amazon

วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2557

อย่างไร เรียกว่า ตายดี



     “โยม... ช่วงหลังๆ นี้ ที่วัด... คนที่เสียชีวิตที่ญาตินำมาทำพิธีสวดศพ บำเพ็ญกุศล มีแต่โรคมะเร็ง
ทั้งนั้นเลย หาที่ตายแบบธรรมชาติ ชราภาพ หมดอายุมีน้อยลง” พระอาจารย์ที่สนิทชิดเชื้อกัน
รูปหนึ่ง ในวัดชลประทานรังสฤษฏ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ปรารภกับผมขณะนั่งสนทนากัน
     “เยอะขนาดไหน พระอาจารย์” ผมถามด้วยความอยากรู้
     “โอ้ย... ประมาณครึ่งหนึ่งละที่เป็นมะเร็ง นอกนั้นก็อุบัติเหตุรถยนต์บ้าง เป็นโรคหัวใจวาย
เฉียบพลันบ้าง ประเภทญาติทำใจไม่ได้ ตั้งตัวไม่ทันก็แยะมาก”
       ประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุต่างๆ ประมาณปีละ ๔ แสนรายในขณะนี้ ตัวเลขจากการศึกษาพบว่าเป็นการเสียชีวิตที่บ้านประมาณ ๕๑% โดยเฉพาะในชนบทซึ่งผิดกับฝรั่ง อย่างในอเมริกา มักเสียชีวิตที่โรงพยาลาลสูง
ถึงมากกว่า ๘๐% แต่แนวโน้มว่าในอนาคตการเสียชีวิตที่บ้านจะลดลงไปเรื่อยๆ
     เรื่องความตายเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องประสบพบพานไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ ในศาสนาพุทธเราสอนให้รู้จักมีมรณานุสติ คิดถึงความตายอยู่เนืองๆ เพื่อให้ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท คำพูดที่ว่า "ระหว่างพรุ่งนี้กับชาติหน้าไม่รู้ว่าอย่างไหนจะมาถึงก่อนกัน" เป็นอุทาหรณ์ที่เอาไว้สอนใจคนได้เป็นอย่างดี
     แล้วก็มาถึงคำถามที่ว่า แล้วตายดีนั้นเป็นอย่างไร ใครจะเป็นผู้เกื้อหนุน ก่อเกื้อปัจจัย ทำให้คนแต่ละคน "ตายดี" อย่างที่ต้องการ
๑. ตายที่บ้านดีกว่าตายที่โรงพยาบาล ลูกหลานบางคนมักทุ่มเทกับการรักษาพยาบาลพ่อแม่อย่าง "เท่าไหร่เท่ากัน" เพื่อหวังให้พ่อแม่ได้รับการเยียวยาอย่างดีที่สุด แต่จากการศึกษาวิจัย ผู้ป่วยในระยะท้ายเกือบทุกคน อยากเสียชีวิตที่บ้านมากที่สุด
๒. ตายโดยไม่ทุกข์ทรมาน ความทรมานในสภาวะใกล้ตายนั้น มีตั้งแต่ความเจ็บปวด แน่นอึดอัด หายใจไม่สะดวก ความหวาดกลัว การเยียวยาผู้ป่วยระยะสุดท้าย ไม่มีความทุกข์ทรมาน ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ จึงมีความจำเป็น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางญาติและบุคลากรทางการแพทย์ต้องร่วมมือกัน
๓. ตายอย่างมีสติ สงบ ไม่ทุรนทุรายดิ้นรน ไม่ถูกยื้อชีวิตด้วยการถูกใส่ท่อ สายระโยงระยางต่างๆ หรือการรักษาแบบรุกล้ำ (Invasive Treatment) ด้วยเครื่องมือต่างๆ ผู้ป่วยจำนวนมากเจริญสติ ด้วยอานาปานสติหรือสวดมนต์ขณะใกล้ตายจะทำให้จิตใจสงบ และเยือกเย็น ทำให้ญาติพลอยสงบระงับไปด้วย
๔. ตายท่ามกลางบรรยากาศที่อบอุ่น ไม่แปลกแยกแวดล้อมด้วยญาติมิตร ครอบครัวลูกหลาน บางคนขอจับมือสามีหรือภรรยาไว้ตลอดในยามใกล้สิ้นลม สิ่งแวดล้อมเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ต่อจิตวิญญาณความรู้สึกของคนใกล้ตาย
๕. ตายโดยมีเวลาสั่งเสีย ตระเตรียมมอบภารกิจ จัดการกับพินัยกรรมทรัพย์สินและปัญหาค้างคาใจต่างๆ บางคนรอญาติที่อยู่ต่างประเทศ บางคนอยากขอโทษขออโหสิกรรมคนที่ตนเองเคยล่วงเกินไว้
๖. ตายแล้วไม่ทำให้ครอบครัวลูกหลาน หมดเนิ้อหมดตัว เป็นหนี้สิน บางครอบครัวเงินทองทรัพย์สินที่สะสมมาตลอดชีวิต หายมลายไปหมดสิ้นกับการรักษาเยียวยาภายใน ๓-๖ เดือนสุดท้ายของชีวิต บางคนต้องไปกู้หนี้ยืมสินมากมายเป็นภาระระยะยาวหรือแม้กระทั้งข่าวคราว แม่หรือลูกที่ไปก่อคดีผิดกฏหมาย เช่น ลักทรัพย์ ฉ้อโกง เพื่อเอามาเยียวยารักษาความเจ็บป่วยเรื้อรังของคนในครอบครัวก็เป็นเรื่องที่ได้ยินได้ฟังกันอยู่บ่อยๆ
๗. ตายเมื่อถึงวัยและเวลาอันสมควร คนไทยเราขณะนี้ในปี ๒๕๕๖ ผู้ชายมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ ๗๑ ปี ผู้หญิงอยู่ที่ ๗๗ ปี แต่ทุกวันนี้บางคนเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเสียชีวิตตั้งแต่อายุ ๕๐ ปี บางคนเป็นไตวายเพราะเป็นเบาหวานตั้งแต่อายุ ๔๐ ปี บางคนเสียชีวิตจากโรคเอดส์ตอนอายุ ๓๐ ปี บางครอบครัวลูกตายก่อนพ่อแม่ คนเราหากจะต้องการทีอายุยืนถึงอายุขัยเฉลี่ย ต้องหมั่นเอาใจใส่ดูแลตนเองในทุกเรื่อง
๘. ตายแล้วใช้ร่างกายของตนเองก่อเกื้อประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคม การมีเจตนาขอบริจาคอวัยวะก็ดี เช่น ดวงตา ไต หลังเสียชีวิตเป็นอานิสงส์ที่มีคนสนใจกันมากขึ้น การบริคจาคร่างกายให้เป็นครูสำหรับให้นักศึกษาเรียนในวิชากายวิภาคศาสตร์ให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆถือเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคม
๙. ท้ายสุดคือการตายเสียก่อนตาย ซึ่งเป็นโศลกธรรมของท่านอาจารย์พุทธทาส ที่สอนให้เรารู้จักการมีมรณานุสตื การใช้หลักไตรลักษณ์ในการดำรงชีวิต รู้จักปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งต่างๆ และให้ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท เมื่อถึงเวลาของความตายมาถึง ก็จะยิ้มแย้มเข้าสู่ความตายอย่างเข้าใจและสงบ

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) : สนับสนุนให้คนไทยห่างไกลโรค
สายด่วน สปสช. โทร 1330 ทุกวัน 24 ชั่วโมง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น