amazon
วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557
เนื้องอกสมอง
เนื้องอกสมอง หมายถึง เนื้องอกที่เกิดขึ้นภายในกะโหลกศีรษะ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ เนื้องอกที่มีต้นกำเนิดจากเนื้อเยื่อที่อยู่ภายในกะโหลกศีรษะ ( เรียกว่า เนื้องอกสมองชนิดปฐมภูมิ) และมะเร็ง ที่แพร่กระจายมาจากนอกกะโหลกศีรษะ (เรียกว่า เนื้องอกสมองชนิดทุติยภูมิ)
เนื้องอกสมองทุกชนิดมักทำให้เกิดอาการปวดศีรษะแบบเรื้อรัง ส่วนวิธีการรักษาและผลการรักษาย่อมแตกต่างไปตามชนิด ขนาด และตำแหน่งของเนื้องอก
โรคนี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
⇒ ชื่อภาษาไทย เนื้องอกสมอง
⇒ชื่อภาษาอังกฤษ Brain tumor
⇒สาเหตุ
เนื้องอกสมองชนิดปฐมภูมิ
มีต้นกำเนิดมาจากเนื้อเยื่อภายในกะโหลกศีรษะ อาจเป็นที่กระดูก (กะโหลกศีรษะ) เยื่อหุ้มสมอง หลอดเลือด เนื้อเยื่อสมอง ต่อมใต้สมอง หรือเนื้อเยื่อส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ อาจเป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา (ไม่มีการลุกลามแพร่กระจายออกไปที่อื่นๆ) หรือเนื้องอกชนิดร้าย หรือมะเร็งก็ได้ ในปัจจุบันยังไม่ทราบว่ามีสาเหตุจากอะไร เชื่อว่าอาจเกี่ยวกับปัจจัยทางกรรมพันธุ์ (เนื้องอกสมองบางชนิดพบว่าเป็นพร้อมกันหลายคนในครอบครัวเดียว กัน) และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น รังสี คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า สารเคมี เป็นต้น แต่ตราบเท่าทุกวันนี้ยังพิสูจน์ไม่ได้ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกันหรือไม่ อย่างไร
เนื้องอกสมองชนิดทุติยภูมิ
เป็นมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากนอกกะโหลกศีรษะ ที่พบบ่อยก็คือ มะเร็งเต้านมและมะเร็งปอด นอกจากนี้ ยังอาจแพร่มาจากมะเร็งทางเดินอาหาร ไต ต่อมไทรอยด์ เม็ดเลือดขาว ต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น เนื้องอกสมองชนิดนี้มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป บางครั้งผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการของเนื้องอกสมองมากกว่าอาการของมะเร็งที่เป็นต้นกำเนิด
⇒ อาการ
ผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง โดยมีลักษณะเฉพาะคือ ปวดมากเวลาตื่นนอนตอนเช้า พอสายๆ ค่อยยังชั่วหรืออาจปวดมากเวลาล้มตัวลงนอน หรือเวลาไอ จาม หรือเบ่งอุจจาระ
อาการปวดศีรษะจะรุนแรงขึ้นทุกวัน จนผู้ป่วยต้อง สะดุ้งตื่นตอนเช้ามืด เพราะอาการปวดศีรษะ และจะปวดนานขึ้นทุกทีจนในที่สุดจะปวดตลอดเวลาซึ่งกินยาแก้ปวดก็ไม่ทุเลา
ระยะต่อมา (เมื่อก้อนเนื้องอกโตขึ้น) จะมีอาการอาเจียนร่วมกับอาการปวดศีรษะ ซึ่งอาจมีลักษณะอาเจียนพุ่งรุนแรงโดยไม่มีอาการคลื่นไส้นำมาก่อน
นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการตามัวลงเรื่อยๆ ลานสายตาแคบ (มองด้านข้างไม่เห็น ทำให้เดินชนโต๊ะหรือเกิดอุบัติเหตุขณะเดินหรือขับรถ) เห็นภาพซ้อน หรือตาเหล่ ตากระตุก เห็นบ้านหมุน เดินเซ มือเท้าทำงานไม่ถนัด แขนขาชาหรืออ่อนแรง ชัก (คล้ายโรคลมชัก) ความจำเสื่อม หรือบุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
⇒ การแยกโรค
ระยะแรกเริ่ม ซึ่งมีอาการปวดศีรษะเพียงอย่าง เดียว อาจทำให้คิดว่าเป็นเพียงสาเหตุธรรมดา เช่น
o ปวดศีรษะจากความเครียด
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตื้อ หนักๆ ที่ขมับหรือหน้าผากทั้ง 2 ข้าง หรือทั่วศีรษะ ติดต่อกันนาน 30 นาที ถึง 1 สัปดาห์ โดยอาการปวดจะเป็นอย่าง คงที่ ไม่มีคลื่นไส้อาเจียน อาจเริ่มเป็นตั้งแต่หลังตื่นนอน หรือในช่วงเช้าๆ บางคนอาจปวดตอนบ่ายๆ หรือเย็นๆ หรือหลังจากได้คร่ำเคร่งกับงานมาก หรือขณะมีเรื่องคิดมาก วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ มักจะมีอาการเป็นๆ หายๆ เป็นครั้งคราว
oไมเกรนผู้ป่วยจะมีอาการปวดตุบๆ ที่ขมับข้างเดียว (ส่วนน้อยเป็นพร้อมกัน 2 ข้าง) คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่านาน 4-72 ชั่วโมง มักจะเป็นๆ หายๆ เมื่อถูกสิ่งกระตุ้น เช่น แสง เสียง กลิ่น อดนอน หิวข้าว อากาศร้อนหรือเย็นจัด อาหารบางชนิด เป็นต้น
ระยะที่เป็นมาก คือมีอาการปวดรุนแรง อาเจียน เดินเซหรือชัก อาจต้องแยกจากสาเหตุที่ร้ายแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือฝีในสมอง (มักมีไข้ร่วมด้วย และเกิดขึ้นฉับพลันภายในไม่กี่วัน) เลือดออกในสมอง (มักมีประวัติได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะในระยะใกล้ๆ หรือนานเป็นเดือนๆ มาแล้วก็ได้)
⇒ การวินิจฉัยเบื้องต้น
แพทย์จะสงสัยโรคนี้จากอาการแสดงคือ ปวดศีรษะเฉพาะเวลาตื่นนอนตอนเช้า ซึ่งแรงขึ้นและนานขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวัน นานเป็นสัปดาห์ หรือมีอาการอาเจียน เห็นภาพซ้อน ตามัว หูอื้อ แขนขาชาหรืออ่อนแรง หรือชัก ร่วมด้วย
หากสงสัย จำเป็นต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์กะโหลกศีรษะ ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ตรวจคลื่นสมอง ตรวจชิ้นเนื้อสมอง เป็นต้น
⇒ การดูแลตนเอง
ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ถ้าหากมีอาการปวดศีรษะตอนเช้าๆ แรงและนานขึ้นทุกวัน นานเป็นสัปดาห์ หรือกินยาแก้ปวดไม่ทุเลา ก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาแต่เนิ่นๆ
⇒ การรักษา
เมื่อตรวจพบว่าเป็นเนื้องอกสมอง มักจะต้องรักษา ด้วยการผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออกไป ยกเว้นอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือเป็นมะเร็งที่ลุกลามมากแล้วก็อาจต้องรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แทน เช่น การผ่าตัดด้วยรังสีหรือมีดแกมมา (gamma knife)
ในรายที่เป็นมะเร็ง อาจต้องรักษาด้วยรังสีบำบัด (ฉายรังสี) ซึ่งอาจใช้เดี่ยวๆ หรือร่วมกับการผ่าตัดและบางกรณีอาจต้องใช้เคมีบำบัดร่วมด้วย
ในรายที่มีภาวะอุดกั้นของทางเดินน้ำหล่อสมองไขสันหลัง อาจต้องทำการผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำหล่อสมองไขสันหลัง (shunt operation)
⇒ ภาวะแทรกซ้อน
อาจมีเลือดออกเฉียบพลันในก้อนเนื้องอกสมอง ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรง หมดสติ แขนขาเป็นอัมพาตซีกหนึ่ง
ถ้าเป็นเนื้องอกที่อยู่ใกล้โพรงสมอง อาจโตจนอุดกั้นทางเดินน้ำหล่อสมองไขสันหลัง เกิดภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง (มีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน เดินเซ เป็นลม) และภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (hydrocephalus) ซึ่งถ้าเกิดขึ้นฉับพลันรุนแรงก็อาจทำให้เสียชีวิตแบบกะทันหันได้
⇒ การดำเนินโรค
หากปล่อยไว้ไม่รักษา ก้อนเนื้องอกจะโตขึ้นกดเบียดเนื้อสมองหรือแพร่กระจาย ทำให้เกิดภาวะแทรก ซ้อนอันตรายได้
ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา ผลการรักษาขึ้นกับชนิด ขนาดและตำแหน่งของเนื้องอก อายุและสภาพของผู้ป่วย
ถ้าเป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา ขนาดเล็กและอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เป็นอันตราย การรักษาก็มักจะได้ผลดีหรือหายขาด
แต่ถ้าเป็นมะเร็งที่ลุกลามเร็ว หรือมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากที่อื่น ก็มักจะให้การรักษาแบบประทัง เพื่อลดความทุกข์ทรมาน ซึ่งส่วนใหญ่มักมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน
⇒ การป้องกัน
สำหรับเนื้องอกสมองชนิดปฐมภูมิยังไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร จึงยังบอกไม่ได้ว่าควรป้องกันอย่างไร
ส่วนเนื้องอกสมองชนิดทุติยภูมิ ถ้าเกิดจากมะเร็งปอด ก็ควรป้องกันโดยการไม่สูบบุหรี่
⇒ ความชุกโรค
นี้พบได้ในคนทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึง ผู้สูงอายุ ส่วนกลุ่มอายุที่พบบ่อยขึ้นกับเนื้องอกสมองแต่ละชนิด กล่าวโดยรวม โรคนี้พบได้บ่อยในกลุ่มอายุ 40-70 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากที่อื่น (เนื้องอกสมองชนิดทุติยภูมิ)
ส่วนในเด็ก พบมากในกลุ่มอายุ 3-12 ขวบ ซึ่งส่วน ใหญ่เป็นเนื้องอกสมองชนิดปฐมภูมิ เนื้องอกสมองเป็นเนื้องอกที่พบได้มากที่สุดในบรรดาเนื้องอกที่พบในเด็ก
โรคนี้มักมีอาการปวดศีรษะเป็นสำคัญ พบว่า ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะ 100,000คน มีสาเหตุจากเนื้องอกสมองประมาณ 10 คน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น