amazon

วันศุกร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2558

๖ คำถามน่ารู้ โรคไขมันสะสมในตับ




๖ คำถามน่ารู้ โรคไขมันสะสมในตับ



ภาวะอ้วนลงพุงของคนเราที่เกิดจาก “พฤติกรรมสุขภาพ” พบมากขึ้นในสังคมไทย ส่งผลให้เกิดปัญหาโรคแทรกซ้อนตามมาอีกหลายโรคที่สัมพันธ์กับภาวะอ้วนลงพุง นั่นคือโรคไขมันสะสมในตับ มาทำความรู้จักที่มาของปัญหาไขมันสะสมในตับ การป้องกัน และการแก้ไข ผ่าน ๖ คำถามน่ารู้

๑. โรคไขมันสะสมในตับพบได้บ่อยแค่ไหนและลักษณะการดำเนินโรคเป็นไปอย่างไร?
โรคไขมันสะสมในตับจัดเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากข้อมูลที่มีการศึกษาพบว่ามีความชุกของโรคไขมันสะสมในตับ สูงถึงร้อยละ ๙-๔๐ และมีความสัมพันธ์กับความชุกของโรคอ้วน ส่วนความชุกของโรคไขมันสะสมในตับที่มีการอักเสบร่วมด้วยนั้นพบร้อยละ ๖-๑๓ ของประชากรทั่วไป

ในการศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่ามีผู้ป่วยโรคไขมันสะสมในตับสูงถึงร้อยละ ๗๒  ในกลุ่มผู้ป่วยตับอักเสบที่ไม่พบสาเหตุจากไวรัสตับอักเสบบี ซี และแอลกอฮอล์ ส่วนที่เหลือร้อยละ ๒๘ เป็นกลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุ  

โรคนี้พบได้บ่อยขึ้นในผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น คนอ้วน จะพบปัญหาโรคไขมันสะสมในตับหรือ Non-alcoholic fatty liver disease (NAFLD) หรือ Non-alcoholic-steatohepatitis (NASH) ได้ ถึงร้อยละ ๓๗-๙๐ ส่วนในคนที่เป็นเบาหวานพบถึงร้อยละ ๗๒

สรุปง่ายๆ ก็คือ ถ้ามีโรคเบาหวานหรือโรคอ้วนอยู่ จะมีโอกาสพบโรคไขมันสะสมในตับได้มากถึง ๗ ใน ๑๐ ราย

ผู้ป่วยมักไม่มีอาการแต่มาพบแพทย์ด้วยเรื่องที่มีค่าการทำงานของตับผิดปกติจากการตรวจสุขภาพ โดยมีค่าที่สูงขึ้นประมาณ ๑.๕ เท่า และตรวจหาสาเหตุอื่นๆ แล้วไม่พบ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี หรือไวรัสตับอักเสบชนิดซี 

โรคนี้มักมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง โดยส่วนใหญ่มักใช้เวลานานเป็น ๑๐ ปีจึงจะเห็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ ภาวะตับแข็ง และการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและเกิดได้ตั้งแต่วัยทำงาน จึงเป็นปัญหาสำคัญในระยะยาว

๒. จะรู้ได้อย่างไรว่าอาจเป็นโรคไขมันสะสมในตับ
เราสามารถตรวจตนเองเบื้องต้นได้ดังนี้

ส่วนที่ ๑ คือ การประเมินสภาพร่างกายตนเองว่ามีโรคอ้วนหรือไม่ 
วิธีคำนวณ
      โดยใช้ค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index: BMI) ที่คำนวณจาก ค่าน้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วยความสูงยกกำลังสอง (เมตร๒) หรือเขียนสั้น ๆ ว่า
      ดัชนีมวลกาย = น้ำหนัก (กิโลกรัม) หาร (ความสูง x ความสูง) 
      ผลที่ได้จะออกมาเป็น กิโลกรัมต่อตารางเมตร
      ยกตัวอย่างเช่น
      ชายน้ำหนัก ๘๐ กิโลกรัม ความสูง ๑.๖๘ เมตร
      ดัชนีมวลกาย  = ๘๐ หาร (๑.๖๘ x ๑.๖๘) = ๒๘.๓๔ กิโลกรัมต่อตารางเมตร
      เกณฑ์วินิจฉัยสำหรับคนเอเชีย ให้ค่าที่เกิน ๒๘ กก./ตร.ม. (กิโลกรัมต่อตารางเมตร) เป็นภาวะอ้วน ดังนั้น กรณีตัวอย่างชายผู้นี้จึงถือว่ามีโรคอ้วน

ส่วนที่ ๒ ตรวจสอบข้อมูลโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับภาวะไขมันเกาะตับ 
ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน ว่าได้รับการรักษาและควบคุมได้ดีหรือไม่
นอกจากนี้ การพบโรคร่วมดังกล่าวซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของภาวะอ้วนลงพุง (metabolic syndrome) จะมีโอกาสเกิดภาวะตับอักเสบและมีพังผืดในตับได้มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะอ้วนลงพุง
ส่วนองค์ประกอบของภาวะอ้วนลงพุงนั้น กำหนดเกณฑ์วินิจฉัยไว้ดังนี้ คือ
ก. องค์ประกอบแรกต้องมีโรคอ้วนที่วินิจฉัยโดยใช้เกณฑ์ของคนเอเชียคือ
ผู้ชายมีเส้นรอบเอวอย่างน้อย ๙๐ ซม. (๓๖ นิ้ว)
ผู้หญิงมีเส้นรอบเอวอย่างน้อย ๘๐ ซม (๓๒ นิ้ว)
ข. ร่วมกับเกณฑ์ ๒ ข้อจาก ๔ ข้อต่อไปนี้
๑. ระดับไตรกลีเซอไรด์สูง เกินกว่า ๑๕๐ มก./ดล.
๒. ระดับไขมันคอเลสเตอรอลตัวดี (HDL–cholesterol) โดย
 - ผู้ชายต่ำกว่า ๔๐ มก./ดล.
 - ผู้หญิงต่ำกว่า ๕๐ มก./ดล.
๓. มีความดันเลือดสูง ตั้งแต่ ๑๓๐/๘๕ มม.ปรอท ขึ้นไป หรือเคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันเลือดสูงที่กำลังรับยารักษาอยู่
๔. ระดับน้ำตาลตอนเช้า (อดอาหาร) สูงตั้งแต่ ๑๐๐ มก./ดล. หรือเคยได้รับการวินิจฉัยว่ามีโรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน

๓. เมื่อทราบว่าเป็นโรคไขมันสะสมในตับแล้ว จะดูแลสุขภาพอย่างไร?
แพทย์จะมีหลักในการดูแลรักษา ๒ ส่วนคือวิธีรักษาที่ไม่ต้องใช้ยาและการใช้ยา 
วิธีการรักษาที่ไม่ต้องใช้ยานั้นผู้ป่วยต้องดูแลตนเองให้มาก
สำหรับการใช้ยา ปัจจุบันมียาที่อาจพิจารณาใช้ได้อยู่ไม่กี่ชนิด และผลการวิจัยก็พบว่ายาเหล่านี้ช่วยลดการอักเสบของตับได้ แต่ไม่สามารถลดภาวะพังผืดในตับได้ ส่วนควรใช้ยาตัวใด และควรเริ่มยาเมื่อไรนั้นต้องได้รับคำปรึกษาจากแพทย์

๔. การดูแลรักษาสุขภาพด้วยตนเองเบื้องต้น
สิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยโรคไขมันเกาะตับต้องลงมือปฏิบัติและต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันบางส่วนจึงจะได้ผลในการรักษา โดยมีรายละเอียดดังนี้
   ๑. งดดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด หรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลงจนเลิกดื่ม
   ๒.  หลีกเลี่ยงการใช้ยา อาหารเสริมหรือสมุนไพรที่ไม่จำเป็น เพราะนอกจากมีโอกาสทำให้ตับอักเสบแล้ว ยังอาจทำให้มีไขมันสะสมในตับเพิ่มขึ้นได้ เช่นกลุ่มอาหารเสริม สมุนไพรที่พบว่าทำให้ตับอักเสบได้ เช่น ขี้เหล็ก มะรุม เป็นต้น
   ๓. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยพบว่ามีผลต่อการลดภาวะอักเสบของตับได้อย่างชัดเจน ซึ่งยืนยันได้จากทั้งผลตรวจเลือดค่าทำงานตับหรือผลการเจาะตับ        หากทำได้อย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าน้ำหนักจะไม่ลดลงในช่วงแรกก็ตาม โดยทั่วไปพบว่ามีผู้ป่วยเพียง ๑ ใน ๓ ที่จะออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอและลดน้ำหนักได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงภาวะดื้อต่ออินซูลินที่มีอยู่เดิมให้ลดลงซึ่งช่วยคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีขึ้น ส่วนหลักการลดน้ำหนักควรวางเป้าหมายไว้ที่ ๑ กิโลกรัมต่อสัปดาห์ (ไม่ควรเกิน ๑.๖ กิโลกรัมต่อสัปดาห์)

กิจกรรมหรือชนิดของการออกกำลังกายที่แนะนำสรุปไว้ในตารางที่ ๑ คือเป็นการออกกำลังกายในระดับปานกลาง (moderate intensity physical activity) โดยควรตั้งเป้าหมายให้ทำกิจกรรมดังกล่าวได้นาน ๒๐๐ นาทีต่อสัปดาห์ ระยะเวลา ๖ เดือน (ประมาณ ครึ่งชั่วโมงต่อวัน)
ส่วนวิธีประเมินผลว่าเป็นการออกกำลังกายในระดับ moderate intensity physical activity หรือไม่ให้ใช้อัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งคำนวณจาก...
       ค่า (๒๒๐ ลบ อายุ) คูณ (ร้อยละ ๕๐-๗๐)
       ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยอายุ ๔๐ ปี เมื่อออกกำลังกายในระดับปานกลางแล้วควรมีอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่
        (๒๒๐-๔๐) x ๐.๕ (ร้อยละ ๕๐)    = ๙๐
       ถึง (๒๒๐-๔๐) x ๐.๗ (ร้อยละ ๕๐)    = ๑๒๖
       หรือมีค่าระหว่าง ๙๐-๑๒๖ ครั้ง/นาที
       (http://www.cdc.gov/physicalactivity/everyone/measuring/heartrate.html)
ตารางที่ ๑ หรือชนิดของการออกกำลังกายที่แนะนำ
กิจกรรมที่ทำนานครึ่งชั่วโมงสัปดาห์ละเผาผลาญแคลอรี:
กิโลแคลอรี (Kcal)/ ครั้ง/ น้ำหนัก ๖๕-๗๐ กิโลกรัม
การออกกำลังกายในระดับปานกลาง หรือ moderate intensity aerobic exercise  
- การเดินเร่งอย่างต่อเนื่องหรือเทียบเท่าจำนวนก้าวอย่างน้อย ๑๐,๐๐๐ ก้าว (ความเร็วประมาณ ๕ กม./ชม.)   ๕ ครั้ง   ๑๓๐-๑๗๐
- การเต้นแอโรบิก๕ ครั้ง๑๗๕
- การขี่จักรยานด้วยความเร็วไม่เกิน ๘.๕-๙ กม./ชม.*๕ ครั้ง   ๑๒๐
การออกกำลังกายในระดับสูงหรือ high intensity aerobic exercise      
-    การวิ่งด้วยความเร็วประมาณ ๙-๑๒ กม./ชม.๓ ครั้ง๓๓๐-๓๕๐
- การขี่จักรยานด้วยความเร็ว ๑๗-๒๒ กม./ชม.*๓ ครั้ง   ๒๑๐-๓๓๐
- การเดินเร่งอย่างต่อเนื่องความเร็ว ๘.๕ กม./ชม.๓ ครั้ง๒๘๐
- การว่ายน้ำต่อเนื่อง๕ ครั้ง๒๗๐
- กระโดดเชือก   ๓ ครั้ง๓๓๐
*มักต้องใช้ระยะเวลานานกว่าการเดินเร่งหรือวิ่ง เพราะเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้ลงน้ำหนัก (Non-Weight-Bearing)
อ้างอิง http://www.cdc.gov/physicalactivity/everyone/guidelines/adults.html
http://www.exercise4weightloss.com/fat-burning-exercises-aerobic.html
http://www.holisticonline.com/remedies/weight/weight_calories-burned-by-...

สำหรับการออกกำลังกายในระดับสูง (high intensity physical activity) จะช่วยเผาผลาญไขมันคิดเป็นพลังงานได้ประมาณ ๒ เท่า ของการออกกำลังกายในระดับปานกลาง

๔. การควบคุมอาหารและแคลอรี โดยมีหลักการดังนี้
เลือกกินอาหารให้ครบ ๕ หมู่และควบคุมอาหารให้ได้พลังงานพอเพียงเท่าที่ร่างกายต้องการ
โดยทั่วไปควรได้พลังงาน ๓๐ กิโลแคลอรี  ต่อน้ำหนักตัวมาตรฐาน ๑ กก.ต่อวัน หรือ ๓๐ x น้ำหนักตัว
    ตัวอย่างเช่น คนน้ำหนัก ๖๐ กก.
    ๓๐ x ๖๐ กก. = ควรได้พลังงานประมาณ ๑,๘๐๐ กิโลแคลอรีต่อวัน
โดยได้จากอาหาร ๓ มื้อ เฉลี่ยมื้อละ ๖๐๐ กิโลแคลอรี อาจไม่ต้องแบ่งให้เท่ากัน เพราะมื้อเช้าและกลางวัน ควรกินให้ได้พลังงานมากกว่ามื้อเย็น
ผู้ป่วยโรคไขมันสะสมในตับจำเป็นต้องควบคุมพลังงานที่ร่างกายต้องการให้เหลือเพียง ๑,๐๐๐-๑,๒๐๐ กิโลแคลอรีต่อวัน ต่อน้ำหนักตัวไม่เกิน ๙๐ กิโลกรัม
หากน้ำหนักตัวเกิน ๙๐ กิโลกรัม ควรปรับปริมาณพลังงานที่ควรได้ให้ไม่เกิน ๑,๕๐๐ กิโลแคลอรีต่อวัน ชนิดของอาหารควรเลือกให้เหมาะสมดังสรุปปริมาณแคลอรีที่ได้จากอาหารจานเดี่ยวในตารางที่ ๒
๕. เลือกกินอาหารอย่างไรให้ควบคุมปริมาณพลังงานที่เหมาะสม?
     ๑. เลือกอาหารว่างและผลไม้ที่มีปริมาณการดูดซึมปริมาณน้ำตาลหรือ Glycemic index ที่ต่ำ
       หลีกเลี่ยงอาหารว่างและผลไม้ที่มีพลังงานที่สูง เช่น เครื่องดื่มที่มีนมเนยผสมปริมาณมากๆ ไอศกรีม ขนมหวานจัด ผลไม้หวานจัด เช่น ทุเรียน ลำไย ที่มีค่า Glycemic index สูง
       ส่วนผลไม้ที่กินได้เพราะปริมาณการดูดซึมปริมาณน้ำตาลต่ำ ได้แก่ กล้วย มะละกอ แอปเปิ้ล เป็นต้น ดังสรุปปริมาณแคลอรีที่ได้ในตารางที่ ๓-๔
      ๒. กินอาหารที่มีปริมาณเส้นใยสูงให้ได้ปริมาณอย่างน้อย ๔๐ กรัมต่อวัน 

  ตารางที่ ๒ ตัวอย่างของอาหารจานเดี่ยวที่มีปริมาณพลังงาน (กิโลแคลอรี) กำกับ
รายละเอียดของอาหารปริมาณพลังงานกิโลแคลอรี (Kcal)
เส้นหมี่ลูกชิ้นเนื้อวัวน้ำ ๔๔๗ กรัม๒๒๖
กระเพาะปลาปรุงสำเร็จ ๓๙๒ กรัม   ๒๓๙
ขนมจีนน้ำยา ๔๓๕ กรัม๓๓๒
ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่เย็นตาโฟน้ำ ๔๙๔ กรัม๓๕๒
ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ราดหน้าหมู ๓๕๔ กรัม๓๙๗
ข้าวขาหมู ๒๘๙ กรัม๔๓๘
ข้าวแกงเขียวหวานไก่ ๓๑๘ กรัม๔๘๓
ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กแห้งหมู ๒๓๕ กรัม๕๓๐
ข้าวหมูแดง ๓๒๐ กรัม๕๔๐
ข้าวผัดใบกะเพราไก่ ๒๙๓ กรัม๕๕๔
ข้าวผัดหมูใส่ไข่ ๓๑๕ กรัม๕๕๗
ก๋วยเตี๋ยวผัดไทยใส่ไข่ ๒๔๔ กรัม๕๗๗
ข้าวมันไก่ ๓๐๐ กรัม๕๙๖
ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ผัดซีอิ๊วหมู ๓๕๐ กรัม๖๗๙

       ๓. ระลึกเสมอว่าการเผาผลาญพลังงานด้วยการออกกำลังกายต้องใช้เวลาทำอย่างสม่ำเสมอ และต้องทำควบคู่กับการควบคุมปริมาณอาหารที่กินในแต่ละวันด้วย 
ดังนั้น การจดบันทึกชนิดและปริมาณแคลอรีของอาหารที่กินในแต่ละวันจะเป็นประโยชน์ต่อการติดตามผลได้
ตัวอย่างเช่น ถ้ากินข้าวมันไก่เกินที่ควรจะเป็นจำนวน ๑ จาน (๓๐๐ กรัม) จะได้พลังงานเกินที่ต้องการถึง ๕๙๖ กิโลแคลอรี ซึ่งต้องออกกำลังกายในระดับสูง เช่น ด้วยการวิ่งความเร็วประมาณ ๙-๑๒ กม./ชม. นานถึง ๑ ชั่วโมงจึงจะเผาผลาญพลังงานส่วนเกินดังกล่าวได้
รายละเอียดของพลังงานในอาหารแต่ละอย่างมีสรุปไว้ในตารางที่ ๒-๓
จากผลการวิจัยยืนยันว่าผู้ป่วยโรคไขมันเกาะตับที่มีภาวะอักเสบ หากควบคุมน้ำหนักจนลดได้ร้อยละ ๗-๑๐ ในช่วง ๙-๑๒ เดือน ทั้งจากการควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยทำให้ภาวะตับอักเสบดีขึ้น ภาวะดื้อต่ออินซูลินลดลง ค่าไขมันค่าการทำงานตับก็จะดีขึ้นด้วย
ผลของการควบคุมน้ำหนักที่ลดได้มากเท่าใดก็ยิ่งเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของลักษณะพยาธิวิทยาของตับชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของภาวะพังผืดยังไม่ชัดเจนจากการติดตามผล ๑ ปี

๖. จุดมุ่งหมายของการรักษาโรคไขมันสะสมในตับมีอะไรบ้าง?
จุดมุ่งหมายของการรักษามีดังนี้คือ
 •    ป้องกันการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน
 •    ป้องกันการเกิดภาวะตับแข็งด้วยการลดการอักเสบของตับ
 •    ป้องกันการเกิดมะเร็งที่อาจพบแทรกซ้อนได้