amazon

วันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2557

รังนก



เชื่อกันว่าชาวจีนนิยมกินรังนกกันมานานกว่า ๒,๐๐๐ ปี ซึ่งแพทย์จีนจะเขียนใบสั่งยาโดยมีรังนกเป็นส่วนผสมด้วย เพราะเชื่อว่ารังนกสามารถรักษาโรคทางเดินหายใจ บำรุงสุขภาพเด็กที่ไม่แข็งแรง
ปัจจุบันคนเอเชียส่วนหนึ่งใช้รังนกเป็นยาบำรุงปอดและเลือดฝาด ใช้บำรุงกำลังเด็ก ผู้ป่วยระยะพักฟื้น คนสูงอายุหรือสตรีหลังคลอดบุตร
วัฒนธรรมการกินรังนกของคนไทย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ น่าจะได้รับการถ่ายทอดมาจากชาวจีน
ในประเทศไทย รังนกที่มีคุณภาพดีที่สุดอยู่ที่ภาคใต้ตามเกาะแก่งต่างๆ ตั้งแต่เขตชุมพรลงไปถึงจังหวัดสตูล ผู้ที่จะเก็บรังนกต้องได้รับสัมปทานจากกระทรวงการคลังก่อน และมีสิทธิ์เก็บรังนกจากเกาะนั้นๆ ได้ปีละ ๓ ครั้ง จากสรรพคุณที่เชื่อกันดังกล่าวแล้ว บวกกับความยากลำบากในการเก็บรังนก ทำให้รังนกมีราคาแพงอย่างที่เห็นกันอยู่

รังนกได้มาอย่างไร  
รังนก คือส่วนของนํ้าลายนกนางแอ่นที่ใช้ทำรังเพื่อวางไข่ แต่ละปีจะมีการเก็บรังนก ๓ ครั้ง ครั้งแรกจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม หลังจากนั้นจะทิ้งช่วงประมาณ ๑ เดือนเพื่อให้นกทำรังเป็นครั้งที่ ๒ แล้วก็เก็บเหมือนครั้งแรก จากนั้นเว้นไปประมาณ ๓ เดือนเพื่อให้แม่นกวาง ไข่ก่อน แล้วรอให้ลูกนกฟักออกมาจนแข็งแรงบินออกไปหาอาหารได้จึงเก็บรังเป็นครั้งที่ ๓ หลัง จากนั้นก็รอถึงฤดูการเก็บรังนกในปีต่อไป
ผู้ได้รับสัมปทานจะต้องดูแลไม่ให้มีการรบกวนนก และดูแลสภาพแวดล้อมอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อจำนวนนกนางแอ่น ซึ่งนั่นหมายถึงปริมาณรายได้ในปีต่อๆ ไป

รังนกมีส่วนประกอบอะไรบ้าง
จากการวิเคราะห์หาส่วนผสมของรังนกนางแอ่นโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พบว่าประกอบด้วย น้ำร้อยละ ๕.๑๑ โปรตีนร้อยละ ๖๐.๙ แคลเซียมร้อยละ ๐.๘๕ โพแทสเซียมร้อยละ ๐.๐๓
สำหรับรังนกสำเร็จรูป พร้อมบริโภคที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ประกอบด้วยรังนกร้อยละ ๑ น้ำตาลกรวดประมาณร้อยละ ๑๒ นั้น เมื่อสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล นำมาวิเคราะห์พบว่ามีส่วนประกอบดังตาราง
สารอาหาร
ยี่ห้อที่ ๑
(๗๐ มิลลิลิตร)
ยี่ห้อที่ ๒
(๗๕ มิลลิลิตร)
ไข่ไก่
(๑ ฟอง)
นม
(๒๕๐ มิลลิลิตร)
พลังงาน (กิโลแคลอรี)
๕๒
๕๒
๘๑
๑๕๕

ความชื้น (%)
๕๗
๖๒
๓๗
๘๘

โปรตีน (กรัม)
๐.๒๘
๐.๒๒
๖.๕
๘.๕

ไขมัน (กรัม)
๐.๐๑
๐.๐๒
๕.๘

คาร์โบไฮเดรต(กรัม)
๑๑.๘
๑๒.๖
๐.๔
๑๒.๒

เถ้า (กรัม)
๐.๑๘
๐.๑๙
  

วิตามิน
    

     บี ๑ (มิลลิกรัม)
๐.๐๐๑
๐.๐๐๑
๐.๐๕
๐.๑

     บี ๒ (มิลลิกรัม)
๐.๐๑๘
๐.๐๑๔
๐.๑๙
๐.๔

แร่ธาตุ
    

    แคลเซียม(มิลลิกรัม)
๑๗.๐
๒๓.๘
๓๐
๒๙๕

    ฟอสฟอรัส(มิลลิกรัม)
๒.๓
๑.๕
๑๑๑
๒๔๘

    เหล็ก(มิลลิกรัม)
๐.๐๖
๐.๐๕
๑.๖
๐.๒๕

 
ความคิดเห็นในแง่โภชนาการ
จากผลการวิเคราะห์สารอาหารของรังนกสำเร็จรูปทั้ง ๒ ยี่ห้อที่มีขายในท้องตลาด จะเห็นว่าพลังงานที่ได้จากรังนกสำเร็จรูปนี้ได้จากนํ้าตาลกรวดที่เติมลงไปและมีปริมาณน้อยกว่าไข่ไก่ ๑ ฟอง หรือประมาณ ๑ ใน ๓ ของนม ๑ กล่อง
ในแง่โปรตีนมีข้อมูลน่าสนใจดังนี้
  • ถ้าต้องการได้โปรตีนจากรังนกสำเร็จรูปเท่ากับไข่ไก่ ๑ ฟอง จะต้องกินรังนกมากถึง ๒๖ ขวด (เป็นเงิน ๓,๒๕๐ กว่าบาท)
  • ถ้าจะให้ได้โปรตีนจากรังนกสำเร็จรูปเท่ากับนม ๑ กล่อง จะต้องกินรังนกมากถึง ๓๔ ขวด (เป็นเงิน ๔,๒๕๐ กว่าบาท)
  • อีกนัยหนึ่ง ปริมาณโปรตีนในรังนกสำเร็จรูป ๑ ขวด (๗๐-๗๕ มิลลิลิตร) เท่ากับนมสดประมาณครึ่งช้อนโต๊ะ หรือถั่วลิสง ๒ เมล็ด

   

เมื่อทราบข้อมูลดังกล่าว ผู้บริโภคคงจะต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ เพื่อให้ได้ชื่อว่า “ฉลาดซื้อ” หรือ “ฉลาดกิน” ขณะนี้ถ้าจะซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับตนเอง บุตรหลาน หรือซื้อเป็นของฝากผู้่วยหรือผู้สูงอายุคงจะต้องหาข้อมูลจากสื่อต่างๆ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีการบังคับให้ระบุคุณค่าทางโภชนาการ แต่ถ้ามีฉลากโภชนาการก็จะทำให้ง่ายต้อการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารให้เหมาะกับความต้องการของตนเอง และยังสามารถเปรียบเทียบระหว่างผลิตภัณฑ์ที่คล้ายๆ กันได้

วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2557

อาการ "หมดประจำเดือน" เป็นอย่างไร



อาการ "หมดประจำเดือน" เป็นอย่างไรผู้หญิงวัยทองหรือเมื่อหมดระดู ซึ่งในสมัยก่อนเรียกว่า "เลือดจะไป ลมจะมา" นั้น นอกจากจะไม่มีรอบประจำเดือนแล้ว ยังมีอาการต่างๆ ตามมาด้วย ได้แก่
1.อาการทางผิวหนัง จะมีอาการร้อนวูบวาบตามตัว เหงื่อออกในเวลากลางคืน บริเวณหน้า คอ หน้าอก และหลัง ผิวหนังแห้ง เหี่ยวย่น
2.อาการในช่องคลอด จะขาดน้ำหล่อเลี้ยงในช่องคลอด ทำให้มีอาการแห้ง คัน และแสบร้อนในช่องคลอด
3.อาการทางสมอง จะมีอาการนอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน กังวล หงุดหงิดง่าย เครียด หลงลืมง่าย ปวดศีรษะ
4.อาการอื่นๆ เช่น กระดูกพรุน ปัสสาวะบ่อย กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น

อาการเหล่านี้ในหญิงวัยทองแต่ละคน อาจแตกต่างกันไป บางคนอาจจะมีอาการในระดับมากจนถึงรุนแรง แต่บางคนอาจจะมีอาการเล็กๆ น้อยๆ หรือ ไม่มีอาการเลย ก็เป็นได้ ในอีกมิติหนึ่งบางคนจะมีอาการเหล่านี้ทั้งหมด หรือ มีหลายอาการประกอบกัน แต่บางคนก็อาจจะมีเพียงบางอาการเท่านั้น

โรคอารมณ์สองขั้ว



การเปลี่ยนแปลงของโรคอารมณ์สองขั้ว ผู้ที่เป็นจะอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปจากปกติเป็นช่วงๆ โดยเป็นแบบซึมเศร้าตามด้วยช่วงเวลาที่เป็นปกติดี จากนั้นอีกเป็นปีอาจเกิดอาการแบบเมเนียขึ้นมา บางคนอาจเริ่มต้นด้วยอาการแบบเมเนียก่อนก็ได้ และไม่จำเป็นต้องตามด้วยอาการด้านตรงข้ามเสมอไป เช่น อาจมีอาการแบบซึมเศร้า - ปกติ - ซึมเศร้า - เมเนีย
เขามีอาการอย่างไร
ผู้ที่เป็นจะมีอาการแสดงออกมาทั้งในด้านอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม โดยในแต่ละระยะจะมีอาการนานหลายสัปดาห์ จนอาจถึงหลายเดือนหากไม่ได้รับการรักษา
ในระยะซึมเศร้า ผู้ที่เป็นจะรู้สึกเบื่อหน่ายไปหมด จากเดิมชอบอ่านหนังสือพิมพ์ ติดละคร หรือดูข่าว ก็ไม่สนใจติดตามอะไรๆ ก็ไม่เพลินใจไปหมด คุณยายบางคน หลานๆ มาเยี่ยมจากต่างจังหวัดแทนที่จะดีใจกลับรู้สึกเฉยๆ บางคนจะมีอาการซึมเศร้า อารมณ์อ่อนไหวง่าย ร้องไห้เป็นว่าเล่น บางคนจะหงุดหงิด ขวางหูขวางตาไป หมด ทนเสียงดังไม่ได้ ไม่อยากให้ใครมาวุ่นวาย อาการเบื่อเป็นมาก แม้แต่อาหารการกินก็ไม่สนใจ บางคนน้ำหนักลดฮวบฮาบสัปดาห์ละ ๒-๓ กิโลกรัมก็มี เขาจะนั่งอยู่เฉยๆ ได้เป็นชั่วโมงๆ ความจำก็แย่ลง มักหลงๆ ลืมๆ เพราะใจลอย ตัดสินใจอะไรก็ไม่ได้ เพราะไม่มั่นใจไปเสียหมด เขาจะมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบไปหมด คิดว่าตัวเองเป็นภาระของคนอื่น ไม่มีใครสนใจตนเอง ถ้าตายไปคงจะดีจะพ้นทุกข์เสียที หากญาติหรือคนใกล้ชิดเห็นเขามีท่าทีบ่นไม่รู้จะอยู่ไปทำไม หรือพูดทำนองฝากฝัง สั่งเสีย อย่ามองข้ามหรือต่อว่าเขาว่าอย่าคิดมาก แต่ให้สนใจพยายามพูดคุยกับเขา รับฟังสิ่งที่เขาเล่าให้มากๆ ถ้ารู้สึกไม่เข้าใจหรือมองแล้วไม่ค่อยดี ขอแนะนำให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อรักษาโดยเร็ว

ในทางตรงกันข้าม ในระยะเมเนีย เขาจะมีอาการเปลี่ยนไปอีกขั้วหนึ่งเลย เขาจะมั่นใจตัวเองมาก รู้สึกว่าตัวเองเก่ง ความคิดไอเดียต่างๆ แล่นกระฉูด เวลาคิดอะไรจะมองข้ามไป ๒-๓ ช็อตจนคนตามไม่ทัน การพูดจาจะลื่นไหลพูดเก่ง คล่องแคล่ว มนุษยสัมพันธ์ดี เรียกว่าเจอใครก็เข้าไปทักไปคุย เห็นใครก็อยากจะช่วย ช่วงนี้เขาจะหน้าใหญ่ใจโต ใช้จ่ายเกินตัว ถ้าเป็นคุณตาคุณยายก็บริจาคเงินเข้าวัดจนลูกหลานระอา ถ้าเป็นเจ้าของบริษัทก็จัดงานเลี้ยง แจกโบนัส มีโครงการต่างๆมากมาย พลังของเขาจะมีเหลือเฟือ นอนดึกเพราะมีเรื่องให้ทำมากมาย ตี ๔ ก็ตื่นแล้ว ตื่นมาก็ทำโน่นทำนี่เลย ด้วยความที่เขาสนใจสิ่งต่างๆ มากมาย จึงทำให้เขาวอกแวกมาก ไม่สามารถอดทนทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานๆ เขาทำงานเยอะ แต่ก็ไม่เสร็จเป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง ความยับยั้งชั่งใจตนเองมีน้อยมากเรียกว่าพอนึกอยากจะทำอะไรต้องทำทันที หากมีใครมาห้ามจะโกรธรุนแรง อาการในระยะนี้หากเป็นมากๆ จะพูดไม่หยุด เสียงดัง เอาแต่ใจตัวเอง โกรธรุนแรงถึงขั้นอาละวาด ถ้ามีคนขัดขวาง


อาการระยะซึมเศร้าจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป มักเป็นหลังมีเรื่องกระทบกระเทือนใจ เช่น สอบตก เปลี่ยนงาน มีปัญหาครอบครัว แต่จะต่างจากปกติคือเขาจะเศร้าไม่เลิก งานการทำไม่ได้ ขาดงานบ่อยๆ มักเป็นนานเป็นเดือนๆ อาการระยะเมเนียมักเกิดขึ้นเร็ว และเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนภายใน ๒-๓ สัปดาห์อาการจะเต็มที่อารมณ์รุนแรง ก้าวร้าวจนญาติรับไม่ไหวต้องพามาโรงพยาบาล อาการในครั้งแรกๆจะเกิดหลังมีเรื่องกดดัน แต่หากเป็นหลายๆ ครั้งก็มักเป็นขึ้นมาเองโดยที่ไม่มีปัญหาอะไรมากระตุ้นเลย ข้อสังเกตประการหนึ่งคือคนที่อยู่ในระยะเมเนียจะไม่คิดว่าตัวเองผิดปกติ มองว่าช่วงนี้ตัวเองอารมณ์ดีหรือใครๆ ก็ขยันกันได้ ในขณะที่หากเป็นระยะซึมเศร้า คนที่เป็นจะพอบอกได้ว่าตนเองเปลี่ยนไปจากเดิม ในระยะซึมเศร้าหากคนใกล้ชิดสนใจมักสังเกตไม่ยากเพราะเขาจะซึมลงดูอมทุกข์ แต่อาการแบบเมเนียจะบอกยากโดยเฉพาะในระยะแรกๆ ที่อาการยังไม่มากเพราะดูเหมือนเขาจะเป็นแค่คนขยันอารมณ์ดีเท่านั้นเอง แต่ถ้าสังเกตจริงๆ ก็จะเห็นว่าลักษณะแบบนี้ไม่ใช่ตัวตนของเขา เขาจะดูเว่อร์กว่าปกติไปมาก
การวินิจฉัย
ไม่มีการตรวจพิเศษเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคนี้ ข้อมูลหลักในการวินิจฉัยคือ การซักประวัติอาการ ความเป็นไปของโรค ความเจ็บป่วยทางจิตในญาติ การใช้ยาและสารต่างๆ หรือโรคประจำตัว เพราะยาบางขนานหรือโรคทางร่างกายบางโรคอาจมีอาการทางจิตเหมือนกับโรคอารมณ์สองขั้วได้ แพทย์จะนำข้อมูลได้จากผู้ที่เป็นและญาติ ร่วมไปกับการตรวจร่างกายและตรวจสภาพจิตมาประมวลกันเพื่อการวินิจฉัย
โรคนี้เป็นกันบ่อยไหม
พบว่าคนเรามีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ประมาณร้อยละ ๑ หญิงและชายพบได้พอๆ กัน มักพบมีอาการครั้งแรกระหว่างอายุ ๑๕-๒๔ ปี
แล้วโรคอารมณ์สองขั้วเกิดจากอะไรล่ะ
โรคอารมณ์สองขั้วไม่ได้เป็นจากเขามีจิตใจอ่อนแอ หรือคิดมากอย่างที่คนอื่นมักมองกัน แต่เป็นจากความผิดปกติทางสมอง พบว่าผู้ที่เป็นโรคนี้มีการทำงานของสมองและสารเคมีในสมองซึ่งทำหน้าที่สื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทแปรปรวนไป ผู้ที่เป็นโรคอารมณ์สองขั้วมักมีประวัติญาติป่วยเป็นโรคทางอารมณ์ ลูกของเขามีโอกาสเกิดโรคนี้มากกว่าคนทั่วไปประมาณ ๘ เท่า สิ่งที่ถ่ายทอดเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เมื่อผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นเหล่านี้พบเหตุกดดันทางจิตใจ เช่น ตกงาน ญาติเสียชีวิต หรือมีการเสพยาใช้สารต่างๆ ก็จะไปกระตุ้นให้แนวโน้มการเกิดโรคที่แฝงเร้นอยู่นี้สำแดงอาการออกมา
แนวทางการรักษา 
การรักษาด้วยยาเป็นการรักษาหลักในโรคนี้ แพทย์จ่ายยาร่วมกับการช่วยเหลือให้คำปรึกษาทางจิตใจ เพื่อช่วยผู้ที่เป็นในการปรับตัวกับสังคม และจัดการกับปัญหาต่างๆ ในชีวิต
๑. การรักษาในระยะอาการกำเริบ
ระยะเมเนีย ยาที่นิยมใช้ ได้แก่
ลิเทียม (lithium) เป็นยาช่วยควบคุมอาการทางอารมณ์ การออกฤทธิ์ในการรักษาของลิเทียมต้องใช้เวลา ๑-๒ สัปดาห์ขึ้นไป ในระยะแรกจึงอาจต้องให้ยาขนานอื่นร่วมไปด้วย
วาลโพรเอต (valproate) และคาร์บามาซีพีน (carbamazepine) เป็นยากันชักแต่ในทางจิตเวชใช้เป็นยาทำให้อารมณ์คงที่เหมือนลิเทียม
ยารักษาโรคจิต ใช้เพื่อลดอาการพลุ่งพล่านหรือ อาการโรคจิตเช่นประสาทหลอน หลงผิดที่อาจเกิดในช่วงที่อาการมาก
ระยะซึมเศร้า
ยาแก้ซึมเศร้า ใช้เพื่อลดอาการซึมเศร้า ท้อแท้ ใช้เวลา ๑-๒ สัปดาห์จึงออกฤทธิ์ในการรักษา
แล้วจะต้องกินยาไปนานเท่าไร? 
โดยทั่วไปหากเป็นการป่วยครั้งแรกหลังจากที่แพทย์รักษาจนผู้ป่วยอาการกลับสู่ปกติแล้ว จะให้ยากินต่อไปอีกจนครบ ๖ เดือน แล้วค่อยๆ ลดยาลงจนหยุดไป โดยทั่วไปก็ใช้เวลาเกือบปี ที่พบบ่อยคือพออาการดีขึ้นหลังกินยาไปได้ ๑-๒ เดือนผู้ป่วยก็ไม่มาพบแพทย์ ไม่ยอมกินยาต่อ เพราะคิดว่าหายแล้ว หรือกลัวติดยา กลัวว่ายาจะสะสม ในความเป็นจริงแล้วยาทางจิตเวชที่จะมีติดก็คือยานอนหลับเท่านั้น (ซึ่งจิตแพทย์เองก็ไม่นิยมใช้) ยาอื่นไม่พบติดยาแน่ๆ ที่สำคัญคือหากหยุดยาเร็วจะมีโอกาสกลับมามีอาการกำเริบอีกสูงมากเพราะตัวโรคยังไม่ทุเลาลงเต็มที่ เหมือนกับเป็นโรคปอดบวม แต่กินยาแก้อักเสบแค่ ๒ วัน พอหยุดยาปอดก็แย่ลงอีกแน่ๆ

๒. การป้องกัน
ผู้ที่มีอาการกำเริบ ๒ ครั้งขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นแบบเมเนียหรือซึมเศร้า ควรกินยาป้องกันระยะยาว โดยทั่วไปแพทย์จะให้กินนานอย่างน้อย ๒ ปีขึ้นไป
อยู่อย่างเข้าใจโรคอารมณ์สองขั้ว
การกินยาอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สามารถควบคุมอาการได้ดี รวมทั้งสามารถป้องกันการกำเริบในครั้งต่อไป และควรพบแพทย์ตามนัดเพื่อประเมินผลการรักษาตลอดจนผลข้างเคียงจากยา แพทย์อาจปรับยาเป็นช่วงๆ ตามแต่อาการของโรค ควรบอกแพทย์อย่างไม่ปิดบังถึงอารมณ์และพฤติกรรมต่างๆ โดยเฉพาะหากไม่แน่ใจว่าเป็นช่วงที่อารมณ์เปลี่ยนแปลงหรือไม่ การปฏิบัติตัวที่สำคัญในโรคนี้ได้แก่การรักษาความสม่ำเสมอในการดำเนินกิจวัตรพื้นฐานประจำวัน ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการนอน พบว่าการนอนน้อยติดต่อกันหลายวันทำให้อาการแกว่งไกวได้ จึงควรเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงการนอนดึก หรือดื่มแอลกอฮอล์

ในช่วงที่เริ่มมีอาการเมเนียให้เลี่ยงการตัดสินใจ ที่สำคัญๆ หาหลักควบคุมการใช้เงิน (เช่น ฝากเงินไว้กับภรรยา) หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่กระตุ้นอารมณ์มากๆ  ให้คนใกล้ชิดและญาติคอยเตือนเมื่อเห็นว่าตนเองมีพฤติกรรมที่อาจไม่เหมาะสม ในช่วงซึมเศร้าหลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่สำคัญๆ เช่น ลาออกจากงาน การออกกำลังกาย โดยในผู้ที่มีอาการซึมเศร้าไม่มาก จะรู้สึกว่าจิตใจคลายความเศร้า และแจ่มใส ขึ้นได้ หากอาการมากอยู่ อย่ากดดันตัวเองให้ทำสิ่งต่างๆ ได้เหมือนเดิม ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ยังต้องการการพักผ่อนทั้งทางร่างกายและจิตใจ การกระตุ้นตนเองมากไป กลับยิ่งจะทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ที่ทำไม่ได้อย่างที่หวัง การเข้าใจจากคนใกล้ชิดและญาติมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้ที่เป็นมีกำลังใจในการรักษาให้ตนเองกลับสู่ปกติ ญาติยังมีส่วนสำคัญในการสังเกตว่าผู้ที่เป็นมีอาการกลับเป็นซ้ำหรือไม่ โดยในช่วงแรกที่อาการยังไม่มาก ผู้ที่เป็นจะไม่ทราบว่าตนเองเปลี่ยนแปลงไป
โรคอารมณ์สองขั้วเกิดจากความผิดปกติทางสมอง ไม่ได้เกิดจากคิดมากหรือพ่อแม่เลี้ยงดูไม่ดี โรครักษาได้ ยาใหม่ๆ มีมาก หากไม่แน่ใจว่าตนเองเป็นหรือ เปล่าก็ไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาก่อนก็ได้ คนที่เป็นแล้วก็ควรติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ มีปัญหาอะไร ก็บอกแพทย์ เพื่อที่จะได้ปรับให้ผลการรักษาออกมาดีที่สุด ญาติมีส่วนสำคัญมาก พบว่าผู้ป่วยที่ญาติเข้าใจสนับสนุนให้กำลังใจ จะมีอาการโดยรวมแกว่งไกวน้อยกว่าครอบครัวที่ไม่เข้าใจหรือไม่สนใจผู้ป่วย

เดิน...ลดความดันเลือดสูง




การเดินป้องกันความดันโลหิตสูงได้ ขณะที่คนที่เป็นอยู่แล้ว การเดินช่วยลดได้ มีการทำวิจัยเรื่อง "เดินจงกรม" ในคนไทยที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงปานกลาง พบว่าการเดินจงกรม เดินไปเดินมาเงียบๆ ธรรมดาๆ 15 นาทีแล้วนั่งพัก 5 นาที วัดความดันลดลง 3 มม.ปรอท ลดโอกาสเสียชีวิตจากอัมพฤกษ์ อัมพาต ประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ ลดโอกาสเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์

อย่างไร เรียกว่า ตายดี



     “โยม... ช่วงหลังๆ นี้ ที่วัด... คนที่เสียชีวิตที่ญาตินำมาทำพิธีสวดศพ บำเพ็ญกุศล มีแต่โรคมะเร็ง
ทั้งนั้นเลย หาที่ตายแบบธรรมชาติ ชราภาพ หมดอายุมีน้อยลง” พระอาจารย์ที่สนิทชิดเชื้อกัน
รูปหนึ่ง ในวัดชลประทานรังสฤษฏ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ปรารภกับผมขณะนั่งสนทนากัน
     “เยอะขนาดไหน พระอาจารย์” ผมถามด้วยความอยากรู้
     “โอ้ย... ประมาณครึ่งหนึ่งละที่เป็นมะเร็ง นอกนั้นก็อุบัติเหตุรถยนต์บ้าง เป็นโรคหัวใจวาย
เฉียบพลันบ้าง ประเภทญาติทำใจไม่ได้ ตั้งตัวไม่ทันก็แยะมาก”
       ประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุต่างๆ ประมาณปีละ ๔ แสนรายในขณะนี้ ตัวเลขจากการศึกษาพบว่าเป็นการเสียชีวิตที่บ้านประมาณ ๕๑% โดยเฉพาะในชนบทซึ่งผิดกับฝรั่ง อย่างในอเมริกา มักเสียชีวิตที่โรงพยาลาลสูง
ถึงมากกว่า ๘๐% แต่แนวโน้มว่าในอนาคตการเสียชีวิตที่บ้านจะลดลงไปเรื่อยๆ
     เรื่องความตายเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องประสบพบพานไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ ในศาสนาพุทธเราสอนให้รู้จักมีมรณานุสติ คิดถึงความตายอยู่เนืองๆ เพื่อให้ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท คำพูดที่ว่า "ระหว่างพรุ่งนี้กับชาติหน้าไม่รู้ว่าอย่างไหนจะมาถึงก่อนกัน" เป็นอุทาหรณ์ที่เอาไว้สอนใจคนได้เป็นอย่างดี
     แล้วก็มาถึงคำถามที่ว่า แล้วตายดีนั้นเป็นอย่างไร ใครจะเป็นผู้เกื้อหนุน ก่อเกื้อปัจจัย ทำให้คนแต่ละคน "ตายดี" อย่างที่ต้องการ
๑. ตายที่บ้านดีกว่าตายที่โรงพยาบาล ลูกหลานบางคนมักทุ่มเทกับการรักษาพยาบาลพ่อแม่อย่าง "เท่าไหร่เท่ากัน" เพื่อหวังให้พ่อแม่ได้รับการเยียวยาอย่างดีที่สุด แต่จากการศึกษาวิจัย ผู้ป่วยในระยะท้ายเกือบทุกคน อยากเสียชีวิตที่บ้านมากที่สุด
๒. ตายโดยไม่ทุกข์ทรมาน ความทรมานในสภาวะใกล้ตายนั้น มีตั้งแต่ความเจ็บปวด แน่นอึดอัด หายใจไม่สะดวก ความหวาดกลัว การเยียวยาผู้ป่วยระยะสุดท้าย ไม่มีความทุกข์ทรมาน ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ จึงมีความจำเป็น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางญาติและบุคลากรทางการแพทย์ต้องร่วมมือกัน
๓. ตายอย่างมีสติ สงบ ไม่ทุรนทุรายดิ้นรน ไม่ถูกยื้อชีวิตด้วยการถูกใส่ท่อ สายระโยงระยางต่างๆ หรือการรักษาแบบรุกล้ำ (Invasive Treatment) ด้วยเครื่องมือต่างๆ ผู้ป่วยจำนวนมากเจริญสติ ด้วยอานาปานสติหรือสวดมนต์ขณะใกล้ตายจะทำให้จิตใจสงบ และเยือกเย็น ทำให้ญาติพลอยสงบระงับไปด้วย
๔. ตายท่ามกลางบรรยากาศที่อบอุ่น ไม่แปลกแยกแวดล้อมด้วยญาติมิตร ครอบครัวลูกหลาน บางคนขอจับมือสามีหรือภรรยาไว้ตลอดในยามใกล้สิ้นลม สิ่งแวดล้อมเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ต่อจิตวิญญาณความรู้สึกของคนใกล้ตาย
๕. ตายโดยมีเวลาสั่งเสีย ตระเตรียมมอบภารกิจ จัดการกับพินัยกรรมทรัพย์สินและปัญหาค้างคาใจต่างๆ บางคนรอญาติที่อยู่ต่างประเทศ บางคนอยากขอโทษขออโหสิกรรมคนที่ตนเองเคยล่วงเกินไว้
๖. ตายแล้วไม่ทำให้ครอบครัวลูกหลาน หมดเนิ้อหมดตัว เป็นหนี้สิน บางครอบครัวเงินทองทรัพย์สินที่สะสมมาตลอดชีวิต หายมลายไปหมดสิ้นกับการรักษาเยียวยาภายใน ๓-๖ เดือนสุดท้ายของชีวิต บางคนต้องไปกู้หนี้ยืมสินมากมายเป็นภาระระยะยาวหรือแม้กระทั้งข่าวคราว แม่หรือลูกที่ไปก่อคดีผิดกฏหมาย เช่น ลักทรัพย์ ฉ้อโกง เพื่อเอามาเยียวยารักษาความเจ็บป่วยเรื้อรังของคนในครอบครัวก็เป็นเรื่องที่ได้ยินได้ฟังกันอยู่บ่อยๆ
๗. ตายเมื่อถึงวัยและเวลาอันสมควร คนไทยเราขณะนี้ในปี ๒๕๕๖ ผู้ชายมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ ๗๑ ปี ผู้หญิงอยู่ที่ ๗๗ ปี แต่ทุกวันนี้บางคนเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเสียชีวิตตั้งแต่อายุ ๕๐ ปี บางคนเป็นไตวายเพราะเป็นเบาหวานตั้งแต่อายุ ๔๐ ปี บางคนเสียชีวิตจากโรคเอดส์ตอนอายุ ๓๐ ปี บางครอบครัวลูกตายก่อนพ่อแม่ คนเราหากจะต้องการทีอายุยืนถึงอายุขัยเฉลี่ย ต้องหมั่นเอาใจใส่ดูแลตนเองในทุกเรื่อง
๘. ตายแล้วใช้ร่างกายของตนเองก่อเกื้อประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคม การมีเจตนาขอบริจาคอวัยวะก็ดี เช่น ดวงตา ไต หลังเสียชีวิตเป็นอานิสงส์ที่มีคนสนใจกันมากขึ้น การบริคจาคร่างกายให้เป็นครูสำหรับให้นักศึกษาเรียนในวิชากายวิภาคศาสตร์ให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆถือเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคม
๙. ท้ายสุดคือการตายเสียก่อนตาย ซึ่งเป็นโศลกธรรมของท่านอาจารย์พุทธทาส ที่สอนให้เรารู้จักการมีมรณานุสตื การใช้หลักไตรลักษณ์ในการดำรงชีวิต รู้จักปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งต่างๆ และให้ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท เมื่อถึงเวลาของความตายมาถึง ก็จะยิ้มแย้มเข้าสู่ความตายอย่างเข้าใจและสงบ

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) : สนับสนุนให้คนไทยห่างไกลโรค
สายด่วน สปสช. โทร 1330 ทุกวัน 24 ชั่วโมง

ไฟลามทุ่ง



ไฟลามทุ่ง เป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนัง มีลักษณะเป็นผื่นแดง ลุกลามเร็ว คล้ายไฟลามทุ่ง สามารถรักษาให้หายขาดด้วยยาปฏิชีวนะที่ใช้ฆ่าเชื้อ
ข้อสำคัญ ต้องรีบรักษาตั้งแต่แรก
หากปล่อยทิ้งไว้ หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่กินยากดภูมิคุ้มกัน อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงเป็นอันตรายได้
  • ชื่อภาษาไทย
ไฟลามทุ่ง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้นอักเสบ
  • ชื่อภาษาอังกฤษ
Erysipelas, St. Anthony's Fire
  • สาเหตุ
โรคนี้เป็นการอักเสบของผิวหนังชั้นหนังแท้และเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้น (upper subcutaneous tissue) รวมทั้งท่อน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง
ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “เบตาเฮโมโลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (beta hemolytic group A streptococcus)”* ส่วนน้อยอาจเกิดจากสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มอื่น หรือเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น
เชื้อจะเข้าทางบาดแผลหรือรอยแยกของผิวหนัง (เช่น แผลถูกของมีคมบาด แผลถลอก รอยแกะเกา แผลผ่าตัด) ผู้ป่วยมักมีประวัติเกิดบาดแผลที่ผิวหนังบริเวณที่จะเกิดไฟลามทุ่งมาก่อน (แต่บางคนอาจไม่มีประวัติดังกล่าวชัดเจนก็ได้)
โรคนี้มักพบในทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่กินยากดภูมิคุ้มกัน (เช่น ยาสตีรอยด์ ซึ่งอาจผสมอยู่ในยาชุด ยาลูกกลอน) ผู้ที่ผ่าตัดหลอดเลือดดำที่ขา (นำไปทำบายพาสหลอดเลือดหัวใจ) หรือผู้ที่มีภาวะอุดตันของหลอดเลือดหรือท่อน้ำเหลือง

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
* มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า streptococcus pyogenes ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกันกับที่ทำให้คอหอยหรือทอนซิลอักเสบ
  • อาการ
มักพบผิวหนังมีการอักเสบ เป็นผื่นแดง ปวด บวม ร้อน (ใช้หลังมือคลำจะออกร้อนกว่าผิวหนังปกติ) ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ร่วมด้วย ซึ่งมักจะเกิดขึ้นภายใน ๔๘ ชั่วโมง หลังติดเชื้อ (มีบาดแผล)
ต่อมาผื่นจะลุกลามขยายออกโดยรอบอย่างรวดเร็ว แผ่เป็นแผ่นกว้าง ขอบนูนแยกออกจากผิวหนังที่ปกติอย่างชัดเจน และมีลักษณะคล้ายผิวส้ม เมื่อกดตรงบริเวณนั้นสีจะจางลงและมีรอยบุ๋มเล็กน้อย
ผื่นแดงที่แผ่ลามออกไปรวดเร็วนี้ เกิดจากพิษ (exotoxin) ของเชื้อโรค ไม่ใช่จากตัวเชื้อโดยตรง แม้ว่าเชื้อจะถูกกำจัดจากการใช้ยา พิษที่ตกค้างอยู่ก็ยังคงทำให้ผื่นลุกลามต่อไป จึงได้ชื่อ “ไฟลามทุ่ง”
ระยะท้าย ผื่นจะยุบและค่อยๆ จางหายไป ผิวหนังอาจลอกเป็นขุย และใช้เวลา ๒-๓ สัปดาห์ กว่าผื่นจะหายสนิท โดยไม่เป็นแผลเป็น
บางรายอาจพบรอยโรคเป็นเส้นสีแดง เนื่องจากท่อน้ำเหลืองอักเสบ ก่อนที่จะพบรอยผื่นแดงที่แผ่กระจาย และอาจพบต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณใกล้เคียงบวมโตและเจ็บ
ในรายที่เป็นรุนแรง อาจเกิดตุ่มน้ำพอง มีน้ำเหลืองเยิ้ม มักจะไม่เป็นหนองข้น (ถ้าเป็นหนองมักเกิดจากเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ)
มักเกิดบริเวณขา อาจพบที่แก้ม รอบหู รอบตา แขน นิ้วมือ หรือนิ้วเท้าก็ได้
  • การแยกโรค
ผิวหนังอักเสบเป็นรอยผื่นแดง ปวด ร้อน อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่พบบ่อยได้แก่
  • เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ (cellulitis) มีสาเหตุและลักษณะอาการแสดงแบบเดียวกับไฟลามทุ่ง แต่กินลึกถึงเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นที่อยู่ลึกกว่า ได้แก่ชั้นไขมันด้วย ผื่นจะมีขอบไม่ชัดเจนแบบไฟลามทุ่งและอาจพบเป็นหนองหรือผิวหนังกลายเป็นเนื้อตายร่วมด้วย
  • งูสวัด (herpes zoster) ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นผื่นแดง ปวดแสบปวดร้อนและมีตุ่มน้ำพุขึ้นเรียงเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาท อาจพบที่ใบหน้า ต้นแขน ชายโครง หรือขา มักเกิดขึ้นเพียงข้างใดข้างหนึ่ง ต่อมาตุ่มจะแห้งตกสะเก็ด และทุเลาภายใน ๒-๓ สัปดาห์ อาจมีไข้ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
  • ลมพิษ (urticaria) ผู้ป่วยจะมีผื่นนูนแดง และคัน ไม่ปวด เกิดขึ้นฉับพลัน หลังมีอาการแพ้ เช่น แพ้อาหาร แพ้ยา แพ้ฝุ่น เป็นต้น มักไม่มีไข้ และจะขึ้นพร้อมกันทั่วร่างกาย
  • เกาต์ (gout) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อ ข้อบวมแดงร้อน มักเป็นที่ข้อหัวแม่เท้า หรือข้อเท้า เพียงข้อใดข้อหนึ่ง อาจมีไข้ร่วมด้วย มักเกิดขึ้นหลังกินเลี้ยง ดื่มสุรา หรือกินอาหารที่ให้ยูริกสูง เช่น เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล พืชผักหน่ออ่อน ยอดผัก
  • การวินิจฉัย
แพทย์มักจะวินิจฉัยโรคไฟลามทุ่งจากลักษณะอาการแสดง และการตรวจพบผื่นแดงร้อน ปวด บวม ลุกลามเร็ว มีขอบชัดเจน
ในรายที่ไม่แน่ใจ อาจทำการตรวจเลือด หรือเพาะเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรายที่มีภาวะโลหิตเป็นพิษแทรกซ้อน
  • การดูแลตนเอง
หากพบมีอาการอักเสบของผิวหนัง คือเป็นรอยผื่นแดง ร้อน ปวด บวม ลุกลามรวดเร็ว หรือมีไข้ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นเบาหวาน ทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น กินยาสตีรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน)
เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไฟลามทุ่ง ควรรับการรักษาจากแพทย์อย่างจริงจัง และใช้ยาปฏิชีวนะให้ครบตามที่แพทย์แนะนำ อย่าหยุดยาเอง หรือหันไปใช้วิธีรักษาอื่น
ผู้ป่วยควรหยุดพักการเคลื่อนไหว และยกแขนหรือขาข้างที่เป็นให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อลดอาการปวดและบวม
บางารายอาจต้องใช้ผ้ายืด (elastic bandage) พัน ตามคำแนะนำของแพทย์
  • การรักษา
แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ เช่น เพนิซิลลิน อะม็อกซีซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน นาน ๑๐-๒๐ วัน
ถ้ามีไข้หรือปวดมาก ให้พาราเซตามอลบรรเทา
ในรายที่เป็นรุนแรง หรือสงสัยมีภาวะโลหิตเป็นพิษแทรกซ้อน แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลและใช้ยาปฏิชีวนะ (เช่น เพนิซิลลิน เซฟาโลสปอริน) ชนิดฉีด จนกว่าจะทุเลาจึงค่อยเปลี่ยนเป็นยาปฏิชีวนะชนิดกิน
  • ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าปล่อยทิ้งไว้ หรือได้รับการรักษาช้าเกินไป เชื้ออาจลุกลามเข้ากระแสเลือด เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ ซึ่งหากพบในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้
บางรายเชื้ออาจแพร่กระจายไปที่หัวใจ (กลายเป็นเยื่อบุหัวใจอักเสบ) หรือข้อ (กลายเป็นข้ออักเสบชนิดเป็นหนอง)
ในเด็กอายุต่ำกว่า ๑๐ ปี อาจกลายเป็นหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน (acute glomerulonephritis) มีอาการไข้สูง บวมทั้งตัว ปัสสาวะสีแดง คล้ายสีน้ำล้างเนื้อ
ร้อยละ ๑๖-๓๐ ของผู้ป่วยโรคนี้ หลังจากรักษาหายแล้ว อาจกำเริบซ้ำได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น เบาหวาน ผู้สูงอายุ) หรือมีความผิดปกติของท่อน้ำเหลือง
ถ้าเป็นซ้ำบ่อยๆ อาจทำให้ท่อน้ำเหลืองถูกทำลายถาวร เกิดอาการบวมของแขนหรือขาได้
  • การดำเนินโรค
หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรก อาการมักจะทุเลาภายใน ๒๔-๗๒ ชั่วโมง คือไข้ลด อาการปวดหรือร้อนของผื่นลดลง
ส่วนผื่นอาจลุกลามต่อไป และจะค่อยๆ จางหายไปใน ๒-๓ สัปดาห์
ในรายที่ได้รับการรักษาช้าเกินไป หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งอาจรุนแรงถึงเป็นอันตรายได้
  • การป้องกัน
๑. ระมัดระวังอย่าให้เกิดบาดแผลที่ผิวหนัง
๒. ถ้ามีบาดแผลเกิดขึ้น รีบล้างด้วยน้ำกับสบู่ และใช้ขี้ผึ้งที่เข้ายาปฏิชีวนะทา
๓. หากพบว่าผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นแดงร้อน หรือมีลักษณะเป็นเส้นสีแดง หรือมีไข้ร่วมด้วย หรือเป็นเบาหวาน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาแต่เนิ่นๆ
  • ความชุก
ไฟลามทุ่ง พบได้บ่อยในผู้ที่มีบาดแผลหรือรอยแยกที่ผิวหนัง โดยเฉพาะในทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่กินยาสตีรอยด์ หรือยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่ผ่าตัดหลอดเลือดดำที่ขา

การถนอมรักษาสายตา ด้วยตนเองโดยวิธีนวด


การถนอมรักษาสายตามีมากมายหลายวิธีดังที่เคยเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว เช่น
1. ไม่มองของสีขาวกลางแดดหรือมองแสงสว่างจ้านานๆ เช่น ดวงอาทิตย์ แสงจากการเชื่อมโลหะ เป็นต้น
2. ไม่อ่านหนังสือตัวเล็กเกินไปเป็นเวลานานๆ รวมทั้งไม่อ่านหนังสือในรถ เรือ ที่มีความสั่นสะเทือนอยู่ตลอดเวลาด้วย
3 ไม่อ่านหนังสือในที่สลัวๆ หรือมีแสงมากเกินควร ต้องให้มีความเข้มของแสงพอเหมาะ ส่องมาจากข้างหลังหรือด้านซ้ายมือ
4. ไม่อ่านหนังสือ (หรือมองวัตถุ) ชิดใบหน้า ควรวางหนังสือให้ห่างจากตาประมาณ 1 ฟุต
5. ไม่เอามือหรือผ้าสกปรกเช็ดหรือขยี้ตา
6. ระวังไม่ให้มีการกระทบกระเทือนกะโหลกศีรษะบริเวณเบ้าตา เช่น ชกต่อย อุบัติเหตุ ยิงหนังสติ๊กถูกตา ถูกไอสารเคมี หรือน้ำยาที่ระคายต่อตา
7. ไม่ไว้ผมยาวปรกหน้าและมาบังตา ทำให้มองไม่ถนัด และเป็นช่องทางให้ควาบสกปรกจากผมเข้าเบ้าตาได้
8. ไม่ใช้ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว หรือผ้าขาวม้าร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยเป็นโรคตา เป็นต้น
9. เมื่อเป็นโรคตาต้องรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที ไม่ควรใช้ยาตา (หยอด, ป้าย) เอง
10. เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับสายตา แว่นตา ควรไปปรึกษาแพทย์เรื่องการใส่แว่นและเรื่องการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม
การฝึกนวดตนเอง 7 ท่า
ท่าที่ 1 ท่าเสยผม
ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง กดขอบกระบอกตาบนให้แน่นพอควร ทำทั้ง 2 ข้างพร้อมๆ กัน ค่อยๆ ดันนิ้วทั้ง 3 นิ้วเรื่อยขึ้นไปบนศีรษะจนถึงท้ายทอยแบบเสยผม ทำ 10-20 ครั้ง
 
 
ท่าที่ 2 ท่าประแป้ง
ใช้นิ้วกลางทั้งสอง กดตรงหัวตา (โดนสันจมูก) แน่นพอควรดันนิ้วขึ้นไปจนถึงหน้าผาก แล้วใช้นิ้วทั้งหมด (เว้นนิ้วหัวแม่มือ) แตะหน้าผากโดยให้ปลายนิ้วมือจรดกัน แล้วลูบลงไปข้างแก้มแบบแนบสนิทมายังคาง ทำ 10-20 ครั้ง
 

ท่าที่ 3 ท่าเช็ดปาก
ใช้ฝ่ามือขวาทาบบนปากลากมือไปทางขวาให้สุด ให้ฝ่ามือกดแน่นกับปากพอสมควร เปลี่ยนใช้มือซ้ายทาบปากแล้วทำแบบเดียวกันนับเป็น 1 ครั้ง ทำ 10-20 ครั้ง
 

ท่าที่ 4 ท่าเช็ดคาง
ใช้หลังมือขวาทาบใต้คาง แล้วลากมือจากทางซ้ายไปขวาให้หลังมือกดแน่นกับใต้คางพอควร เปลี่ยนใช้มือซ้ายทำแบบเดียวกัน นับเป็น 1 ครั้ง ทำ 10-20 ครั้ง
 

ท่าที่ 5 ท่ากดใต้คาง
ใช้นิ้วหัวแม่มือทั้ง 2 ข้างกดใต้คาง โดยให้ปลายนิ้วตั้งฉากกับคาง ใช้แรงกดพอควรและกดนานพอควร (นาน 10 วินาที หรือนับ 1-10 อย่างช้าๆ) เลื่อนจุดกดให้ทั่วใต้คางเฉพาะทางด้านหน้า ทำ 5-10 ครั้ง
 

ท่าที่ 6 ท่าถูหน้าและหลังหู
ใช้มือแต่ละข้างคีบหู โดยกางนิ้วกลางและนิ้วชี้คีบอย่างหลวมๆ วางมือให้แนบสนิทกับแก้ม ถูขึ้นลงแรงๆ นับเป็น 1 ครั้ง ทำ 20-30 ครั้ง
 

ท่าที่ 7 ท่าตบท้ายทอย
ใช้ฝ่ามือปิดหู (มือซ้ายปิดหูซ้าย มือขวาปิดหูขวา) ใช้นิ้วทั้งหมดอยู่ตรงท้ายทอย และปลายนิ้วกลางจรดกัน กระดิกนิ้วให้มากที่สุด แล้วตบที่ท้ายทอยพร้อมกันทั้ง 2 มือด้วยความแรงพอสมควร ทำ 20-30 ครั้ง
 

* สำหรับท่าตบท้ายทอย ต้องไม่ยกฝ่ามือออกจากหู เพราะทำให้การตบแรงเกินควรซึ่งจะกลับให้ผลเสียได้
เมื่อท่านทำครบทั้ง 7 ท่าแล้ว จะรู้สึกหัวโปร่ง เบาสบาย ตาสว่าง หายง่วงนอน รู้สึกสดชื่น ถ้าเป็นไปได้ควรทำวันละ 2 ครั้ง คือ ตอนเช้า ตอนเย็น
ลองทำกันดูนะครับ และเขียนเล่าอาการก่อนและหลังนวดมาแลกเปลี่ยนกับผู้เขียน ส่งไปที่นิตยสาร “หมอชาวบ้าน”
ข้อพึงสังเกตเกี่ยวกับการนวดตนเองเพื่อช่วยสายตา
- ต้องตัดเล็บให้สั้น เพื่อมิให้ไปขีดข่วนใบหน้า
- ไม่ใส่แหวนและต่างหูเพราะอาจจะบูดใบหน้าทำให้เกิดบาดแผลได้
- ต้องล้างมือและหน้าให้สะอาด เช็ดให้แห้งก่อนการนวด
- งดการนวดเมื่อมีไข้ ใบหน้าเป็นสิว ฝี หรือมีโรคผิวหนัง
- เริ่มนวลแต่เพียงน้อยครั้ง เช่น 5-10 ครั้ง แล้วค่อยเพิ่มทีละน้อย
- ตั้งใจนวด มิใช่ทำให้เสร็จๆ ไป หรือทำลวกๆ ถ้าเป้นไปได้ควรทำสมาธิไปพร้อมๆ กันด้วย
- การนวดต้องทำประจำจึงจะได้ผล ไม่ทำๆ หยุดๆ