amazon

วันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557

โรคบ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่า



บ้านหมุน (vertigo) หมายถึง อาการวิงเวียน เห็นพื้นหรือเพดานบ้านหมุน หรือสิ่งรอบตัวหมุน อาจเกิดขึ้นเป็นช่วงเวลาสั้นๆ หรือนานเป็นชั่วโมงๆ หรือเป็นวันๆ ทั้งนี้ขึ้นกับโรคที่เป็นสาเหตุ ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสมอง และหูชั้นใน ในส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว และรับรู้ทิศทางการเคลื่อนไหวของร่างกาย
สาเหตุที่พบได้บ่อยสุดของอาการบ้านหมุน ก็คือ “โรคบ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่า” ซึ่งจะทำให้เกิดอาการบ้านหมุนชั่วประเดี๋ยวเดียวและหายได้เอง แต่จะกำเริบเป็นครั้งคราว เวลาเปลี่ยนท่าศีรษะในบางท่า โรคนี้ไม่มีอันตรายใดๆ นอกจากสร้างความรำคาญหรือทำให้ตกใจกลัวหรือวิตกกังวล

ชื่อภาษาไทย   
บ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่า บีพีพีวี

ชื่อภาษาอังกฤษ
Benign paroxysmal positional vertigo, BPPV
สาเหตุ   
เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของหูชั้นในที่ทำหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับการทรงตัว ซึ่งประกอบด้วยหลอดกึ่งวง (semicircular canal) ๓ อัน คือ ด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้าง ภายในมีของเหลวและเซลล์ประสาทบรรจุอยู่ หลอดกึ่งวงเหล่านี้เชื่อมต่อกับกระเปาะ ในคนทั่วไปจะมีผลึกหินปูนเกาะอยู่ที่กระเปาะ ทำหน้าที่ในการรับรู้ทิศทางการเคลื่อนไหวของร่างกาย ถ้าหากมีผลึกหินปูนจำนวนมากหลุดออกมาจากส่วนนี้ เข้าไปลอยอยู่ในของเหลวภายในหลอดกึ่งวง (ส่วนใหญ่จะเกิดกับหลอดกึ่งวงด้านหลัง) ก็จะเกิดการรบกวนเซลล์ประสาทภายในหลอดกึ่งวง ทำให้เกิดอาการบ้านหมุนอย่างรุนแรงและฉับพลัน
ภาวะนี้มักเกิดจากความเสื่อมของอวัยวะการทรงตัวภายในหูชั้นใน จึงพบได้บ่อยในคนวัยกลางคนขึ้นไป
ส่วนผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า ๕๐ ปี มักเกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ การติดเชื้อไวรัสของหูชั้นใน และมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยเกิดภาวะนี้โดยไม่ทราบสาเหตุ
      
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการวิงเวียน เห็นบ้านหมุนหรือสิ่งรอบตัวหมุนอย่างแรง ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันทันทีขณะเปลี่ยนท่า หรือเคลื่อนไหวศีรษะ ที่พบบ่อย ได้แก่ ท่าลุกขึ้นจากเตียงนอน หรือท่านอนพลิกตะแคงตัว บางคนก็อาจเป็นขณะล้มตัวลงนอน ก้มศีรษะ (ก้มหาของ กวาดบ้าน กราบพระ) หรือเงยศีรษะ (เงยมองขึ้นข้างบนหาของ สอยผลไม้ นอนบนเตียงทำฟันหรือเตียงสระผม) อาการบ้านหมุนแต่ละครั้งจะเป็นอยู่นานประมาณ ๒๐-๓๐ วินาที (ส่วนใหญ่ไม่เกิน ๑ นาที) แต่อาจกำเริบใหม่เมื่อเคลื่อนไหวศีรษะในท่านั้นอีก
ในรายที่เป็นมากแม้แต่การเคลื่อนไหวศีรษะเพียงเล็กน้อยก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการบ้านหมุน  และมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย บางคนหลังจากหายบ้านหมุนแล้วยังอาจมีอาการคลื่นไส้ หรือรู้สึกโคลงเคลงนานหลายนาทีถึงหลายชั่วโมง
ในรายที่เป็นไม่มาก หลังจากหายบ้านหมุนแต่ละครั้งจะรู้สึกเป็นปกติดี จนกว่าจะถูกกระตุ้นให้เกิดอาการครั้งใหม่
ผู้ป่วยจะไม่มีอาการหูอื้อ หูตึง หรือแว่วเสียงดังในหูร่วมด้วย ถ้ามีมักจะเกิดจากสาเหตุอื่นๆ
อาการบ้านหมุนมักกำเริบเป็นครั้งคราวเมื่อเคลื่อนไหวศีรษะในท่าที่ทำให้เกิดอาการ บางคนอาจเป็นเพียง ๑-๒ ครั้งก็เว้นห่างไป แต่บางคนอาจกำเริบเป็นพักๆ อยู่นานหลายวัน หรือนานเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน แล้วก็หายไปได้เอง พอเว้นไปได้ระยะหนึ่ง (อาจเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน) อาการก็จะหวนกลับมากำเริบใหม่ได้อีก
ถ้าไม่ได้รับการรักษาก็จะเป็นๆ หายๆ เช่นนี้ไปเรื่อยๆ
      
การแยกโรค
อาการบ้านหมุนอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น

โรคหลอดเลือดสมองตีบ
พบในคนสูงอายุ ผู้ที่เป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง อ้วนหรือสูบบุหรี่จัด มักมีอาการแขนขาชา หรืออ่อนแรง ปากเบี้ยว มองเห็นภาพซ้อน พูดอ้อแอ้ กลืนลำบาก หรือเดินเซ ร่วมด้วย
 
เนื้องอกสมอง
มักมีอาการปวดศีรษะและเห็นบ้านหมุนนานเป็นแรมเดือน อาจมีอาการปากเบี้ยว หน้าชา หูอื้อ แว่วเสียงดังในหู เดินเซ คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย
 
หูชั้นในอักเสบ
มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส จะมีอาการบ้านหมุนรุนแรง และต่อเนื่องเป็นชั่วโมงๆ หรือเป็นวันๆ คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีอาการหูอื้อหรือแว่วเสียงดังในหูร่วมด้วย
 
ความผิดปกติอื่นๆ ของหูชั้นใน (เช่น เนื้องอก โรคเมเนียส์)
มักมีอาการบ้านหมุนต่อเนื่องเป็นนาทีๆ ถึงหลายชั่วโมง และมักมีอาการหูอื้อ หูตึง หรือแว่วเสียงดังในหู ร่วมด้วย
      
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการแสดงและการตรวจร่างกายเป็นหลัก
ถ้าไม่แน่ใจอาจต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจสมรรถภาพของการได้ยิน ทดสอบบนเก้าอี้หมุน เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น
       
การดูแลตนเอง
เมื่อมีอาการบ้านหมุนเกิดขึ้นฉับพลัน ควรดูแลตนเองดังนี้
♦ตั้งสติให้ดี นั่งหรือนอนนิ่งๆ ค่อยๆ หันศีรษะกลับมาอยู่ในที่สบาย เช่น ถ้าเป็นในท่าก้มหรือเงย หรือนอนตะแคง ให้หันศีรษะกลับมาอยู่ในท่าตรง
♦สังเกตว่ามีอาการบ้านหมุนนานเพียงใด มีอาการผิดปกติอื่นๆ (เช่น หูตึง หูอื้อ แว่วเสียงดังในหู แขนขาชา หรืออ่อนแรง ใบหน้าชา มองเห็นภาพซ้อน คลื่นไส้ อาเจียน เดินเซ เป็นต้น) ร่วมด้วยหรือไม่
♦ถ้ามีอาการเพียง ๒๐-๓๐ วินาที (เต็มที่ไม่เกิน ๑ นาที) และไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ (นอกจากคลื่นไส้ อาเจียนเพียงเล็กน้อย) แล้วหายเป็นปกติได้เองในเวลาไม่นาน หลังจากนั้นแข็งแรงดี กินอาหารได้และดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ ก็น่าจะเกิดจากโรคบ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่า ต่อไปควรหลีกเลี่ยงท่าที่ทำให้เกิดอาการ
      
ควรปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
♦ มีอาการบ้านหมุนแต่ละครั้งนานเกิน ๑ นาที
♦ มีอาการหูอื้อ หูตึง หรือแว่วเสียงดังในหู ร่วมด้วย
♦ มีอาการเดินเซ แขนขาชาหรืออ่อนแรง ใบหน้าชา ปากเบี้ยว พูดอ้อแอ้ กลืนลำบาก หรือมองเห็นภาพซ้อน
♦มีอาการอาเจียนรุนแรง
♦ เป็นโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง อ้วน หรือสูบบุหรี่
♦ เป็นๆ หายๆ บ่อย
♦ มีความวิตกกังวล

การรักษา
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคบ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่า แพทย์จะทำการรักษาด้วยการบริหารศีรษะ (ที่เรียกว่า Epley maneuver) เพื่อทำให้ผลึกหินปูนในหลอดกึ่งวงหมุนกลับไปอยู่ที่กระเปาะ (ภาพที่ ๑)
วิธีนี้ทำเพียงครั้งเดียว ช่วยให้อาการหายได้ทันทีถึงร้อยละ ๘๐ รายที่ไม่หายอาจต้องทำซ้ำ
เมื่อหายแล้ว ประมาณร้อยละ ๓๐ ของผู้ป่วยมีโอกาสกำเริบซ้ำใน ๑ ปี และร้อยละ ๕๐ กำเริบใน ๕ ปี เมื่อกำเริบก็ต้องรักษาด้วยวิธีนี้ซ้ำอีก
ในรายที่ทำวิธีดังกล่าวไม่ได้ผล หรือทนต่ออาการข้างเคียง (บ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน) ไม่ได้ หรือมีข้อห้ามทำ แพทย์จะสอนให้ผู้ป่วยทำท่าบริหาร (ที่เรียกว่า Brandt-Daroff exercise) โดยให้ผู้ป่วยทำเองที่บ้านทุกวัน วันละ ๓ ครั้ง นาน ๒ สัปดาห์ (ส่วนใหญ่จะทุเลาเมื่อทำไปได้ ๑๐ วัน) ในรายที่กำเริบบ่อย แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยทำท่าบริหารนี้ต่อเนื่องทุกวัน
มีน้อยรายมากที่การรักษาดังกล่าวไม่ได้ผล ถ้าหากมีอาการต่อเนื่องนานเกิน ๑ ปี แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งเป็นวิธีรักษาที่ได้ผลดี
      
ภาวะแทรกซ้อน
นอกจากความรู้สึกกลัวหรือทรมานขณะมีอาการบ้านหมุนกำเริบแล้ว โรคนี้มักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ยกเว้นในคนสูงอายุมากๆ หรือผู้ที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือมีโรคทางหูร่วมด้วย อาจเกิดการหกล้ม กระดูกหักได้
      
การดำเนินโรค
ส่วนใหญ่มักจะเป็นอยู่ไม่นาน ก็จะทุเลาได้เอง แต่เมื่อเว้นไประยะหนึ่งก็อาจกำเริบใหม่ได้เรื่อยๆ อาจจำเป็นต้องทำการรักษาด้วยการบริหารศีรษะ เป็นระยะๆ
      
การป้องกัน
๑. หลีกเลี่ยง เปลี่ยนศีรษะไปในท่าที่ทำให้อาการกำเริบ
๒. ถ้าเป็นบ่อย ควรหมั่นบริหารศีรษะ (Brandt-Daroff exercise) ทุกวัน

ความชุก
โรคนี้พบได้บ่อยในคนวัยกลางคนขึ้นไป และพบได้มากขึ้นตามอายุ พบน้อยในคนอายุต่ำกว่า ๓๕ ปี

โปรย
อาการบ้านหมุนมักกำเริบเป็นครั้งคราวเมื่อเคลื่อนไหวศีรษะในท่าที่ทำให้เกิดอาการ บางคนอาจเป็นเพียง ๑-๒ ครั้งก็เว้นห่างไป
      
ตั้งสติให้ดี นั่งหรือนอนนิ่งๆ ค่อยๆ หันศีรษะกลับมาอยู่ในที่สบาย เช่น ถ้าเป็นในท่าก้มหรือเงย หรือนอนตะแคง ให้หันศีรษะกลับมาอยู่ในท่าตรง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น