amazon

วันพุธที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2557

กระดูกเสื่อม กระดูกพรุน กระดูกอ่อน



ถ้าจะกล่าวถึงโรคที่เกี่ยวกับกระดูกแล้ว สิ่งที่พูดถึงกันมากคือ กระดูกเสื่อม กระดูกพรุน และกระดูกอ่อน ซึ่งอย่าเหมารวมว่าเป็นโรคเดียวกันหรือมีการรักษาแบบเดียวกัน แต่ละอย่างก็มีลักษณะและการรักษาที่แตกต่างกันไป แต่กลับถูกนำมาใช้เพื่อส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ประเภทเสริมกระดูกกันอย่างแพร่หลาย
     ปัจจุบันพบว่ามีการให้ข้อมูลและแนะนำให้กินแคลเซียม วิตามินดี น้ำมันตับปลา ตลอดจนวิตามินและเกลือแร่อื่นๆ ทั้งในรูปของยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและสตรีวัยหมดประจำเดือนว่าจะช่วยเสริมกระดูก ซึ่งเป็นการแนะนำโดยไม่ได้แยกแยะว่าการกินสารอาหารเหล่านี้มีความเหมาะสมแค่ไหนกับโรคกระดูกชนิดใด
     ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้นคือ แพทย์หลายท่านยังนิยมให้ผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อกินแคลเซียมทั้งชนิดเม็ดและชนิดละลายน้ำก่อนดื่ม โดยอาจไม่ได้พิจารณาให้รอบคอบตามโรคที่เป็นจริงๆ ซึ่งไม่เพียงแต่จะไม่ได้ประโยชน์ แต่อาจทำให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ เกิดอาการข้างเคียง และเกิดฤทธิ์ไม่พึงประสงค์ของแคลเซียมได้
     ผู้เขียนไม่ได้ต่อต้านการใช้แคลเซียมหรืออาหารเสริมกระดูก แต่อยากนำเสนอในมุมมองที่แตกต่างออกไปเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เพราะอยากให้พิจารณาใช้กันอย่างรอบคอบและให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงและตรงจุดตรงโรคมากกว่า 
     ดังนั้น จึงขออธิบายลักษณะของโรคกระดูกทั้ง ๓ แบบ คือ กระดูกเสื่อม กระดูกพรุน และกระดูกอ่อน เพื่อให้เห็นความแตกต่างกัน ดังนี้

กระดูกเสื่อม
     โรคกระดูกเสื่อม คือโรคที่มีการเสื่อมของกระดูกอ่อนของข้อที่มีการเคลื่อนไหวมาก เช่น ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อมือ ข้อศอก ข้อไหล่ และข้อนิ้วมือนิ้วเท้า ซึ่งส่วนประกอบหลักของกระดูกอ่อนเหล่านี้คือน้ำและโปรตีน ที่จะทำให้กระดูกอ่อนมีความยืดหยุ่น ทนต่อแรงกระแทกและเสียดสี แต่เมื่อใช้ไปนานๆ ก็จะเกิดการเสื่อมและสึกหรอ 
     เมื่อเสื่อมแล้วก็จะเกิดอาการปวดขัดตามข้อ ข้อโปนและผิดรูป มักพบในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานหนัก อย่างชาวไร่ชาวนา พ่อค้า แม่ค้า และกรรมกร คนเหล่านี้เมื่อไปโรงพยาบาล (ส่วนใหญ่ไปเป็นประจำ เพราะโรคไม่หาย) ก็จะได้ยาแก้อักเสบ บรรเทาปวด ยาลดกรด ยาเคลือบกระเพาะ แคลเซียม รวมถึงกลูโคซามีน เป็นหลัก 
     เรียกว่าถ้าใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า เบิกราชการ หรือบริษัทได้ (ฟรี) ก็จะได้ยากลุ่มนี้กันทุกคน แล้วทราบกันหรือไม่ว่าห้ามกินยาลดกรดกับแคลเซียม เพราะจะไม่ดูดซึม อาจทำให้ท้องผูก และไม่เกิดประโยชน์อะไร กระดูกอ่อนเสื่อมนั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับแคลเซียม
     การรักษาคือ ถ้าปวดมากก็ใช้ยาบรรเทาปวดหรือลดการอักเสบเป็นครั้งคราว ลดการใช้งานของข้อนั้นๆ บริหารข้อเพื่อสร้างความแข็งแรง รวมถึงอาจใช้ยาเสริมกระดูกพวกกลูโคซามีนช่วยได้บ้าง

กระดูกพรุน
     โรคกระดูกพรุน หรือกระดูกโปร่งบาง บางครั้งเรียกว่ากระดูกผุ เป็นการเสื่อมของกระดูกแข็งที่เป็นโครงสร้างของร่างกาย โดยมีเนื้อเยื่อกระดูกและแคลเซียมลดลง ทำให้กระดูกทรุดลงและแตกหักง่าย มักพบในผู้สูงอายุและสตรีหลังหมดประจำเดือน 
     โรคนี้แหละที่เป็นจุดขายของแคลเซียมและอาหารเสริมต่างๆ ในทางการตลาดจะส่งเสริมการขายโดยการวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้สูงอายุและสตรีสูงอายุเกือบทุกรายถ้าได้ตรวจก็จะพบว่ากระดูกบางกว่าปกติ แล้วก็จะได้แคลเซียมมา ซึ่งมักกำหนดให้กินในขนาดสูงๆ (ไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ มิลลิกรัมต่อวัน) โดยลืมพิจารณาว่าผู้ป่วยนั้นได้แคลเซียมจากอาหารการกินมากน้อยเพียงใด แล้วแคลเซียมที่ให้มานั้นเป็นเกลือแคลเซียมชนิดใด เวลาแตกตัวแล้วจะให้แคลเซียมอิสระปริมาณเท่าใด และที่สำคัญคือถ้าได้มากไปจะเกิดผลเสียอย่างไร
     แคลเซียมมีในอาหารหลายๆ ประเภท เช่น ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง นม หรือแม้กระทั่งผักใบเขียว ถ้าเทียบตามน้ำหนักพบว่า นมวัวมีแคลเซียมน้อยกว่ากุ้งแห้งเกือบ ๒๐ เท่า และน้อยกว่าผักคะน้า ๒ เท่า ดังนั้น ถ้ากินอาหารได้ตามปกติครบ ๕ หมู่ในปริมาณที่เพียงพอก็จะไม่ขาดสารอาหารใดๆ รวมถึงแคลเซียม

กระดูกอ่อน
โรคกระดูกประเภทสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือโรคกระดูกอ่อน เป็นลักษณะที่กระดูกขาดแคลเซียมโดยที่เนื้อเยื่อกระดูกปกติ ความแข็งแรงจึงลดลงแต่ยืดหยุ่นมากขึ้น มักพบในคนที่ขาดวิตามินดี เด็กช่วงอายุ ๖ เดือนถึง ๓ ขวบ 
คนที่ขาดสารอาหารรุนแรง ผู้สูงอายุที่ขาดการเคลื่อนไหวและไม่ได้สัมผัสแสงแดด ผู้ป่วยโรคไตพิการ หรือผู้ที่มีต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ
โรคนี้แหละที่ถือว่าร่างกายขาดแคลเซียมอย่างแท้จริง และจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมด้วย การให้ทั้งแคลเซียมและวิตามินดี ร่วมกับการแก้ไขที่ต้นเหตุ
เรื่องของโรคกระดูกประเภทต่างๆ ที่กล่าวมา คงพอจะแยกแยะได้บ้างว่า การใช้แคลเซียมหรือผลิตภัณฑ์เสริมกระดูกต่างๆ นั้นจำเป็นมากน้อยแค่ไหน และใช้อย่างไรเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น