amazon

วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557

โรคเรื้อรัง... สะเก็ดเงิน



โรคสะเก็ดเงินคืออะไร
สะเก็ดเงิน (psoriasis) เป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อย เป็นได้ทุกเพศทุกวัย พบราวร้อยละ ๒ ของประชากรทั่วไป อาจมีปัจจัยทางพันธุกรรมมาเกี่ยวข้องเพราะมักพบประวัติครอบครัว
โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ และไม่ได้เกิดจากภูมิแพ้
โรคนี้มักเริ่มเป็นในช่วงวัยรุ่นตอนปลายและช่วงอายุ ๔๐-๕๐ ปี เพศหญิงและชายพบได้เท่าๆ กัน
โรคนี้อาจเป็นน้อยจนผู้ป่วยเองอาจไม่สังเกตเห็น แต่บางรายเป็นมากจนถึงขั้นต้องเข้านอนโรงพยาบาล และอาจมีอาการคันร่วมด้วยหรือไม่มีก็ได้
ร้อยละ ๕ ของผู้ป่วยสะเก็ดเงินจะมีอาการปวดข้อ และข้ออักเสบร่วมด้วย

ลักษณะของโรคสะเก็ดเงิน
โรคสะเก็ดเงินของผิวหนังมีลักษณะเป็นปื้นนูนแดง มีขุยหนาสีขาวเงิน ขอบเขตของผื่นสังเกตเห็นชัดเจน มักเป็นผื่นทั้ง ๒ ข้างของร่างกายเท่าๆ กัน (ภาพที่ ๑) ถ้าเป็นที่บริเวณซอกพับ (เช่น รักแร้ ขาหนีบ) อาจไม่ค่อยเป็นขุย
ตำแหน่งที่พบผื่นของโรคสะเก็ดเงินบ่อยคือ ข้อศอก หัวเข่า บางรายเป็นที่สะดือ ร่องก้น หรือหนังศีรษะ แต่ก็อาจเป็นที่ตำแหน่งอื่นๆ ของร่างกายโดยมีลักษณะที่ต่างกันออก                                                                                 
สามารถแบ่งโรคสะเก็ดเงินตามลักษณะอาการแสดงดังนี้คือ                                                                                       
  • โรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นหนาเป็นเรื้อรัง พบบ่อยที่ข้อศอก หัวเข่า หรือหลังส่วนล่าง                                          
  •  โรคสะเก็ดเงินที่ซอกพับ ปื้นมักเรียบไม่มีขุย                                                                                        
  • โรคสะเก็ดเงินบริเวณหนังศีรษะ                                                                                                                                  
  • โรคสะเก็ดเงินรูปหยดน้ำ เป็นผื่นเล็กๆ จำนวนมากคล้ายหยดน้ำ มักกำเริบขึ้นรวดเร็ว                                                                   
  • โรคสะเก็ดเงินที่คาบเกี่ยวกับโรคเซ็บเดิร์ม (sebopsoriasis) มักเป็นที่หนังศีรษะ ใบหน้า หู และหน้าอก                                                                                                    
  • โรคสะเก็ดเงินของฝ่ามือ ฝ่าเท้า                                                                                                                     
  • โรคสะเก็ดเงินของเล็บ เล็บจะมีหลุมเล็กๆ เล็บร่อนเผยอ เล็บเหลือง เล็บเป็นลูกคลื่น (ภาพที่ ๒)
  • โรคสะเก็ดเงินของช่องปาก มีขุยลอกในปาก ผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินของผิวหนังอย่างรุนแรงมักพบบ่อย                                                                                                                                                            
  • โรคสะเก็ดเงินชนิดเป็นตุ่มหนอง อาจเป็นทั่วร่างกาย หรือเป็นเฉพาะที่ฝ่ามือฝ่าเท้า                                                 
  • โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นแดง พบผื่นแดงทั่วตัว                                                                                                       
  • โรคสะเก็ดเงินที่ข้อ มีอาการปวดบวมของข้อร่วมด้วย

รู้จักโรคสะเก็ดเงิน
๑. หลังจากผื่นสะเก็ดเงินที่ผิวหนังหาย อาจมีรอยด่างดำ ด่างขาว ซึ่งจะค่อยๆ จางหายไป และโรคนี้ไม่ทำให้เกิดแผลเป็นที่ผิวหนัง  
๒. สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยที่อาจเกี่ยวข้องคือ                                                                               
• พันธุกรรม ประมาณร้อยละ ๕๐ ของผู้ป่วยอาจมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้เช่นกัน                                                           
• พบว่าความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจอาจกระตุ้นให้สะเก็ดเงินกำเริบ                                                                                
• การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น สเตร็ป (ต่อมทอนซิลอักเสบ) อาจกระตุ้นให้เกิดโรคสะเก็ดเงินรูปหยดน้ำ การติดเชื้อยีสต์อาจทำให้เกิดโรคสะเก็ดเงินชนิดเป็นที่ซอกพับ การติดเชื้อเกลื้อนอาจก่อโรคสะเก็ดเงินชนิดที่คาบเกี่ยวกับโรคเซ็บเดิร์มที่หนังศีรษะ                                                                                                                                          
• การบาดเจ็บสัมผัสเสียดสีที่ผิวหนัง เช่น นุ่งกางเกงคับๆ อาจมีส่วนทำให้เป็นปื้นขึ้นมา
• มียาหลายตัวที่อาจกระตุ้นโรคสะเก็ดเงิน เช่น ยาต้านอาการซึมเศร้า (lithium) ยาลดความดันโลหิต (beta blockers) ยาต้านมาลาเรีย (hydroxychloroquine) ยาแก้ปวดประเภทที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (nonsteroidal anti-inflammatory drugs หรือเรียกย่อว่า NSAIDs) นอกจากนั้น ถ้ามีการใช้สตีรอยด์ทั้งในรูปยาทายากินอยู่ก่อนแล้ว การหยุดยาอาจทำให้ผื่นกำเริบ
๓. โดยทั่วไปรังสียูวีในแสงแดดมักทำให้อาการดีขึ้น
๔. พบว่าโรคอ้วน และภาวะดื้อต่ออินซูลินที่นอกจากจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานแล้ว ยังอาจมีส่วนทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบขึ้น
    ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินหลายคนเป็นคนอ้วนหรือเป็นโรคอ้วน โรคสะเก็ดเงินยังเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดแข็งตัว (atherosclerosis) ที่อาจนำไปสู่อาการเจ็บหน้าอก และกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหลอดเลือดในสมองแตก
๕. การดื่มแอลกอฮอล์สัมพันธ์กับการเกิดโรคสะเก็ดเงินชนิดที่กำเริบมาก ดังนั้น ผู้ป่วยโรคนี้ควรงดดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
๖. ปัจจุบันยังไม่มีทางรักษาโรคนี้ให้หายขาดและไม่กลับเป็นซ้ำได้ แต่ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็อาจทำให้อาการของโรคบรรเทาลงได้มาก อย่างไรก็ตาม โรคสะเก็ดเงินรูปหยดน้ำอาจมีการกำเริบแค่ครั้งเดียว และไม่กลับเป็นอีกเลยก็ได้  
ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินควรทำใจให้ยอมรับสภาพของโรคนี้ รับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ควรเชื่อว่ามียาหรือมีสมุนไพรใดๆ ที่วิเศษพอที่จะรักษาโรคนี้ให้หายขาดตลอดชีวิตได้ และควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคนี้โดยไม่วิตกกังวลจนเกินควร เพราะความเครียดก็อาจมีส่วนกระตุ้นให้โรคนี้กำเริบขึ้นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น