทาปวดได้ดี แต่มักมีตัวยาอันตราย (เช่น สตีรอยด์) ผสม ซึ่งก่อให้เกิดผลร้ายแรงตามมาได้

                                                        

ควรไปพบแพทย์ เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
๑. มีไข้
๒. ข้อเข่าบวม หรือมีลักษณะแดงร้อน
๓. สงสัยเป็นโรคเกาต์ ไข้รูมาติก หรือโรคอื่นๆ
๔. ดูแลตนเอง ๑-๒ สัปดาห์แล้วยังไม่ทุเลา
๕. มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลรักษาตนเอง
การรักษา เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการซักถามอาการและตรวจร่างกายเป็นหลัก ในบางรายอาจต้องทำการเอกซเรย์
เมื่อพบว่าเป็นโรคเข่าเสื่อม แพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัวต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การหลีกเลี่ยงการนั่งงอเข่า รวมทั้งการ นั่งซักผ้า การนั่งส้วมยองๆ (ควรหันมาใช้ส้วมชักโครกแทน หรือใช้ เก้าอี้เจาะช่องตรงกลางนั่งคร่อม บนส้วมซึม) การเดินขึ้น-ลงบันได การลดน้ำหนักตัว การออกกำลังกาย การบริหารกล้ามเนื้อเข่า การใช้ไม้เท้าช่วยเดิน การสร้างราวเกาะป้องกันการหกล้ม เพราะเข่าอ่อน เข่าทรุด

ส่วนยา ถ้าปวดเข่าไม่มาก แพทย์อาจให้กินยาพาราเซตา-มอล (เพราะไม่มีผลต่อการเกิดโรคแผลในกระเพาะ) ถ้าเป็นมาก อาจให้ยาบรรเทาปวด ชนิดแรง เช่น ทรามาดอล (tramadol) กินบรรเทาเป็นครั้งคราว
ถ้าเป็นมาก อาจให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่ สตีรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน) ยานี้นอกจากบรรเทาปวดแล้ว ยังช่วยลดการอักเสบของข้อและกล้าม- เนื้อ แต่มีข้อเสีย คือ กินติดต่อกันนานๆ จะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ ยานี้กินติดต่อกันนานๆ แพทย์อาจให้ยาป้องกันโรคแผลในกระเพาะ (เช่น รานิทิดีน, โอมีพราโซล) กินร่วมด้วย

ในบางรายแพทย์อาจให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่ สตีรอยด์ตัวใหม่ (เช่น เซเลค็อกซิบ) ยานี้มีข้อดีคือมีผลต่อการเกิดโรคแผลในกระเพาะต่ำ ข้อเสียคือราคาแพง และถ้ากินติดต่อกันนานๆ อาจเกิดการอุดตันของลิ่มเลือดในหลอดเลือดหัวใจและสมองได้ จึงต้องระวังไม่ใช้ในคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือสมองตีบตัน และไม่ควรใช้ติดต่อกันนานๆ

ในบางรายแพทย์อาจใช้วิธีฝังเข็มบรรเทาปวด และอักเสบแทนยาเป็นครั้งคราว
ในรายที่มีข้อเข่าอักเสบรุนแรง แพทย์อาจฉีดสตีรอยด์เข้าข้อเพื่อลดการอักเสบ สามารถฉีดซ้ำได้ทุก ๔-๖ เดือน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรคข้อเสื่อมมักจะ เป็นเรื้อรัง การรักษาดังกล่าวก็เป็นเพียงแต่บรรเทาอาการเป็นครั้งคราว ดังนั้น ผู้ป่วยควรเน้นการปฏิบัติ ตัวอย่างจริงจัง และสม่ำเสมอ จะช่วยให้ลดการใช้ยาลง และหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยาได้

ในรายที่เป็นมาก เช่น เดินไม่ถนัด ขาโก่ง ปวดทรมาน แพทย์อาจรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งมีอยู่หลายวิธี วิธีที่ได้ผลดี แต่ค่าใช้จ่ายแพง ก็คือ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งแพทย์จะพิจารณาใช้วิธีนี้แก่ผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป

ภาวะแทรกซ้อน โรคเข่าเสื่อมมักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง นอกจากในรายที่เป็นมาก อาจเดินไม่ถนัด ขาโก่ง เข่าทรุดหกล้มได้
อันตรายมักเกิดจากการใช้ยาพร่ำเพรื่อ หรือใช้ยาอย่างผิดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การซื้อยาชุด หรือยาลูกกลอนที่เข้ายาสตีรอยด์มากินเอง ผู้ป่วยเมื่อกินยานี้ติดต่อกันนานๆ (เพราะช่วยให้หายปวดชะงัด) ก็จะได้รับพิษภัยจากยาสตีรอยด์จนเป็นอันตรายร้ายแรงได้ เช่น ภาวะต่อมหมวกไตฝ่อ, ภาวะติดเชื้อรุนแรงถึงขั้นโลหิตเป็นพิษ เป็นต้น
การดำเนินโรค โรคนี้มักจะเป็นเรื้อรังตลอดชีวิต ยกเว้นในรายที่รักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม อาการจะหายดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายหลังการผ่าตัด
การป้องกัน  
๑. ระวังอย่าให้น้ำหนัก ตัวมากเกิน ด้วยการควบคุมอาหารที่บริโภค และออกกำลังกายเป็นประจำ
๒. หลีกเลี่ยงการนั่งงอเข่า การเดินขึ้น-ลงบันไดบ่อย
การชุก โรคนี้พบได้บ่อย เริ่มพบได้ตั้งแต่อายุ ๔๐ ปีขึ้นไป และจะพบมากขึ้นตามอายุ
ผู้หญิงจะมีโอกาสปวดเข่าจากโรคเข่าเสื่อมมากกว่าผู้ชาย
คนอ้วน คนที่ใช้งานข้อเข่ามาก มีโอกาสเสี่ยง ต่อโรคนี้มากขึ้น
 

โยคะสำหรับผู้มีปัญหาที่ี่เข่า



เข่าเป็นข้อที่มีลักษณะการเคลื่อนไหวคล้ายบานพับ เข่าประกอบด้วย ท่อนล่างของกระดูกต้นขา ท่อนบนของกระดูกหน้าแข้ง ที่ส่วนปลายของกระดูกทั้งสองเป็นกระดูกอ่อน ซึ่งช่วยรับน้ำหนักและลดการเสียดสีขณะเคลื่อนไหว ทั้งมีกระดูกอ่อนอีกสองชิ้นเป็นแผ่นรอง คอยทำหน้าที่เหมือนโชกอัพรับแรงกระแทก นอกจากนั้น ยังมีกระดูกสะบ้าอีก 1 ชิ้น อยู่บริเวณด้านหน้าของเข่า ข้อเข่าก็เหมือนข้ออื่นๆ คือ ยึดให้ติดกันและเคลื่อนไหวได้ด้วยเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆ
 
เข่ามีภาระหนักคือแบกรับน้ำหนักตัวทั้งหมด เมื่ออายุมากขึ้น (50 ปีขึ้นไป) กระดูกอ่อนที่ส่วนปลายบางลง ความสามารถในการลดแรงเสียดสีน้อยลง ก็คือสภาวะเข่าเสื่อม ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมชาติ คนทุกคนเข่าเสื่อม ทั้งนั้น แต่มีเพียงบางคนที่เกิดอาการปวดเข่า บางคนปวดเล็กน้อย บางคนปวดมาก บ้างปวดเฉพาะที่ บ้างปวดทั้งเข่า มีทั้งปวดขณะเดินขึ้นลงบันได ปวดตอนนั่ง ปวดตอนลุก ปวดถ้านั่งไขว่ห้าง หรือปวดตอนเดิน ฯลฯ 

สาเหตุที่ทำให้ปวดเข่า - น้ำหนักตัวมากเกิน ซึ่งทำให้เข่าเสื่อมเร็วกว่าปกติ 
- พันธุกรรม หากพ่อแม่มีอาการปวดเข่า ลูกก็มีโอกาสเป็นโรคปวดเข่าสูงขึ้น 
- อุบัติเหตุ ผู้ประสบอุบัติเหตุที่กระดูก กระดูกอ่อน เส้นเอ็น กล้ามเนื้อรอบๆ บริเวณเข่า ก็มีโอกาสจะเกิดอาการเข่าเสื่อมได้มากกว่าปกติ 
- กล้ามเนื้อ คนที่กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ก็มีความเสี่ยงต่ออาการเข่าเสื่อมง่ายขึ้น

โรคเรื้อรัง... สะเก็ดเงิน



โรคสะเก็ดเงินคืออะไร
สะเก็ดเงิน (psoriasis) เป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อย เป็นได้ทุกเพศทุกวัย พบราวร้อยละ ๒ ของประชากรทั่วไป อาจมีปัจจัยทางพันธุกรรมมาเกี่ยวข้องเพราะมักพบประวัติครอบครัว
โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ และไม่ได้เกิดจากภูมิแพ้
โรคนี้มักเริ่มเป็นในช่วงวัยรุ่นตอนปลายและช่วงอายุ ๔๐-๕๐ ปี เพศหญิงและชายพบได้เท่าๆ กัน
โรคนี้อาจเป็นน้อยจนผู้ป่วยเองอาจไม่สังเกตเห็น แต่บางรายเป็นมากจนถึงขั้นต้องเข้านอนโรงพยาบาล และอาจมีอาการคันร่วมด้วยหรือไม่มีก็ได้
ร้อยละ ๕ ของผู้ป่วยสะเก็ดเงินจะมีอาการปวดข้อ และข้ออักเสบร่วมด้วย

ลักษณะของโรคสะเก็ดเงิน
โรคสะเก็ดเงินของผิวหนังมีลักษณะเป็นปื้นนูนแดง มีขุยหนาสีขาวเงิน ขอบเขตของผื่นสังเกตเห็นชัดเจน มักเป็นผื่นทั้ง ๒ ข้างของร่างกายเท่าๆ กัน (ภาพที่ ๑) ถ้าเป็นที่บริเวณซอกพับ (เช่น รักแร้ ขาหนีบ) อาจไม่ค่อยเป็นขุย
ตำแหน่งที่พบผื่นของโรคสะเก็ดเงินบ่อยคือ ข้อศอก หัวเข่า บางรายเป็นที่สะดือ ร่องก้น หรือหนังศีรษะ แต่ก็อาจเป็นที่ตำแหน่งอื่นๆ ของร่างกายโดยมีลักษณะที่ต่างกันออก                                                                                 
สามารถแบ่งโรคสะเก็ดเงินตามลักษณะอาการแสดงดังนี้คือ                                                                                       
  • โรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นหนาเป็นเรื้อรัง พบบ่อยที่ข้อศอก หัวเข่า หรือหลังส่วนล่าง                                          
  •  โรคสะเก็ดเงินที่ซอกพับ ปื้นมักเรียบไม่มีขุย                                                                                        
  • โรคสะเก็ดเงินบริเวณหนังศีรษะ                                                                                                                                  
  • โรคสะเก็ดเงินรูปหยดน้ำ เป็นผื่นเล็กๆ จำนวนมากคล้ายหยดน้ำ มักกำเริบขึ้นรวดเร็ว                                                                   
  • โรคสะเก็ดเงินที่คาบเกี่ยวกับโรคเซ็บเดิร์ม (sebopsoriasis) มักเป็นที่หนังศีรษะ ใบหน้า หู และหน้าอก                                                                                                    
  • โรคสะเก็ดเงินของฝ่ามือ ฝ่าเท้า                                                                                                                     
  • โรคสะเก็ดเงินของเล็บ เล็บจะมีหลุมเล็กๆ เล็บร่อนเผยอ เล็บเหลือง เล็บเป็นลูกคลื่น (ภาพที่ ๒)
  • โรคสะเก็ดเงินของช่องปาก มีขุยลอกในปาก ผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินของผิวหนังอย่างรุนแรงมักพบบ่อย                                                                                                                                                            
  • โรคสะเก็ดเงินชนิดเป็นตุ่มหนอง อาจเป็นทั่วร่างกาย หรือเป็นเฉพาะที่ฝ่ามือฝ่าเท้า                                                 
  • โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นแดง พบผื่นแดงทั่วตัว                                                                                                       
  • โรคสะเก็ดเงินที่ข้อ มีอาการปวดบวมของข้อร่วมด้วย

รู้จักโรคสะเก็ดเงิน
๑. หลังจากผื่นสะเก็ดเงินที่ผิวหนังหาย อาจมีรอยด่างดำ ด่างขาว ซึ่งจะค่อยๆ จางหายไป และโรคนี้ไม่ทำให้เกิดแผลเป็นที่ผิวหนัง  
๒. สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยที่อาจเกี่ยวข้องคือ                                                                               
• พันธุกรรม ประมาณร้อยละ ๕๐ ของผู้ป่วยอาจมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้เช่นกัน                                                           
• พบว่าความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจอาจกระตุ้นให้สะเก็ดเงินกำเริบ                                                                                
• การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น สเตร็ป (ต่อมทอนซิลอักเสบ) อาจกระตุ้นให้เกิดโรคสะเก็ดเงินรูปหยดน้ำ การติดเชื้อยีสต์อาจทำให้เกิดโรคสะเก็ดเงินชนิดเป็นที่ซอกพับ การติดเชื้อเกลื้อนอาจก่อโรคสะเก็ดเงินชนิดที่คาบเกี่ยวกับโรคเซ็บเดิร์มที่หนังศีรษะ                                                                                                                                          
• การบาดเจ็บสัมผัสเสียดสีที่ผิวหนัง เช่น นุ่งกางเกงคับๆ อาจมีส่วนทำให้เป็นปื้นขึ้นมา
• มียาหลายตัวที่อาจกระตุ้นโรคสะเก็ดเงิน เช่น ยาต้านอาการซึมเศร้า (lithium) ยาลดความดันโลหิต (beta blockers) ยาต้านมาลาเรีย (hydroxychloroquine) ยาแก้ปวดประเภทที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (nonsteroidal anti-inflammatory drugs หรือเรียกย่อว่า NSAIDs) นอกจากนั้น ถ้ามีการใช้สตีรอยด์ทั้งในรูปยาทายากินอยู่ก่อนแล้ว การหยุดยาอาจทำให้ผื่นกำเริบ
๓. โดยทั่วไปรังสียูวีในแสงแดดมักทำให้อาการดีขึ้น
๔. พบว่าโรคอ้วน และภาวะดื้อต่ออินซูลินที่นอกจากจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานแล้ว ยังอาจมีส่วนทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบขึ้น
    ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินหลายคนเป็นคนอ้วนหรือเป็นโรคอ้วน โรคสะเก็ดเงินยังเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดแข็งตัว (atherosclerosis) ที่อาจนำไปสู่อาการเจ็บหน้าอก และกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหลอดเลือดในสมองแตก
๕. การดื่มแอลกอฮอล์สัมพันธ์กับการเกิดโรคสะเก็ดเงินชนิดที่กำเริบมาก ดังนั้น ผู้ป่วยโรคนี้ควรงดดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
๖. ปัจจุบันยังไม่มีทางรักษาโรคนี้ให้หายขาดและไม่กลับเป็นซ้ำได้ แต่ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็อาจทำให้อาการของโรคบรรเทาลงได้มาก อย่างไรก็ตาม โรคสะเก็ดเงินรูปหยดน้ำอาจมีการกำเริบแค่ครั้งเดียว และไม่กลับเป็นอีกเลยก็ได้  
ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินควรทำใจให้ยอมรับสภาพของโรคนี้ รับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ควรเชื่อว่ามียาหรือมีสมุนไพรใดๆ ที่วิเศษพอที่จะรักษาโรคนี้ให้หายขาดตลอดชีวิตได้ และควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคนี้โดยไม่วิตกกังวลจนเกินควร เพราะความเครียดก็อาจมีส่วนกระตุ้นให้โรคนี้กำเริบขึ้นได้

แกงคั่ว หอยแครงใบชะพลู



ชะพลู เป็นผักที่ใช้ปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น ใบอ่อนและยอดใช้กินสดเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือห่อเมี่ยงคำ ลักษณะใบเป็นรูปหัวใจ คล้ายใบพลูที่ใช้กินกับหมาก แต่ใบชะพลูมีขนาดเล็กกว่า มีรสชาติเผ็ดซ่าเล็กน้อย มีดอกเป็นช่อรูปทรงกระบอก สีขาวและค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียว ใช้ทำยาได้ 

ชะพลูถือได้ว่าเป็นพืชที่อยู่คู่ครัวและภูมิปัญญาไทย มายาวนาน นอกจากจะนำมาใช้ประกอบอาหารแล้ว ยังมีความเชื่ออีกมากมาย เช่น การนำก้านชะพลูมาเขียนคิ้ว จะทำให้คิ้วดกสวย นอกจากนี้ชะพลูทั้งราก ดอก และผล ยังมีคุณสมบัติทางยา สามารถใช้รักษาโรคได้อีกด้วย  รากสามารถขับลมในลำไส้ ใบทำให้เจริญอาหาร ขับลม ผลใช้รักษาโรคบิด ลำต้นใช้ขับเสมหะและทำน้ำมันหอมระเหยได้

ส่วนทางด้านของอาหารนั้น หลายคนคงนึกถึง  แต่ "เมี่ยงคำ" หรือ "เมี่ยงปลาทู" ที่ใช้ใบชะพลูเป็นส่วนประกอบเท่านั้น ความจริงใบชะพลูสามารถนำมาประกอบอาหารทั้งต้มและแกงได้อร่อยไม่แพ้กัน เริ่มจากยอดและใบอ่อน นิยมนำมากินเป็นผักสดและผักสุกกินกับลาบ แหนม ยำไส้กรอก และยังเป็นผักอีกชนิดที่นิยมนำมาเป็นส่วนผสมของเครื่อง ข้าวยำŽ ด้วย  การที่คนโบราณมักนำใบชะพลูมาปรุงเป็นแกงเผ็ด เช่น แกงคั่ว แกงป่า หรือแกงที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบเพราะใบชะพลูมีสารบีตาแคโรทีนในปริมาณที่ค่อนข้างสูง บีตาแคโรทีนจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้ในร่างกาย แต่ร่างกายจะไม่สามารถดูดซึมบีตาแคโรทีนได้ถ้าไม่มีไขมันเป็นตัวนำพา 
ดังนั้นคนโบราณจึงนำใบชะพลูมาทำแกงคั่วหอยแครง หรือไม่ก็แกงที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ เพื่อที่จะให้กะทิเป็นตัวนำพาบีตาแคโรทีนไปใช้ในร่างกาย นับเป็นภูมิปัญญาไทยที่แสนฉลาดจริงๆ

คุณค่าโภชนาการของแกงคั่วหอยแครงใบชะพลูเมื่อกินกับข้าวสวย ๑ จาน ให้พลังงาน ๗๖๒ กิโลแคลอรี ซึ่งจัดว่าเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงานวันละ ๑,๖๐๐ กิโลแคลอรี โดยเป็นพลังงานที่มา จากไขมันถึงร้อยละ ๔๗ ไขมันดังกล่าวมาจากน้ำกะทิที่เป็นส่วนประกอบของแกงคั่วเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นถ้าต้องการกินแกงคั่วโดยให้ได้พลังงานและไขมันน้อยลงควรกินเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อหอยแครงและใบชะพลู และตักในส่วนที่เป็นน้ำแกงหรือน้ำกะทิให้น้อยลง โดยเฉพาะ ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ควรระมัดระวังอาหารที่มีกะทิ เนื่องจากน้ำกะทิมีไขมันชนิดอิ่มตัวสูง ซึ่งมีผลทำให้ระดับไขมันในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้

เมื่อดูปริมาณโปรตีน พบว่าแกงคั่วพร้อมข้าวสวยให้โปรตีนถึงร้อยละ ๔๓ ของปริมาณที่แนะนำให้กิน    ต่อวัน โดยโปรตีนส่วนใหญ่มาจากหอยแครง และเนื่องจากหอยแครงและใบชะพลูเป็นแหล่งที่ดีของธาตุเหล็ก อาหารจานนี้จึงให้ธาตุเหล็กสูงถึงร้อยละ ๗๘ ของปริมาณที่นำนำให้บริโภคต่อวัน (แนะนำ ๑๕ มิลลิกรัม)  ซึ่งถ้าร่างกายขาดธาตุเหล็กจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีแรง และภูมิต้านทานโรคลดลง นอกจากนี้ใบชะพลูยังเป็นแหล่งที่ดีของบีตาแคโรทีน  ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งที่ช่วยป้องกันเซลล์ของร่างกายจากการถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระต่างๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกายเอง หรือที่ได้รับมาจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ

เมื่อพิจารณาคุณค่าโภชนาการอื่นๆ อาหารจานนี้ จะให้ใยอาหารประมาณร้อยละ ๑๙ ของปริมาณที่แนะนำให้กิน (แนะนำ ๒๕ กรัมต่อวัน) จึงนับว่าเป็นแหล่งที่ดีของใยอาหาร อย่างไรก็ตาม อาหารจานนี้ก็    ให้โซเดียมสูงด้วย โดยโซเดียมมากกว่าครึ่งหนึ่งมาจากน้ำพริกแกงคั่วที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องปรุง ดังนั้นถ้าตักน้ำแกงให้น้อยลง นอกจากจะลดปริมาณพลังงาน และไขมันแล้ว ยังช่วยลดปริมาณโซเดียมอีกด้วย ส่วนปริมาณคอเลสเทอรอลของอาหารจานนี้มาจากเนื้อหอยแครงและยังอยู่ในช่วงที่แนะนำให้กินคือไม่เกิน   ๓๐๐ มิลลิกรัมต่อวัน  

ส่วนผสม  (สำหรับกินได้ ๒ คน)
หอยแครงแกะเปลือกแล้ว ๑๘๐ กรัม
ใบชะพลู  ๖๐ กรัม
น้ำพริกแกงคั่ว  ๕๐ กรัม
กะทิ ๔๐๐ กรัม
น้ำปลา  ๑๕ กรัม
น้ำตาลปี๊บ   ๖ กรัม
ใบมะกรูดฉีก   ๕ กรัม
วิธีทำ
๑. ลวกหอยแครงแล้วแกะเอาเปลือกออก 
๒. หั่นใบชะพลูหยาบๆ
๓. เคี่ยวกะทิให้แตกมัน ใส่น้ำพริกแกงคั่วลงผัดจนหอมและแตกมันมีสีแดง ใส่น้ำปลา น้ำตาล หอยแครง ใบชะพลู ใบมะกรูด ชิมรส รอจนเดือดอีกครั้ง ยกลง